กาลามสูตร

กระทู้สนทนา
กาลามสูตร คือ พระสูตรที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่ชาวกาลามะ หมู่บ้านเกสปุตตนิคม แคว้นโกศล (เรียกอีกอย่างว่า เกสปุตตสูตร ก็มี[1]) กาลามสูตรเป็นหลักแห่งความเชื่อที่พระพุทธองค์ทรงวางไว้ให้แก่พุทธศาสนิกชน ไม่ให้เชื่อสิ่งใด ๆ อย่างงมงายโดยไม่ใช้ปัญญาพิจารณาให้เห็นจริงถึงคุณโทษหรือดีไม่ดีก่อนเชื่อ มีอยู่ 10 ประการ ได้แก่

1.มา อนุสฺสวเนน - อย่าเพิ่งเชื่อโดยฟังตามกันมา
2.มา ปรมฺปราย - อย่าเพิ่งเชื่อโดยถือว่าเป็นของเก่าเล่าสืบๆ กันมา
3.มา อิติกิราย - อย่าเพิ่งเชื่อเพราะข่าวเล่าลือ
4.มา ปิฏกสมฺปทาเนน - อย่าเพิ่งเชื่อโดยอ้างคัมภีร์หรือตำรา
5.มา ตกฺกเหตุ - อย่าเพิ่งเชื่อโดยคิดเดาเอาเอง
6.มา นยเหตุ - อย่าเพิ่งเชื่อโดยคิดคาดคะเนอนุมานเอา
7.มา อาการปริวิตกฺเกน - อย่าเพิ่งเชื่อโดยตรึกเอาตามอาการที่ปรากฏ
8.มา ทิฎฐินิชฺฌานกฺขนฺติยา - อย่าเพิ่งเชื่อเพราะเห็นว่าต้องกับความเห็นของตน
9.มา ภพฺพรูปตา - อย่าเพิ่งเชื่อว่าผู้พูดควรเชื่อได้
10.มา สมโณ โน ครูติ - อย่าเพิ่งเชื่อว่าผู้พูดนั้นเป็นครูของเรา
แต่จงเชื่อก็ต่อเมื่อได้ศึกษาและทดสอบด้วยตนเองแล้ว (สนฺทิฏฐิโก) เห็นว่าเป็นสัจธรรมสมบูรณ์อยู่ทุกเมื่อ (อกาลิโก) สามารถท้าทายการพิสูจน์ของผู้อื่นได้ (เอหิปสฺสิโก) เป็นคุณประโยชน์ต่อผู้ที่ศึกษาเรียนรู้ (โอปนยิโก) และเป็นธรรมที่วิญญูชนสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง (ปจฺจตฺตํเวทิตพฺโพ วิญญูหิ)

เมื่อใดสอบสวนจนรู้ได้ด้วยตนเองว่า..ธรรมเหล่านั้นเป็นอกุศลหรือมีโทษเมื่อนั้นพึงละเสีย และเมื่อใดสอบสวนจนรู้ได้ด้วยตนเองว่า..ธรรมเหล่านั้นเป็นกุศลหรือไม่มีโทษ เมื่อนั้นพึงถือปฏิบัติ [2]

ปัจจุบันแนวคิดและหลักสูตรที่สอนให้คนมีเหตุผลไม่หลงเชื่องมงาย ในทำนองเดียวกับคำสอนของพระพุทธองค์เมื่อ 2500 ปีก่อน ได้รับการบรรจุเป็นวิชาบังคับว่าด้วยการสร้างทักษะการคิดหรือที่เรียกว่า "การคิดเชิงวิจารณ์" (Critical thinking) ไว้ในกระบวนการเรียนรู้ในมหาวิทยาลัยของประเทศพัฒนาแล้ว[3]

ดูเพิ่ม[แก้]เกสปุตตนิคม สถานที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงกาลามสูตร
โยนิโสมนสิการ หลักการคิดโดยแยบคาย
อ้างอิง[แก้]1. พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๐ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๒ อังคุตตรนิกาย เอก-ทุก-ติกนิบาต เกสปุตตสูตร (กาลามสูตร). พระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก <[1]>. เข้าถึงเมื่อ 4-6-52
2. วิธีปฏิบัติต่อสิ่งที่ตนสงสัย หรือหลักความเชื่อ 10 ประการ (กาลามสูตร) [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก [2]
3. [3]
พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช) ป.ธ. ๙ ราชบัณฑิต. 2548. พจนานุกรมเพื่อการศึกษาพุทธศาสน์ ชุด คำวัด, วัดราชโอรสาราม กรุงเทพฯ
วิกิซอร์ซติกนิบาต - ทุติยปัณณาสก์ - มหาวรรค - เกสปุตตสูตร
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่