อาชีพ ‘นักลงทุน’ by ธันวา เลาหศิริวงศ์-thaivi

กระทู้สนทนา
อาชีพ ‘นักลงทุน’
Posted by ธันวา เลาหศิริวงศ์-thaivi

“สวัสดีครับคุณ… ได้ข่าวว่าตอนนี้ลาออกมา‘เล่นหุ้น’อย่างเดียวเหรอครับ?”เป็นคำทักทายจากคนรู้จักหรือจากเพื่อนที่ไม่ค่อยได้พบกันบ่อยนักในระยะหลังนี้ ผมมักจะหยุดนิ่งชั่วครู่ก่อนที่จะตอบคำถามอย่างกระชับที่สุดเพื่อให้คู่สนทนาที่เคยมีความสัมพันธ์ทั้งที่เป็นลูกค้า เป็นเพื่อนร่วมวงการธุรกิจ หรือเป็นเพื่อนเก่า ได้รับข้อมูลที่ผมต้องการสื่อสารอย่างครบถ้วน
“ตอนนี้ไม่ได้ทำงานประจำแต่เป็นกรรมการอิสระและกรรมการตรวจสอบของบริษัทมหาชนสามแห่งและเป็นนักลงทุนเน้นคุณค่า (Value Investor)ครับ”คือคำตอบที่ผมมักใช้เสมอ ทั้งนี้เพราะผมมีความรู้สึกที่ดีมากๆ ที่ยังได้มีโอกาสใช้ความรู้และประสบการณ์ทำงานที่ผ่านมาทำหน้าที่เป็นกรรมการอิสระและกรรมการตรวจสอบนอกจากนี้ ผมยังต้องการใช้เวลาที่เหลือขยายความการเป็น ‘นักลงทุนเน้นคุณค่า’ อีกด้วยผมมักหลีกเลี่ยงคำว่า ‘เล่นหุ้น’ เพราะเป็นคำที่มีความหมายกว้างครอบคลุมทุกแนวทางการลงทุนส่วนคำว่า ‘นักลงทุนเน้นคุณค่า’จะมีความหมายเจาะจงและเน้นการลงทุนระยะยาวตรงกับแนวทางการลงทุนของผมมากกว่านั่นเอง
หากไม่นับรวมการเป็นพนักงานประจำของหน่วยงานภาครัฐและบริษัทเอกชนที่ได้รับผลตอบแทนแน่นอนในรูปของเงินเดือนแล้ว คนวัยทำงานที่เหลือคงจะเข้าข่ายที่เรียกว่ามี‘อาชีพอิสระ’ทั้งสิ้น ผู้ประกอบอาชีพอิสระต้องมีความรู้ความชำนาญ ความสามารถเฉพาะด้านเพื่อให้ได้มาซึ่งรายได้ที่มักไม่คงที่แน่นอน ผู้มีอาชีพอิสระจึงจำเป็นต้องกันเงินส่วนที่เหลือจากการใช้จ่ายประจำวันไว้เพื่อเป็นเงินสะสมสำรองในยามที่รายได้เกิดขึ้นไม่เพียงพออีกด้วย
นักธุรกิจซื้อขายที่ดิน เป็นอาชีพอิสระที่ต้องใช้เงินลงทุนหมุนเวียนสูง ต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญในการประเมินศักยภาพ ทำเลที่ตั้งของที่ดินและราคาที่เหมาะสม ผู้ประสบความสำเร็จมักได้กำไรงามจากส่วนต่างราคาขายที่สูงขึ้นเทียบกับระยะเวลาถือครอง หากเป็นผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์จำเป็นต้องมีความชำนาญในการสร้างมูลค่าเพิ่มจากที่ดินเปล่าเพื่อผลตอบแทนที่สูงขึ้น
ผู้ประกอบอาชีพซื้อขายของเก่าเช่าพระ แสตมป์ นาฬิกา เหรียญและธนบัตร ล้วนต้องมีความรู้เชิงลึกเกี่ยวกับสิ่งนั้นเพื่อได้กำไรจากส่วนต่างราคาซื้อเข้าและขายออกให้เหมาะสมกับดีมานด์และซัพพลาย ส่วนผู้ประกอบการร้านค้าทุกชนิด ร้านอาหาร สถานบริการ หรือผู้รับจ้างทั่วไป ล้วนเป็นอาชีพอิสระที่ต้องพึ่งรายได้และกำไรจากการสร้างมูลค่าเพิ่มในสินค้าและบริการของตน
‘นักลงทุนเน้นคุณค่า’เป็นอาชีพอิสระอย่างหนึ่งที่ต้องมีความสามารถใน ‘การประเมินมูลค่ากิจการ’ของบริษัทจดทะเบียนที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ว่าควรมีช่วงราคาเหมาะสมเท่าใดและพร้อมเข้าลงทุนหากมีผู้เสนอขายกิจการในราคาที่ต่ำกว่าช่วงราคาดังกล่าวหรืออีกนัยหนึ่งคือ เสนอขาย ณ ราคาที่มีส่วนต่างความปลอดภัย (Margin of Safety)นักลงทุนเน้นคุณค่าอาจเลือกที่จะขายหุ้นเพื่อทำกำไรจากส่วนต่างราคาหากเห็นว่าราคาหุ้นขึ้นสูงเกินปัจจัยพื้นฐานของกิจการ หรือเลือกถือหุ้นนั้นต่อโดยหวังว่าทั้งราคาหุ้นและความมั่งคั่งของตนจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากยังเชื่อมั่นว่า เป็นกิจการที่แข็งแกร่งและมีศักยภาพเติบโตต่อเนื่องในระยะยาว โดยยินดีที่รับผลตอบแทนในรูปเงินปันผลตลอดระยะเวลาที่ถือครองนั่นเอง
