ก็ไปคิดกันเองแล้วกัน ว่าต้องทำอย่างไร?

วิธีจัดการกับความขัดแย้งอย่างสร้างสรรค์์

          ความขัดแย้งในสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทางการเมืองของไทยกำลังเกิดขึ้น และขยายตัวออกไปในกลุ่มประชาชนหลากหลายอาชีพ หลากหลายสำนัก มากขึ้น มีทีท่าว่าการแก้ไขความขัดแย้งที่กำลังเกิดขึ้นนี้ อาจถึงขั้นต้องใช้กำลังหรือวิธีการรุนแรง จนทำให้มีบางฝ่ายห่วงใยในเรื่องนี้มาก จึงออกมาเรียกร้องให้ฝ่ายที่กำลังขัดแย้งกัน ไม่ใช้ความรุนแรง สร้างความสมานฉันท์ สร้างความสามัคคี ดังเช่น กลุ่มอาจารย์ นักศึกษาของสถาบันแห่งหนึ่งออกมารณรงค์ให้ยุติความรุนแรง โดยใช้สัญลักษณ์ริบบิ้นขาว แต่ดูเหมือนความขัดแย้งยังคงเกิดขึ้น และไม่มีทีท่าว่าจะยุติลงได้

          วิธีการแก้ไขความขัดแย้งดังจะยกมากล่าวต่อไปนี้ เป็นแนวคิดของโทมัส และคิลแมน (Kenneth W. Thomas and Ralph H. Kilmann) ได้ทำการศึกษาถึงแนวทางและวิธีการจัดการความขัดแย้งพบว่า จำแนกได้เป็น 5 แนวทาง คือ

          1.     การเอาชนะ (Competition)  หลายต่อหลายครั้งที่คนเราใช้วิธีการแก้ไขความขัดแย้งด้วยการเอาชนะ โดยมุ่งเน้าชัยชนะของตนเองเป็นสำคัญ ดังนั้น วิธีนี้จึงมีการพยายามใช้อิทธิพล กลวิธี หรือช่องทางต่างๆ เพื่อที่จะทำให้คู่กรณียอมแพ้ รวมไปถึงบางฝ่ายหรือทั้ง2 ฝ่ายอาจใช้วิธีสกปรกเพื่อเอาชนะกันก็ได้ ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นเป็นไปในลักษณะ "ชนะ - แพ้" ซึ่งแน่นอนที่สุดต้องมีความสูญเสียเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

         2.    การยอมให้ (Accommondation) เป็นวิธีการที่เน้นการเอาใจผู้อื่น อยากให้เป็นที่ยอมรับและได้รับความรัก มุ่งสร้างความพอใจแก่คู่กรณี โดยที่ตนเองจะต้องยอมเสียสละ ผลลัพธ์ที่เกิดก็จะเป็นแบบ "ชนะ - แพ้" เช่นกัน

        3.    การหลีกเลี่ยง  (Avoiding)  เป็นวิธีการจัดการในลักษณะไม่สู้ปัญหา ไม่ร่วมมือในกหารแก้ปัญหา ไม่สนใจความต้องการของตนเองและผู้อื่น พยายามวางตัวเหนือปัญหา แนวทางนี้ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นมักเป็นแบบ "แพ้ - แพ้" เป็นส่วนใหญ่

        4.    การร่วมมือ (Collaboration) เป็นพฤติกรรมที่มุ่งขยัดความขัดแย้งโดยต้องการให้เกิดความพอใจทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น เป็นความร่วมมือร่วมใจในการแก้ไขปัญหาที่มุ่งให้เกิดประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่าย ซึ่งผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจะเป็นลักษณะ "ชนะ - ชนะ" (win - win)

        5.    การประนีประนอม (Compormising) เป็นความพยายามที่จะให้คู่กรณีทั้ง 2 ฝ่ายได้รับความพอใจบ้าง และต้องยอมเสียสละบ้าง แต่แนวทางนี้เมื่อใช้ไปก็อาจนำไปสู่วิธีแรกก็ได้ ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากการแก้ไขความขัดแย้งแบบนี้อาจเป็นแบบ "แพ้ - แพ้" หรือ "ชนะ - แพ้" ก็ได้

       ดังนั้น ในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ไม่เฉพาะแต่ในบ้านเมืองเท่านั้น ในองค์กร หรือในที่ทำงานก็ตาม ผู้ที่กำลังเผชิญกับความขัดแย้งก็ลองนำไปพิจารณาว่า ควรจะจัดการอย่างไร จึงจะเป็นการจัดการความขัดแย้างอย่างสร้างสรรค์มากที่สุด ทุกฝ่ายพอใจ ความสูญเสียเกิดขึ้นน้อยที่สุด ซึ่งผมเชื่อว่า มีวิธีการจัดการความขัดแย้งที่นำไปสู่ผลลัพธ์แบบที่กล่าวมานี้ได้ เพียงแต่ต้องขบคิดกันมากๆ ใช้อารมณ์น้อยๆ ลดทิฐิลงบ้าง ก็จะเห็นเส้นทางไปสู่ความเข้าใจกันได้มากขึ้น

http://www.oknation.net/blog/boonyou/2008/06/07/entry-2
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่