รถเมล์เพื่อคนพิการ สิทธิขั้นพื้นฐานในสังคมไทย

กระทู้คำถาม
การเคลื่อนไหวของภาคประชาชนเพื่อต่อต้านโครงการที่ไม่เหมาะสมของภาครัฐ รวมถึงการเรียกร้องให้รัฐดำเนินการอะไรบางอย่างให้นั้น ถือเป็นเรื่องปกติสำหรับสังคมไทยไปเสียแล้ว แต่ไม่บ่อยนักที่เราจะได้พบเห็นการรวมตัวของกลุ่มผู้พิการเพื่อคัดค้าน โครงการของรัฐที่ละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานที่พวกเขาควรได้รับตามรัฐธรรมนูญ แต่ผู้มีอำนาจกลับเมินเฉย ซึ่งล่าสุดคือกรณีการร่วมลงชื่อของบรรดาผู้พิการที่ต้องการรถเมล์เอ็นจีวี พื้นต่ำไม่มีขั้นบันไดทั้งรถธรรมดาและรถปรับอากาศ ที่กระทรวงคมนาคม โดยองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) กำลังจัดซื้อเพิ่มจำนวน 3,183 คัน ผ่านแคมเปญรณรงค์บนเว็บไซต์ Change.org เพื่อคัดค้านร่างขอบเขตงาน (ทีโออาร์) โครงการประมูลเพื่อจัดซื้อรถโดยสารประเภทใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติเอ็นจีวี จำนวนดังกล่าวในวงเงิน 13,162.2 ล้านบาท จนนำมาสู่การนัดรวมตัวเพื่อยื่นหนังสือพร้อมรายชื่อคนพิการจำนวน 7,500 ชื่อ ต่อคณะกรรมการทีโออาร์ ที่ ขสมก.สำนักงานใหญ่ ถนนเทียมร่วมมิตร กทม. เมื่อวันที่ 25 ตุลาคมที่ผ่านมา ภายใต้ชื่อกลุ่มเครือข่ายรถเมล์เพื่อประชาชนที่ทุกคนขึ้นได้ ซึ่งเคลื่อนไหวมาได้ระยะหนึ่งแล้วในประเด็นนี้

“ภาคีเครือข่ายประชาชน : ทุกคนขึ้นรถเมล์ได้ทุกคัน” ประชุมเรียกร้องขอความเป็นธรรมต่อ ขสมก. ในวันนั้น หลังจากที่ปล่อยให้กลุ่มเครือข่ายฯ กว่า 50 คนต้องทนร้อนรออยู่ด้านล่างอาคารที่ทำการนานเกือบ 2 ชั่วโมง นายโอภาส เพชรมุณี ผู้อำนวยการ ขสมก. จึงได้เดินลงมารับเรื่องพร้อมชี้แจงว่า กำลังประชุมคณะกรรมการทีโออาร์ครั้งที่ 5 ซึ่งในวันนี้ยังไม่มีประเด็นที่เครือข่ายฯ ได้เรียกร้องเอาไว้ในวาระการประชุม นั่นคือการขอให้ ขสมก.เปลี่ยนรูปแบบของรถเมล์เป็นแบบพื้นต่ำไม่มีขั้นบันได เพื่อให้คนพิการ ผู้สูงวัย และผู้หญิงตั้งครรภ์ได้ใช้บริการด้วยได้ อย่างไรก็ตาม จากที่มีผู้ไม่เห็นด้วยจำนวนมาก ขสมก.ก็เตรียมจัดเวทีเพื่อรับฟังความคิดเห็นของผู้พิการและประชาชนทุกกลุ่ม ในสัปดาห์หน้า เพื่อให้ได้ข้อสรุปที่เหมาะสมที่สุดต่อไป แต่ขอยืนยันว่าการสั่งซื้อรถเมล์พื้นต่ำนั้นมีปัญหาคือจะทำให้รถไม่สามารถขับลุยน้ำท่วมได้