เมื่อครั้งยังทำงานประจำ ผมมีโอกาสร่วมเสวนากับคุณตัน ภาสกรนที ในงานสัมมนา “CEO สัญจร” จัดโดยหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ที่จังหวัดเชียงใหม่ คุณตันเปรียบเทียบชีวิตคนกับเข็มนาฬิกากล่าวคือ ในช่วงต้นของวัยทำงานเป็นช่วงเรียนรู้ จึงมักต้องทำงานแทบทุกชนิดอย่างหนักแทบไม่มีเวลาพักผ่อนเช่นเดียวกับเข็มวินาทีที่ต้องวิ่ง(ทำงาน) อยู่เสมอเมื่อเป็นหัวหน้าหรือเป็นผู้จัดการแม้อาจจะเหนื่อยกายน้อยลงแต่ความรับผิดชอบและความสำคัญของงานเพิ่มขึ้นตามลำดับเปรียบเสมือนการทำงานของเข็มยาว การเป็นซีอีโอหรือเจ้าของธุรกิจนั้น เป็นงานที่ต้องมีวิสัยทัศน์ ต้องตัดสินใจกลยุทธ์ธุรกิจสำคัญได้อย่างถูกต้องเปรียบเสมือนเข็มสั้นที่แม้เดินเพียงครั้งเดียวในหนึ่งชั่วโมงแต่หากผิดพลาดจะเกิดความเสียหายมากในฐานะที่เคยมีบทบาททั้งเข็มวินาที เข็มยาว และเข็มสั้น ผมยืนยันว่าเข็มทุกเข็มนั้น ล้วนเป็นองค์ประกอบสำคัญในการทำงานให้สำเร็จลุล่วงตามเป้าหมาย ทุกบทบาทล้วนให้โอกาสเราได้เรียนรู้แนวคิด มุมมองและประสบการณ์ที่ดีแตกต่างกันไป ซึ่งสามารถนำมาประยุกต์ใช้ประกอบการตัดสินใจในการลงทุนแบบเน้นคุณค่าได้อย่างดีอีกด้วย
ผลตอบแทนที่ดีจากตลาดหุ้นในหลายปีที่ผ่านมา ทำให้นักลงทุนส่วนหนึ่งหันมายึดอาชีพ ‘นักลงทุน’ด้วยการเป็นนักลงทุนเต็มเวลา สำหรับผู้ที่ยังทำงานประจำหรือผู้เพิ่งสำเร็จการศึกษาที่กำลังพิจารณาตัดสินใจเรื่องนี้ต้องพึงระลึกไว้เสมอว่า หนึ่ง การลงทุนมีความเสี่ยงและผลตอบแทนจากการลงทุนนั้นไม่แน่นอนหนทางข้างหน้าอาจไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบเสมอไป สองแม้ต้องขยันและทุ่มเทเพื่อความก้าวหน้า แต่การทำงานนั้นทำให้เราได้แสดงศักยภาพของตนโดยใช้วิชาความรู้ที่เรียนมาในทางปฏิบัติ สามสังคมทำงานทำให้มีเพื่อนร่วมงาน ต้องติดต่อกับผู้คนต่างเพศ ต่างวัยและได้แลกเปลี่ยนแนวคิด มุมมองที่หลากหลายและสี่ประเทศไทยยังต้องการทรัพยากรบุคคลวัยทำงานคุณภาพเพื่อการพัฒนาและเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของประเทศในระยะยาว
แม้การตัดสินใจในบางครั้งอาจไม่มีทางเลือกมากนักดังคำกล่าวที่ว่า Sometimes life leaves us two final choices: “Yes or No”, “Now or Never” & Take it or leave it” – choose wisely. แต่การตัดสินใจยึดอาชีพ ‘นักลงทุน’เป็นเรื่องใหญ่และสำคัญที่ทุกคนต้องพิจารณาอย่างรอบคอบนักลงทุนทุกคนจึงต้องไม่ลืมข้อคิดเตือนใจอมตะที่ว่า “จงเปลี่ยนแปลงเมื่อพร้อม”เช่นกัน

https://www.facebook.com/#!/pages/%E0%B8%9B%E0%B8%A5%E0%B8%B9%E0%B8%81%E0%B8%AB%E0%B8%B8%E0%B9%89%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B8%9C%E0%B8%A5/198068607020376

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่