'หุ้น' ไม่น่ากลัว...ถ้าลงทุนเป็น

กระทู้สนทนา
โดย : สรวิศ อิ่มบำรุง



ถ้าอยากให้พอร์ตการลงทุนโต เราต้องเชื่อว่าลงทุนในหุ้นเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ เงินถ้าอยู่ในตราสารหรือเงินฝากอย่างเดียว ทำให้เงินหดมากกว่า

ในทุกวิกฤติย่อมมีโอกาส เช่น เส้นทางของ "นคร ตามไท" ผู้บริหารฝ่ายสื่อสารการตลาด บลจ.กสิกรไทย ที่ได้ผันตัวเองจากความล่มสลายของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เข้าสู่เส้นทางสายกองทุนรวมในช่วงวิกฤติต้มยำกุ้งนับจวบจนปัจจุบันก็กว่า 17 ปี บนเส้นทางสายนี้ ถือเป็นอีกหนึ่งคนเบื้องหลังที่เปี่ยมด้วยประสบการณ์และร่ำรวยความสามารถ เป็นส่วนหนึ่งของบลจ.ยักษ์ใหญ่อันดับหนึ่งของอุตสาหกรรมกองทุนไทยในปัจจุบัน วันนี้เขาจะมาแชร์มุมมองด้านการลงทุนให้ฟังกัน

นคร บอกว่า การจะลงทุนอะไรนั้นสำคัญสุดต้องรู้จักตัวเองก่อน ส่วนตัวเป็นคนค่อนข้างระมัดระวังในเรื่องของการลงทุน (Conservative) ในภาพใหญ่ของสินทรัพย์ทั้งหมดจะอยู่ใน "อสังหาริมทรัพย์"ซึ่งจะเน้นที่ดินเป็นหลักทั้งที่เป็นมรดกและของตัวเองบ้าง ถือเป็นสินทรัพย์ที่ไม่ค่อยมีสภาพคล่องแต่เช่นกันในระยะยาวเป็นการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนที่ค่อนข้างดี ประกอบกับตัวเองมีงานประจำ เพราะฉะนั้นการจะไปหารายได้ประจำจากการลงทุนอื่นๆ จึงไม่ค่อยจำเป็นเท่าไร ดังนั้นในส่วนของ "สินทรัพย์ทางการเงิน" ซึ่งเป็นการลงทุนอีกส่วนนั้นก็จะเน้นไปที่การเติบโตเป็นหลัก โดยในส่วนของสินทรัพย์ทางการเงิน 100% นั้น จะเป็นการลงทุนในหุ้น 80% ที่เหลือก็จะกระจายไปในกองทุนที่สร้างการเติบโตผ่านกองทุนที่ไปลงทุนในต่างประเทศ (FIF) เป็นการกระจายความเสี่ยงในการลงทุนอีกทางหนึ่งด้วย ตรงข้ามคนไหนที่ไม่ได้มีรายได้ประจำ ก็อาจจะต้องเริ่มมองหาการลงทุนที่สร้างรายได้ประจำให้กับตัวเองก่อน เช่น กองทุนอสังหาริมทรัพย์ หรือกองทุนตราสารหนี้ เป็นต้น ต้องมองตรงข้ามกับผมไปเลย

"โดยพอร์ตการลงทุนนี้เน้นการสร้างผลตอบแทนสูงสุดเพื่อสร้างความมั่งคั่งในระยะยาวในอนาคตของครอบครัวและตัวเอง โดยมีเป้าหมายผลตอบแทนมากกว่า 8-9% ขึ้นไปเพื่อที่จะเอาชนะอัตราเงินเฟ้อให้ได้ด้วย ถึงส่วนตัวจะเป็นคนคอนเซอร์เวทีฟแต่การลงทุนในหุ้นก็ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด ถ้าเราลงทุนเป็น"

นคร ยังบอกอีกว่า ในส่วนของสินทรัพย์ทางการเงินทั้ง 100% นั้น จะลงทุนผ่านโปรดักส์ที่ช่วยประหยัดภาษีประมาณ 93% เป็นเงินสภาพคล่อง 5% และการลงทุนที่เน้นการเติบโตผ่านกองทุน FIF อีกประมาณ 2% โดยการลงทุนจะผ่านกองทุนรวมทั้งหมดจะเห็นว่าตัวเองให้น้ำหนักกับเรื่องของเครื่องมือทางภาษีค่อนข้างมากทั้งกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) และกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) รวมถึงกองทุนสำรองเลี้ยงชีพด้วยและจะเน้นนโยบายการลงทุนใน "หุ้น" เป็นหลัก เนื่องจากเป็นการออมในระยะยาวจริงๆ เห็นว่าในระยะยาวไม่มีตราสารใดที่ให้ผลตอบแทนได้ดีเท่ากับหุ้น ประกอบกับตัวเองอยู่ในธุรกิจนี้มานานได้เห็นผลการดำเนินงานในระยะยาวของกองทุนหุ้นว่าสามารถทำได้จริง ตัวอย่าง กองหุ้นของบริษัทกองแรกตั้งแต่จัดตั้งกองทุนมาถึงปัจจุบันให้ผลตอบแทนเฉลี่ยประมาณ 400-500% จะเห็นว่าในระยะยาวยังไงก็ให้ผลตอบแทนมากกว่าตราสารหนี้