“ภาคีเครือข่ายประชาชน : ทุกคนขึ้นรถเมล์ได้ทุกคัน” ประชุมเรียกร้องขอความเป็นธรรมต่อ ขสมก. ด้าน น.ส.อาภาณี มิตรทอง ผู้ริเริ่มแคมเปญรณรงค์ผ่านเว็บไซต์ Change.org เพื่อให้รัฐจัดซื้อรถเมล์ที่ทุกคนใช้ร่วมกันได้ กล่าวว่า การมายื่นหนังสือคัดค้านร่างทีโออาร์จัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวี พร้อมรายชื่อผู้พิการจำนวน 7,500 รายชื่อครั้งนี้ ก็เพื่อต้องการให้รัฐทบทวนร่างดังกล่าวอีกครั้ง หลังจากที่พวกเราได้เรียกร้องมาแล้วก่อนหน้านี้ แต่คณะกรรมการฯ ไม่ตอบรับข้อเสนอดังกล่าว เห็นได้จากร่างทีโออาร์ฉบับที่ 1-5 ที่ยังไม่มีการแก้ไขในเรื่องที่ทางกลุ่มฯ ได้เรียกร้องให้มีการระบุเนื้อหาปรับทางขึ้นลงให้เป็นพื้นต่ำไม่มีขั้นบันได ทั้งรถธรรมดาและรถปรับอากาศ เพื่อให้ประชาชนทุกกลุ่มสามารถใช้บริการร่วมกันได้ ไม่เพียงแต่เฉพาะกลุ่มคนพิการทั่วประเทศเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงกลุ่มผู้สูงอายุและสตรีมีครรภ์ด้วย พร้อมทั้งขอให้มีระบบสื่อสารให้กับคนตาบอดและคนหูหนวกให้สามารถรับรู้ข้อมูล บนรถเมล์ได้ด้วย เพราะปัจจุบันกลุ่มคนเหล่านี้ไม่สามารถรู้ได้เลยว่ารถที่ตนนั่งสายอะไร จอดอยู่ที่ไหนนอกจากการถามพนักงานเก็บค่าโดยสารและคนข้างๆที่ก็ไม่ค่อยจะเต็มใจนัก

“ภาคีเครือข่ายประชาชน : ทุกคนขึ้นรถเมล์ได้ทุกคัน” ประชุมเรียกร้องขอความเป็นธรรมต่อ ขสมก. "คนพิการจะเดินทางแต่ละครั้งนอกจากจะยากลำบากกว่าคนทั่วไปแล้ว ยังต้องมีภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางที่สูงมาก เพราะระบบขนส่งสาธารณะที่ไม่เป็นธรรม โดยเฉพาะรถเมล์ประจำทางที่คนพิการไม่สามารถใช้บริการร่วมได้ โดยเฉพาะคนพิการที่ใช้รถเข็น เนื่องจากมีทางขึ้นที่ทั้งสูงและมีเสากั้น คนกลุ่มนี้จึงต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายในการใช้รถแท็กซี่แทน ส่งผลให้คนพิการหลายคนจำใจต้องออกจากงาน เพราะเงินเดือนที่ได้หมดไปกับค่าแท็กซี่ อีกทั้งการถูกแท็กซี่บางคันมองว่าเป็นคนชั้นต่ำ จึงไม่เต็มใจให้บริการ พร้อมแสดงท่าทางดูถูกเหยียดหยามว่าจะไม่มีเงินจ่ายอีกด้วย" น.ส.นางอาภาณีกล่าว

