มนต์ขลังแห่งนครวาติกัน

เบื้องหลังกำแพงอันยิ่งใหญ่ที่มีอายุเก่าแก่หลายศตวรรษ ใจกลางกรุงโรมของประเทศอิตาลีคือสถานที่ที่มีเปี่ยมด้วยมนต์ขลังและความศักดิ์สิทธิ์ เป็นดั่งสถานที่ที่กาลเวลาหยุดนิ่งภายในประเทศที่เล็กที่สุดในโลก ที่ก่อตั้งขึ้นในปี 1929 ภายใต้สนธิสัญญากับรัฐบาลอิตาลีซึ่งถูกปกครองโดยชายคนหนึ่ง ด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช และเป็นแห่งเดียวในทวีปยุโรปที่ยังคงใช้ระบบการปกครองดั้งเดิมนี้

สถานที่แห่งนี้ คือ “นครวาติกัน (Vatican City)” ประเทศเล็กๆ ในทวีปยุโรป ที่มีสมเด็จพระสันตะปาปาเป็นองค์พระประมุข หากแต่มีความยิ่งใหญ่ในการเป็นแหล่งกำเนิดของประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่ของชาติตะวันตก และเป็นแหล่งศูนย์รวมจิตวิญญาณของชาวคาทอลิกทั้งมวลที่เชื่อว่า นครวาติกันแห่งนี้ คือสถานที่ที่ทุกๆ คนสามารถอยู่ใกล้ชิดกับพระผู้เป็นเจ้ามากที่สุดในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่



ย้อนกลับไปในสมัยต้นคริสตกาล นักบุญเปโตร ซึ่งเป็นอัครสาวกเอกของพระเยซูเจ้า ผู้ซึ่งพระเยซูเจ้าทรงประกาศไว้ว่า “เปโตร คือ ก้อนหินที่พระองค์จะใช้เป็นรากฐานในการสร้างวิหาร” พร้อมด้วยอัครสาวกนักบุญพอลได้เดินทางเข้าสู่กรุงโรม เพื่อเผยแพร่ศาสนา ในช่วงต้นคริสตกาลด้วยบทลงโทษที่มีต่อผู้ศรัทธาต่อคริสตศาสนาในสมัยนั้นนักบุญเปโตร จึงถูกจับและถูกตรึงบนไม้กางเขน ร่างของนักบุญเปโตรถูกนำไปฝังไว้ในสุสานเล็กๆอันเรียบง่ายข้างเนินวาติกัน (Vatican Hill) จวบจนกระทั่ง 300 ปีให้หลังพระเจ้าคอนสแตนตินองค์จักรพรรดิผู้ทรงเป็นคริสต์ศาสนิกชนพระองค์แรกของโรมประกาศให้สร้างวิหารอันยิ่งใหญ่ขึ้นเหนือสุสานนักบุญเปโตร

สำนักวาติกัน ได้ถือเป็นประเพณีมาโดยตลอดว่า นักบุญเปโตรถูกฝังอยู่ใต้วิหารแห่งนี้ แต่จนถึงปลายยุค1930พวกเขาก็ยังไม่มีข้อพิสูจน์ จนกระทั่งในปี 1939 ขณะที่คนงานที่กำลังปฏิสังขรณ์คูหาใต้วิหาร เหล่าคนงานก็ได้ค้นพบสิ่งที่น่าประหลาดใจนั่นก็คือ สุสานโรมันโบราณอยู่ภายใต้พื้นดินที่พวกเขาขุดกันอยู่ ซึ่งไม่ใช่หลุมศพเพียงแค่หลุมเดียวหากแต่เป็นสุสานขนาดใหญ่ หลังจากใช้เวลาขุดลงไปนานหลายเดือน พวกเขาก็ขุดจนถึงส่วนของหลุมศพที่มีความเก่าแก่มาก ใกล้กับบริเวณด้านล่างแท่นบูชา

