ดัชนีชี้วัดความสำเร็จของ SMEs พบพันธมิตร+แผนธุรกิจดีนำโด่ง

credit : thanonline.com
------

      เอแบคโพลล์เผยดัชนีความสำเร็จเอสเอ็มอีไทยอยู่ที่การมีพันธมิตรธุรกิจดี แต่ปัจจัยที่กังวลและบั่นทอนความสุขของผู้ประกอบการ คือ การเมืองไม่มีเสถียรภาพ ความขัดแย้งภายในประเทศ การคอร์รัปชัน และผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก

      สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ร่วมกับ สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง ดัชนีชี้วัดความสำเร็จและความสุขของเอสเอ็มอีไทย พบผู้ประกอบการส่วนใหญ่เชื่อมั่นความสำเร็จทางธุรกิจเกิดได้จากมีพันธมิตรธุรกิจดีภายใต้สภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน

      นางสาวปุณฑรีก์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยว่า จากการสอบถามผู้ประกอบการจำนวน 274 ตัวอย่างระหว่างเดือนตุลาคม 2556 ที่ผ่านมา พบว่า ผู้ประกอบการร้อยละ 74.5 ยอมรับว่า สิ่งที่ทำให้ประสบความสำเร็จทางธุรกิจในสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน คือ การมีพันธมิตรทางธุรกิจที่ดี  ร้อยละ 73.7 คิดว่าธุรกิจสำเร็จได้เพราะมีแผนงานทางธุรกิจที่ดี ขณะที่ร้อยละ 58.8 คิดว่า การมีแหล่งเงินทุนที่เพียงพอมีส่วนสำคัญทำให้ประสบความสำเร็จได้ ส่วนผู้ประกอบการร้อยละ 39.1 เชื่อว่าการมีที่ปรึกษาทางการเงินที่ดีทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จ

      ขณะเดียวกัน ปัจจัยที่ทำให้เกิดความกังวลและบั่นทอนความสุขของผู้ประกอบการต่อการดำเนินธุรกิจในสถานการณ์ปัจจุบัน ผู้ประกอบการ ส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 75.5 มีความกังวลในเรื่องความไม่เสถียรภาพทางการเมืองอีกร้อยละ 69.3 ห่วงเรื่องความขัดแย้งภายในประเทศ ร้อยละ 63.5 กังวลเรื่องการคอร์รัปชัน ร้อยละ 52.2 กังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก ขณะที่ร้อยละ 43.8เป็นห่วงเกี่ยวกับสภาวะเศรษฐกิจของไทย

      นายสุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม  กล่าวว่า วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เป็นรากฐานสำคัญของระบบเศรษฐกิจไทย ปัจจุบันมีจำนวน SMEs ทั่วประเทศถึง 2.65 ล้านราย คิดเป็นร้อยละ 99.8 ของวิสาหกิจทั้งหมด มีการจ้างงานจำนวน 11 ล้านคน หรือร้อยละ 83.9 ของการจ้างงานรวมของประเทศ มีมูลค่าการส่งออกกว่า 2.07 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 29.9 ของมูลค่าการส่งออกรวมของประเทศ และก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 3.86 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 36.6 ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ

      "เราให้ความสำคัญกับการส่งเสริม SMEs มาตลอด โดยเฉพาะการพัฒนาขีดความสามารถของ SMEs ให้มีศักยภาพ สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในระดับสากลมากขึ้น ทั้งยังได้เตรียมความพร้อม SMEs ในการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC) โดยการสร้างผู้ประกอบการใหม่ๆ และพัฒนายกระดับผู้ประกอบการที่มีอยู่เดิมทั้งประเทศให้เติบโตอย่างแข็งแกร่ง สามารถดำเนินกิจการได้อย่างครบวงจร มีศักยภาพในการแข่งขัน ทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ และยืนหยัดได้อย่างยั่งยืน ในตอนนี้ทางสถาบันได้ศึกษาสำรวจและรวบรวมข้อมูลในบริบทต่างๆเพื่อสังเคราะห์และวิเคราะห์ให้เห็นถึงแนวโน้มใหญ่ ( MEGATRENDS ) ที่มีผลกระทบในระดับวงกว้างแล้วนำมาพัฒนากระบวนทัศน์ใช้เป็นแนวทางการออกแบบและพัฒนาธุรกิจใหม่เพื่อตอบโจทย์ความท้าทายใหม่ๆของในตลาดในอนาคต"  

      นางสาวเกยูร กิตติธเนศวร กรรมการผู้จัดการ บริษัท แกรนด์เยาวราชฯ เจ้าของแบรนด์ ยู้ ลูกชิ้นปลา เยาวราชและอุปนายกสมาคมนักธุรกิจเอสเอ็มอีรุ่นใหม่แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันผู้ประกอบการเอสเอ็มอีรุ่นใหม่ส่วนใหญ่จะเป็นคนมีความรู้ และอยากทำอะไรใหม่ๆ แต่มักติดปัญหาหลายอย่าง อาทิ ด้านความคิดต่างจากคนรุ่นพ่อแม่ที่ติดความเป็นอนุรักษ์นิยม  ขณะคนรุ่นใหม่ต้องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การทำการตลาดและการสร้างแบรนด์ รวมถึงตอกย้ำแบรนด์ให้มีความแข็งแกร่งมากขึ้น ซึ่งต้องการการสนับสนุนทางด้านการเงินและการสร้างเครือข่าย หากผู้ใหญ่ไม่สนับสนุนก็ต้องหาทางออกกันเอง โดยเฉพาะต้องหาแหล่งเงินกู้ซึ่งจะต้องมีการค้ำประกัน ยิ่งเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจ ซึ่งทั้งหมดนี้หากภาครัฐและองค์กรทางด้านการเงินหันมาให้ความสำคัญและให้การสนับสนุนผู้ประกอบการอย่างจริงจังมากขึ้นเชื่อว่า นักธุรกิจเอสเอ็มอีรุ่นใหม่จะสามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศไทยได้อย่างมากทีเดียว

■ คอลัมน์ : SMEs News / ■ THAN SMEs
■ จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ AEC world ปีที่33 (1) ฉบับที่ 2,895 (37) วันที่ 10 - 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่