นายนรินทร์ จันทร์ทิม ประธานเครือข่ายรถเมล์เพื่อประชาชนฯ เสริมว่า รถเมล์ถือเป็นบริการสาธารณะที่พวกเขาควรได้รับตามสิทธิขั้นพื้นฐานในรัฐ ธรรมนูญ จึงขอเรียกร้องให้การจัดซื้อรถเมล์ล็อตใหม่ของ ขสมก. คิดถึงกลุ่มคนพิการบ้าง เพราะงบประมาณตรงนี้มาจากภาษีประชาชนทุกคน ส่วนที่อ้างว่าจะทำลิฟต์ให้คนพิการขึ้น-ลงบนรถเมล์แทนนั้น ยืนยันว่าในทางปฏิบัติเป็นไปไม่ได้เลย เพราะการขึ้นแต่ละครั้งต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2-3 นาที สร้างภาระให้ผู้อื่นบนรถ ผิดกับทางลาดที่ใช้เวลาแค่ 40 วินาทีเท่านั้น ส่วนลิฟต์บริเวณรถไฟฟ้านั้น ทุกวันนี้ก็มีไม่ครบทุกสถานีและยังไม่เชื่อมต่ออีกด้วย

“ภาคีเครือข่ายประชาชน : ทุกคนขึ้นรถเมล์ได้ทุกคัน” ประชุมเรียกร้องขอความเป็นธรรมต่อ ขสมก. น.ส.นางอาภาณีกล่าวว่า พวกเราจึงอยากเรียกร้องให้เรื่องนี้ผ่านการรับฟังความเห็นจากประชาชน ทุกกลุ่มอย่างรอบด้านและจริงใจ เพราะที่ผ่านมา ขสมก.ไม่เคยปรึกษาผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเลย ทั้งหน่วยงานรัฐและองค์กรอิสระต่างๆ รวมถึงผู้พิการด้วย โดยการเปิดรับฟังความเห็นในร่างทีโออาร์ 4 ครั้งที่ผ่านมานั้น เปิดรับฟังเพียงแค่ 3 วัน ทำกันแบบเงียบๆ หลายคนยังไม่รู้เลยว่าจะมีการซื้อรถเมล์เอ็นจีวีล็อตใหม่นี้ จึงเป็นเรื่องที่น่าสงสัยต่อความโปร่งใสในโครงการดังกล่าวอย่างมาก ซึ่งทางเครือข่ายฯ จะทำการรวบรวมรายชื่อเตรียมไปยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง เพื่อขอให้ตัดสินว่าเป็นการกระทำที่ละเมิดสิทธิตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ด้วย เพราะกรณีนี้อาจเข้าข่ายขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญ กฎหมายคนพิการ และอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ

"รัฐไม่ควรมองว่าคนพิการเป็นคนพิเศษ การจัดหาอะไรให้ต้องทำแบบเป็นการเฉพาะ เลิกมองว่าเราเป็นตัวประหลาดได้แล้ว เพราะพวกเราก็เป็นมนุษย์เหมือนกัน เราเพียงต้องการรถเมล์ที่ทุกคนใช้ร่วมกันได้อย่างเท่าเทียม รัฐต้องจัดสรรสิ่งอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนด้วยความเหมาะสมและเท่าเทียม ไม่ใช่ทำแบบนี้"น.ส.อาภาณีกล่าว

ทั้งนี้ มีข่าวลือว่าร่างทีโออาร์รถเมล์กว่า 3 พันคันฉบับนี้ ทำให้บริษัทเอกชนรายหนึ่งได้เปรียบผู้แข่งขัน หรือมีการล็อกสเปกเอาไว้แล้ว แต่ทาง ขสมก.ก็ได้ออกมาปฏิเสธในประเด็นนี้ ทางเครือข่ายฯ จึงได้ตั้งข้อสังเกตว่าหากไม่มีการล็อกสเปกจริง ก็น่าจะสามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบรถในร่างทีโออาร์เสียใหม่ได้ แต่ที่ผ่านมาเรื่องนี้กลับไม่ได้รับการตอบรับจาก ขสมก.ในทางปฏิบัติ ทั้งยังเร่งโครงการอย่างผิดปกติ รวมถึงไม่มีการแจกแจงราคาอะไหล่แต่ละส่วนของรถอีกด้วย

