"บิ๊กตู่" ขุนศึกรัตนโกสินทร์ เมื่อศึกนอกหนักหนา ศึกในแสนใหญ่หลวง แนวรบพระวิหาร ถึงสมรภูมิราชดำเนิน

http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1385097029&grpid=01&catid=&subcatid=



รายงานพิเศษ


ต้องยอมรับว่าก่อนที่ศาลโลกจะตัดสินคดีการตีความพื้นที่โดยรอบปราสาทพระวิหาร 11 พฤศจิกายน 2556 อันเป็นวันเดียวกับที่ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำพรรคประชาธิปัตย์ ประกาศเป็นวันแตกหัก การต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่มีเป้าหมายในการล้มรัฐบาล จนเชื่อกันว่า 11/11 จะเป็นวันชี้ชะตาประเทศไทย นั้น

ส่งผลให้บิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ต้องนอนก่ายหน้าผากและถึงขั้นเอ่ยปากว่า "ศึกนอกครานี้ก็มาก ศึกในก็ใหญ่หลวงนัก"

เพราะหากศาลโลกตัดสินให้ไทยพ่ายแพ้ ต้องเสียดินแดน ไม่ว่ามากแบบที่เรียกว่า ทั้งยวง 4.6 ตร.ก.ม. หรือว่าแค่บางส่วน ก็จะเป็นการเติมเชื้อไฟให้ม็อบราชดำเนิน เมื่อนั้นทหารก็วางตัวลำบาก เพราะไม่อยากถอนทหารอยู่แล้ว แถมทั้งมีบรรยากาศที่เชื้อเชิญให้ทหารก่อการรัฐประหาร จากความวุ่นวายที่รออยู่ จากการรวมตัวกันของม็อบเสื้อแดงปกป้องรัฐบาล ที่อาจจะปะทะกับม็อบราชดำเนิน ที่มีพรรคประชาธิปัตย์ เป็นแกนนำ

แต่ที่สุด ศาลโลก ที่ได้ถอดสลักระเบิดเวลาการเมืองของประเทศไทย อย่างผิดคาด จากที่เชื่อกันว่าไทยจะเป็นฝ่ายเสียเปรียบ และพ่ายแพ้อย่างราบคาบ ก็กลับกลายเป็นเปิดช่องให้ทั้งไทยและกัมพูชาได้หายใจ

เมื่อไม่ได้ระบุว่า พื้นที่ปัญหา 4.6 ตร.ก.ม. และภูมะเขือ หรือที่เขมรเรียกว่า "พนมตร้วบ" นั้น ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ที่เป็นอาณาบริเวณ หรือ Vicinity ของปราสาทพระวิหาร ก็ทำให้ทั้งรัฐบาลและกองทัพ ถอนหายใจไปได้เปลาะหนึ่ง

แต่ทว่าการไม่เสียภูมะเขือ และพื้นที่ 4.6 ตร.ก.ม. ไปนั้น ก็ไม่ได้หมายความว่าไทยเราจะได้เป็นเจ้าของพื้นที่เหล่านี้ แต่หมายถึงการที่ต้องไปตกลงกันเองของรัฐบาลไทยและกัมพูชา ซึ่งหมายถึงการปักปันเขตแดน ที่ต้องอาศัยความสัมพันธ์อันดีระหว่าง 2 ประเทศ ในการผลักดันให้เดินหน้าไปโดยเร็ว

ดังนั้น ในระหว่างที่รอการพูดคุยตกลงกัน ซึ่งไม่รู้ว่าจะใช้เวลานานกี่เดือนหรือกี่ปีนั้น ทหารไทยและกัมพูชา ก็มีข้อตกลงในการวางกำลังทหารอยู่ที่เดิม ใครอยู่ตรงไหนก็อยู่ตรงนั้น นั่นหมายถึงการอยู่ร่วมกันในพื้นที่ปัญหานั้นต่อไป

แต่การที่ ศาลโลก ระบุว่ากัมพูชามีอำนาจอธิปไตยเหนือปราสาทพระวิหาร และพื้นที่โดยรอบ ซึ่งเป็นพื้นที่แคบๆ เล็กมาก ที่ทหารไทยมีพันธกรณีที่จะต้องถอนทหารนั้น กำลังเป็นประเด็นที่ทหารไทยกำลังวิตกกังวลว่าจะครอบคลุมพื้นที่ใดบ้าง

เพราะนั่นอาจถูกตีความว่าหมายถึง การเสียดินแดน และการต้องถอนทหารไทยออกมา ที่อาจจะถูกนำไปใช้ปลุกกระแสและหวังผลในทางการเมือง

ด้วยเพราะกองกำลังสุรนารี ได้มีการประเมินในเบื้องต้นว่าอาจจะหมายรวมถึง วัดแก้วสิขาคีรีสวารา และตลาดชุมชน ไล่ลงมาถึงพื้นที่ด้านล่างชะง่อนผา ในบริเวณฐาน ตชด. เก่า และลำห้วยตานี ที่รวมถึงทางขึ้นปราสาทและวัดแก้วฯ