และตรงใต้แท่นบูชา พวกเขาก็พบหลุมศพขนาดเล็ก และกำแพงทาสีแดง ภายในช่องที่ต่อเชื่อมกับกำแพงพวกเขาก็พบกระดูกของชายคนหนึ่ง ซึ่งหลายสิบปีต่อมา ในปี 1968 พระสันตะปาปา พอล ที่ 6 (Pope Paul VI)ก็ทรงประกาศว่า กระดูกเหล่านี้เป็นของนักบุญเปโตรสิ่งนี้ช่วยย้ำศรัทธาของคริสต์ศาสนิกชนถึงความศักดิ์สิทธิ์ของวิหารนักบุญเปโตรที่ใช้ในการประกอบพิธีกรรมสำคัญๆหลายอย่าง รวมถึงพิธีการแต่งตั้ง บิช็อบ (Bishop) โดยสมเด็จพระสันตะปาปาด้วยซึ่งถือได้ว่าเป็นพิธีที่มีความโดดเด่นที่สุดจากหลายร้อยสิ่งที่เกิดขึ้นภายในสำนักวาติกัน

ไม่เพียงแต่วิหารอันศักดิ์สิทธิ์ นครวาติกัน – ประเทศเล็กๆ ที่มีเนื้อที่เพียง 109 เอเคอร์แห่งนี้ ยังมีทหารกองประจำการที่เล็กที่สุดในโลก พวกเขาคือ “สวิส การ์ดส์ (Swiss Guards)” ที่ตลอด 500 ปีที่ผ่านมา พวกเขาได้รับหน้าที่เป็นองครักษ์ประจำองค์พระสันตะปาปาคุณสมบัติของผู้ที่ได้รับคัดเลือกเข้าร่วมกองประจำการนี้ จะต้องเป็นชาวสวิสนิกายคาทอลิกและมีความสูงอย่างน้อย 174 ซม. “สวิส การ์ดส์” นอกจากจะเป็นกองกำลังรักษาความมั่นคงที่ได้รับการฝึกฝนมาเป็นอย่างดีแล้ว พวกเขายังต้องผ่านพิธีกรรมที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง นั่นคือ พิธีกรรมสาบานตน เพื่อถวายความจงรักภักดีและชีวิตแด่องค์พระสันตะปาปา



ตามประเพณีเก่าแก่หลายร้อยปี ผู้มาเยือน รวมถึงผู้นำของแต่ละประเทศ ซึ่งโดยมากจะเป็นคาทอลิกผู้เคร่งครัดจะต้องจูบที่พระธำมรงค์ของสมเด็จพระสันตะปาปา เพื่อเป็นการแสดงความเคารพต่อสัญลักษณ์ของพระคริสต์ที่เป็นดั่งศูนย์รวมจิดวิญญาณของชาวคาทอลิกกว่าหนึ่งพันล้านคนทั่วโลก หากจะว่าไปแล้ว สิ่งนี้คงเป็นพิธีการทางการฑูตที่เป็นเอกลักษณ์ของประเทศนี้เลยทีเดียวในนครแห่งศรัทธานี้ นอกจากจำนวนประชากรที่มีอยู่เพียง 900คนแล้ว นครวาติกันก็มีทุกอย่างที่ประเทศชาติทั่วไปพึงมี ซึ่งก็มีทั้งกองกำลังตำรวจ หนังสือพิมพ์ ที่ทำการไปรษณีย์หรือแม้แต่โรงทานสำหรับคนยากจนแต่นครวาติกัน ก็คงจะเป็นเพียงประเทศเดียวในโลก ที่เครื่องเบิกถอนเงินสดอัตโนมัติ มีคำแนะนำการใช้เป็นภาษาละตินด้วย

มนต์ขลังของนครวาติกันภายใต้การปกครองของสมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น พอล ที่ 2 (Pope John Paul II)องค์พระประมุขปัจจุบัน ยังมีอยู่ที่เสน่ห์แห่งการเป็นแหล่งรวมของชิ้นงานศิลปะอันเก่าแก่ ซึ่งจำเป็นจะต้องอาศัยฝีมือของกองทัพผู้ฟื้นฟูศิลปะที่ดีที่สุดในโลกส่วนหนึ่ง ในการอนุรักษ์ความงดงามของศิลปะจากยุคอดีต ภายในกำแพงแห่งนครวาติกันให้คงอยู่สืบไป ไม่ว่าจะเป็นผืนผ้าทอ จิตรกรรม และสถาปัตยกรรม

ที่มา : http://www.nextsteptv.com/?p=48

ฝากเพจที่เฟสบุคด้วยนะครับ

เพจ "โลกแห่งความจริง" เพจสำหรับชาววิทย์ ความรู้ต่างๆต่างทุกมุมโลก
https://www.facebook.com/Real.of.The.world
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่