นาวาอากาศเอกภราดร คุ้มทรัพย์ ผอ.ศูนย์การดำรงชีวิตอิสระคนพิการ พญาไท กรุงเทพฯ มองว่า การออกมาเรียกร้องครั้งนี้ถือเป็นภาพสะท้อนปัญหาโดยรวมเรื่องการเข้าถึง สวัสดิการขั้นพื้นฐานในสังคมไทย โดยเฉพาะคนพิการ ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากคนพิการยังไม่รู้ถึงสิทธิที่ตนพึงได้รับ ตลอดจนภาครัฐไม่รับฟังความคิดเห็นของคนกลุ่มนี้ก่อนจัดสรรสวัสดิการต่างๆ อย่างเรื่องซื้อรถเมล์นี้ก็เหมือนกัน รัฐควรถามผู้ใช้บริการทุกกลุ่มก่อนตัดสินใจซื้อ เพราะรถเมล์เป็นของสาธารณะที่ซื้อมาด้วยเงินภาษีประชาชนทุกกลุ่ม รัฐต้องอย่ามองเรื่องมูลค่ามากกว่าเรื่องคุณค่าของคนในสังคม ที่ผ่านมาเรื่องการเข้าถึงการศึกษา การรักษาพยาบาล สวัสดิการของรัฐต่างๆ รวมถึงโอกาสการเจริญก้าวหน้าในชีวิตของผู้พิการยังน้อยที่สุดในสังคม นอกจากนี้ หน่วยงานอื่นๆ อาทิ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หรือมูลนิธิและองค์กรอิสระต่างๆ ต้องเข้ามาช่วยกันเติมเต็มในส่วนนี้ด้วย เพราะทุกวันนี้มีผู้พิการเกิดใหม่ทุกวัน ทั้งจากการคลอดและอุบัติเหตุ ซึ่งผู้ที่มีอำนาจเองสักวันก็อาจจะมาอยู่ในกลุ่มเดียวกับพวกเราก็เป็นได้

ขณะที่นายณรงค์ ปฏิบัติสรกิจ ประธานมูลนิธิคนพิการไทย มองว่า ทุกวันนี้สิทธิและโอกาสของคนพิการยังน้อยอยู่ ทั้งที่มีกฎหมายเกี่ยวข้องมากมาย แต่กลับไม่ถูกหยิบมาใช้ เช่น เรื่องเบี้ยคนพิการที่มีอัตราน้อย รวมถึงเรื่องการศึกษาและอาชีพ ฯลฯ ประกอบกับการรวมตัวของผู้พิการยังไม่แข็งแรงพอที่จะต่อรองกับรัฐในเรื่อง สิทธิและสวัสดิการต่างๆ ในการดำเนินชีวิตได้ ดังนั้นผู้พิการจึงควรรวมตัวกันให้มากขึ้นกว่านี้เพื่อสิทธิประโยชน์ของตน เอง

ทั้งนี้ ประชาชนสามารถร่วมลงชื่อคัดค้านร่างทีโออาร์จัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวีฉบับนี้ได้ ที่ http://www.change.org/bus4all และภายในสัปดาห์นี้ ขสมก.จะเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทุกกลุ่มในรูปแบบการเสวนา ซึ่งประชาชนทั่วไปสามารถเข้าร่วมรับฟังการเสวนาดังกล่าวได้ เพื่อช่วยกันส่งเสียงให้ผู้มีอำนาจรับรู้ว่า "ความพิการไม่ได้ทำให้ความเป็นมนุษย์ลดลง

ขอบคุณ... http://www.thaipost.net/x-cite/281013/81261 (ขนาดไฟล์: 46669)

(ไทยโพสต์ออนไลน์/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 28 ต.ค.56)
http://www.tddf.or.th/news/detail.php?contentid=0072&postid=0006423&currentpage=2
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่