โดยมีการประมาณการกันว่า อาจราว 40-50 ไร่ ที่หากเปรียบเทียบกับการเสียพื้นที่ 4.6 ตร.ก.ม. แล้ว จึงถือว่าน้อยนิด เมื่อแลกความสงบเรียบร้อย

แต่ทว่าหากถูกนำไปใช้ปลุกกระแสม็อบแล้ว ย่อมถือว่ามากมาย เพราะยิ่งฝ่ายทหารลั่นวาจาไว้ว่า จะไม่ยอมเสียดินแดน แม้แต่ตารางนิ้วเดียว

"ไม่มีใครประกาศ ว่าใครเสียตรงไหน อย่างไร ศาลยังไม่ได้ประกาศอะไรทั้งนั้น อย่าเพิ่งด่วนสรุป ขอให้มั่นใจว่าทหารอยู่ในพื้นที่อธิปไตยของไทยตลอดเวลา ยังไม่มีการถอนทหาร ไม่ว่าจุดไหนทั้งสิ้น" พล.อ.ประยุทธ์ ยืนยัน

ส่วนพื้นที่เล็กๆ แคบๆ ที่ต้องกำหนดให้เป็นบริเวณโดยรอบปราสาทนั้น ก็ต้องไปหามาว่า อยู่ตรงไหน และจะทำอย่างไรก็ไปว่ากัน อย่าเพิ่งไปพูดว่า เป็นของใคร เพราะศาลไม่ได้บอกชัดเจนว่า ตรงไหน อย่างไร ศาลก็ไม่ได้สั่งให้ถอนทหาร

ที่สำคัญ ทั้งก่อนและหลังการตัดสินของศาลโลกนั้น กองกำลังสุรนารี กองทัพภาค 2 ได้เน้นเรื่องการพบปะกันของ ผบ.หน่วยทหารไทย-กัมพูชา ในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับแม่ทัพภาค 2 ที่บิ๊กติ๊ก พล.ท.ชาญชัย ภู่ทอง ได้พบกับ 3 แม่ทัพใหญ่ของเขมร ทั้ง พล.อ.เจีย มอน ผบ.ภูมิภาคทหารที่ 4 พล.อ.สรัย ดึ้ก ผบ.พล.สนับสนุนที่ 3 พล.อ.กวน ที ผบ.ยุทธบริเวณที่ 3 ที่คุมกำลังรบตลอดแนวของกัมพูชา

รวมถึงบิ๊กแบล็ค พล.ต.ธรากร ธรรมวินทร ผบ.พล.ร.6 และ ผบ.กองกำลังสุรนารี ก็บุกไปคุยกับ พล.อ.สรัย ดึ้ก ในพื้นที่ปัญหา ในวันแรกหลังการตัดสินของศาลโลก เพื่อย้ำข้อตกลงที่จะวางกำลังทหารไว้ตามเดิม

พร้อมกับคำสั่งให้ ผบ.หน่วยทหารไทย-กัมพูชา ที่อยู่ฐานใกล้กัน ให้พบปะพูดคุยกันทุกวัน รวมทั้งมีการติดต่อสื่อสารผ่านโทรศัพท์มือถือ เพื่อแก้ปัญหากรณีเกิดความเข้าใจผิดกันขึ้น และมีการทานอาหารร่วมกันในพื้นที่ที่จะเป็นการสะท้อนภาพที่ดีของทหารไทย-กัมพูชา ให้ชาวโลกได้เห็นว่าอยู่ร่วมกันได้

ในระหว่างที่รอการพูดคุยเจรจาของระดับรัฐบาล ที่ทั้ง สมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ก็ออกแถลงการณ์ ยอมรับคำพิพากษาและกำชับให้ทหารอดทน ไม่สร้างความหวาดระแวงต่อกัน

แต่นี่ก็เป็นเพียงแค่การประเมินเท่านั้น เพราะทั้งหมดต้องขึ้นอยู่กับการหารือกันของคณะกรรมาธิการร่วมไทย-กัมพูชา หรือ JC - Joint Commission แต่ขั้นตอนกว่าจะเจรจาตกลง และนำไปสู่การถอนทหารของทั้งสองฝ่าย อาจกินเวลาเป็นปีหรือหลายปี

อีกทั้งอาจต้องมีการยอมได้และยอมเสีย โดยให้ทหารเขมรถอนจากภูมะเขือ ส่วนทหารไทยก็ถอนออกจากพื้นที่อาณาบริเวณปราสาท หรือพื้นที่เล็กๆ แคบๆ นั่น

แต่ที่สำคัญยิ่งกว่า การที่ไทยจะถอนทหารได้ ก็ต้องผ่านการพิจารณาของสภาฯ ตามมาตรา 190 เสียก่อน ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์ ย่อมไม่ยอมง่ายๆ เมื่อนั้นอาจจะกลายเป็นปัญหาอีกครั้ง

แต่ศึกนอกนี้ก็ได้กลายเป็นปัญหาในอนาคต ที่ยังพอซื้อเวลากันไปได้...

แต่ทว่าศึกในนี่ช่างใหญ่หลวงหนัก
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่