“พระอนิลมาน” แนะคนไทยลด “โลภะ” สู่หนทางดับทุกข์ -ชี้ “เงิน” ซื้อบุญ(สวรรค์)ไม่ได้! ตอนที่ 1

พระศากยวงศ์วิสุทธิ์ชี้ “มหานิกาย-ธรรมยุติ” อยู่ร่วมกันได้ ยึดศีล 227 ข้อเหมือนกัน ยุคสมเด็จพระญาณสังวรฯ ประสานลงตัวไร้ปัญหา เผยจุดอ่อนพุทธศาสนาคือการตีความด้านหลักธรรม จนเกิดนิกายต่างๆ มากมาย ระบุศาสนาพุทธอยู่ท่ามกลางยุคทุนนิยม  แนะแนวทางปฏิบัติภาคประชาชนสร้างกรอบชีวิตพิจารณาตัวเอง รู้จักปล่อยวาง ลด “โลภะ” แค่นี้ก็ไร้ทุกข์ ขึ้นสวรรค์โดยไม่ต้องใช้เงินซื้อบุญและสร้างหนทางสู่นิพพานได้ด้วย!

                แม้ว่าประเทศไทยจะมีศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศนับถือศาสนาพุทธ แต่ภายใต้ศาสนาพุทธของเมืองไทยยังแยกออกเป็น2 นิกายใหญ่คือมหานิกายและธรรมยุติกนิกาย ทั้ง 2 นิกายต่างก็ได้รับโอกาสให้ขึ้นมาดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช ประมุขของพระสงฆ์
      
       หลังจากการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก จากนี้ไปขั้นตอนในการสรรหาและแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ใหม่ จึงเป็นไปตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 (แก้ไข 2535)
      
       ทีม Special Scoop เอเอสทีวีผู้จัดการรายวัน มีโอกาสสัมภาษณ์พระศากยวงศ์วิสุทธิ์ (อนิลมาน ธมฺมสากิโย) ผู้ช่วยเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช วัดบวรนิเวศวิหาร ราชวรวิหาร ถึงในยุคสมัยที่สมเด็จพระญาณสังวรทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชว่า สิ่งที่สมเด็จพระสังฆราชเป็นอยู่นั้นอาจจะเป็นพระพิเศษ หรือผู้นำที่พิเศษ พระองค์ท่านเป็นทั้งมหานิกายและธรรมยุติ เดิมท่านบวชเป็นมหานิกาย วัดเทวสังฆาราม บวชได้ 1 พรรษา หลังจากนั้นกลับมาบวชเป็นธรรมยุติ จึงแตกต่างกับพระทั่วๆ ไปในประเทศไทย พระในระดับนี้จะไม่มีแบบพระองค์ท่าน
      
       ดังนั้นในเรื่องการแบ่งแยกนิกาย สมเด็จฯ มีความสุขุม แยบยลและเป็นที่เคารพของทั้ง 2 นิกายโดยที่ไม่มีข้อติ ที่เห็นได้ชัดเจนคือ ตอนที่ได้รับสถาปนาเมื่อปี 2532 ตอนนั้นผู้ที่อาวุโสกว่า คือสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ วัดสามพระยา แล้วยังมีสมเด็จพระพุทธาจารย์ วัดมหาธาตุ ทั้ง 2 พระองค์เป็นมหานิกาย แต่ทั้ง 2 พระองค์ ขอถอนตัว ขอเสียสละ และบอกว่าควรถวายสมเด็จพระญาณสังวรเป็นสมเด็จพระสังฆราช

       สมเด็จฯ รู้สึกเป็นหนี้บุญคุณกับพระมหานิกายตลอดเวลา ท่านเคยรับสั่งเป็นส่วนตัวกับอาตมาว่า “ท่านได้เป็นสมเด็จพระสังฆราชเพราะพระทั้ง 2 พระองค์นี้ ท่านก็ยังไปกราบทั้ง 2องค์นี้เมื่อมีโอกาส แม้เป็นสมเด็จสังฆราชแล้ว ไม่มีคำว่าแบ่งแยกเป็นนิกาย”



อ้างอิง

http://www.manager.co.th/Home/ViewNews.aspx?NewsID=9560000141584
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่