"การเวียนว่ายตายเกิด"

ธรรมกถาของ อาจารย์ เสถียร  โพธินันทะ
คัดลอก โดย ทศพล


ท่านสาธุชนทั้งหลาย

หัวข้อปาฐกถาธรรมวันนี้เป็นการพูดข้อเบ็ดเตล็ดบางสิ่งบางอย่างที่ยังเป็นปัญหาในกลุ่มชาวพุทธมามกะของเรา  เรื่องเบ็ดเตล็ดที่เป็นปัญหาที่ชาวพุทธของเรา   พูดกันถกเถียงกันอยู่นั้นไม่ใช่มีอยู่เพียงเล็กน้อยเท่านั้น   แต่ความจริงแล้วถ้าจะประมวลเรื่องราวต่างๆ  ตั้งแต่สมัยพุทธกาลลงมาจนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้  เรื่องราวก็มีมาก  เป็นปัญหาที่น่าขบคิดทั้งนั้นเพราะในวันนี้จะได้นำเรื่องที่ถกเถียงกันอยู่มาวิจารณ์สักสองเรื่องด้วยกันก่อน

เรื่องแรกก็คือปัญหาเรื่องของ   การเวียนว่ายตายเกิด   เรื่องนี้ไม่ว่าจะไปพูดในที่ใด  ถ้ายิ่งไปพูดตามโรงเรียนด้วยแล้วมักจะมีนักเรียนนักศึกษาเอาปัญหานี้มาถาม   ว่าตายแล้วเกิดจริงหรือไม่จริง  สวรรค์นรกมีจริงหรือไม่จริง  ถามกันอย่างนี้บ่อย  และก็เป็นปัญหาที่มีมาก่อนพุทธกาลแล้ว  เคยมีคนไปทูลถามพระพุทธองค์ก็เคย  แล้วพระพุทธองค์ก็ได้ตอบไปแล้ว

แต่ถึงกระนั้นก็ยังเป็นปัญหาต่อเนื่องกันเรื่อยมากระทั่งถึงเดี๋ยวนี้  และเชื่อว่าจะต้องเป็นปัญหาต่อเนื่องกันต่อไปจนกว่ามนุษย์ในโลกนี้จะไม่มี  คือถ้าหากว่า ในโลกนี้ยังมีมนุษย์อยู่ ปัญหาเรื่องว่าสงสัยว่าตายแล้วเกิดหรือไม่นี้มันก็มีอยู่เรื่อยไปละครับ   อันนี้ก็น่าจะเป็นประเด็นอันหนึ่งที่เราน่าจะเอามาวิจารณ์กันเกี่ยวกับปัญหาเรืองนี้  ปัญหาตายแล้วเกิดหรือไม่  ถ้าหากว่าจะพูดตามนัยในพระพุทธศาสนา

การตอบปัญหาในพระพุทธศาสนาเรา   พระพุทธเจ้า  ท่านได้เสนอวิธีการที่จะโต้ตอบปัญหานี้ออกเป็น  4 ประการด้วยกัน  คือว่า

ปัญหาบางอย่างเมื่อมีผู้ตั้งขึ้นแล้ว  ผู้ที่จะแก้ปัญหาก็ต้องตอบด้วยวิธียืนกระต่ายขาเดียว ปัญหาประเภทนี้เรียกว่า “ เอกังสพยากรณ์ “ คือ  การตอบโดยการยืนกระต่ายขาเดียว  

ปัญหาบางอย่างตอบด้วยวิธีการยืนกระต่ายขาเดียวไม่ได้  จะต้องกล่าวจำแนกตามประเภทตามเหตุการณ์  อย่างนี้เรียกว่า “ วิภัชพยากรณ์ “  

ปัญหาบางอย่างผู้ตั้งปัญหาถามขึ้นแล้ว  ผู้ตอบก็ต้องเอาคำถามของเขานี่ยันผู้ถามอย่างนี้  เรียกว่าย้อนหรือเรียกว่าศอกกลับ  ถ้าจะว่าไปแล้วก็เรียกว่าศอกกลับก็ว่าได้  เรียกว่า  ปฏิปุจฉาพยากรณ์  

ปัญหาบางอย่างตั้งขึ้นมาถามแล้วผู้ถามมีเจตนาที่ไม่ใคร่จะบริสุทธิ์  ผู้ตอบพิจารณาเห็นว่า ตอบไปแล้วไม่เกื้อกูลต่อประโยชน์ทั้งใน อดีต ปัจจุบันและอนาคต ก็เป็นสิทธิที่ผู้ตอบจะยกเลิก  ยกปัญหาเสีย ไม่ตอบ อย่างนี้เรียกว่า  ฐปนียพยากรณ์

เป็นวิธีการตอบปัญหาในพระพุทธศาสนา 4 ประการ   วิธีการตอบปัญหา 4 ประการนี้พระพุทธเจ้าได้ทรงใช้มาตลอดสมัยของพระองค์ในการโต้ตอบกับพวกสมณพราหมณ์  เดียรถีนิครนถ์ต่างๆ  ที่เข้ามาลองดีพุทธิปัญญาของพระองค์   หรือผู้ที่เข้ามาตั้งคำถามโดยความเจตนาบริสุทธิ์  ต้องการจะมีความรู้ความสว่างจากพระองค์ก็ต้องอาศัยการพิจารณาของพระองค์ว่าปัญหาเหล่านี้ควรจะตอบด้วยวิธีอะไร  ควรที่จะตอบด้วยเอกังสพยากรณ์ก็ตอบด้วยเอกังสพยากรณ์

ควรที่จะตอบด้วยวิภัชชพยากรณ์ก็ตอบด้วยวิภัชชพยากรณ์  ควรที่จะตอบด้วยปฏิปุจฉาพยากรณ์ก็ตอบด้วยปฏิปุจฉาพยากรณ์  แล้วควรที่จะตอบด้วยฐปนียพยากรณ์ก็ตอบด้วยฐปนียยพยากรณ์ไปตามเรื่อง
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่