"ถ้าเราอยากจะทำให้พอร์ตการลงทุนโตขึ้นมาได้ เราต้องเชื่อว่าลงทุนในหุ้นเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ เงินเราถ้าอยู่ในตราสารหนี้อย่างเดียวหรือเงินฝากอย่างเดียว มันคือการที่ทำให้เงินหดมากกว่า เป็นผลกระทบจากอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งถือเป็นศัตรูของการออม ยิ่งเก็บยิ่งน้อย ไม่ใช่แนวทางของผม ในส่วนของสินทรัพย์ทางการเงินผมบริหารเชิงรุก (Aggressive)"

ส่วนตัว นคร เอง มองว่า การกระจาย บลจ.อาจเป็นความเข้าใจที่ไม่ค่อยถูกต้องนัก หากเปรียบเทียบกองทุนที่มีนโยบายการลงทุนอย่างชัดเจน เช่นหุ้นเทียบกับกองทุนหุ้นจริงๆ ก็ลงทุนในตลาดเดียวกัน ความเสี่ยงก็คือความเสี่ยงของตลาดไม่ใช่ความเสี่ยงของบลจ. เนื่องจาก บลจ.ไม่ได้เป็นเจ้าของทรัพย์สินลูกค้าผู้ลงทุนต่างหากที่เป็นเจ้าของทรัพย์สิน ดังนั้นการลงทุนของกองทุนหุ้นที่เหมือนกันก็กระจายอยู่ในตลาดเดียวกัน แต่ถ้ามองในแง่ของการกระจาย บลจ. เพื่อกระจาย "สไตล์การลงทุน" นั้น หากพิสูจน์ได้ว่าสไตล์นี้ "ชัดเจน" และ "ยั่งยืน" ก็สามารถทำได้ แต่ส่วนตัวเห็นว่าภาพสไตล์การลงทุนของบลจ.ในไทยเองก็ยังไม่ได้ชัดเจนขนาดนั้นที่สำคัญสไตล์นั้นยั่งยืนหรือไม่ด้วยนั่นคือสิ่งที่นักลงทุนคงต้องถามตัวเองดูก่อน แต่ส่วนตัวมองว่าบลจ.ในไทยมีสไตล์ที่ใกล้เคียงกัน หากจะแตกต่างกันอาจจะเป็นที่ "ขนาดกองทุน" มากกว่า

"เพราะว่าขนาดกองทุนที่เล็กอาจจะลงทุนหวือหวาได้ สามารถไปโฟกัสหุ้นตัวใดตัวหนึ่งได้เยอะ ถ้าชอบสไตล์แบบนั้นก็โอเค แต่ส่วนตัวไม่เอาฝากให้ใครบริหารของเนิบๆ นิ่งๆ แน่ๆ ดีกว่า คือไม่ค่อยชอบความหวือหวา แล้วผมก็รู้ว่าการกระจายความเสี่ยงในการลงทุนคือไม่ได้ไปโฟกัสในหุ้นตัวใดตัวหนึ่งมากจนเกินไป โดยเฉพาะตลาดเล็กๆ แบบตลาดหุ้นไทย ส่วนตัวเลือกลงทุนส่วนใหญ่ผ่าน "บลจ.กสิกรไทย" เป็นหลัก"

สิ่งที่ นคร ใช้พิจารณาในการเลือกลงทุนโดยเฉพาะบลจ.ที่มีแบงก์เป็นแม่ ก็จะดูแม่เป็นหลักว่าแม่เป็นยังไง รวมถึงความสะดวกสบายในการใช้บริการประกอบด้วย นอกเหนือจากเรื่องของผลการดำเนินงานที่สม่ำเสมอในระยะยาว ในส่วนของตัวบลจ.เอง ถ้า บลจ. มีกำไร ก็น่าจะมีความสามารถในการพัฒนาหลายๆ อย่างได้ ไม่ว่าจะเป็นระบบการลงทุน ระบบทะเบียน ระบบบริการ ตลอดจนบุคลากรเพราะการลงทุนก็จำเป็นต้องใช้เงินเช่นกัน รวมถึงดูทีมบริหารว่ามีทีมใหญ่เพียงพอ มีความสามารถต่อเนื่องในระยะยาวหรือไม่

สไตล์การลงทุนของนคร จะเน้นการลงทุนระยะยาวซื้อแล้วถือเป็นหลัก จะมีการปรับเปลี่ยนโยกย้ายต่อเมื่อภาพใหญ่ของการลงทุนเปลี่ยน เช่นกองทุน RMF ในวิกฤติที่ผ่านมาโยกไปอยู่ในทองคำค่อนข้างมากก่อนที่ราคาทองคำจะปรับตัวลงก็โยกไปเข้ากองทุน RMF-ที่ลงทุนต่างประเทศแทน ก็ออกจากทองคำทันและได้ผลตอบแทนไปพอสมควร ส่วนตัวจะมองจากภาพใหญ่ๆ เป็นหลัก เพราะไม่มีสินทรัพย์อะไรที่จะขึ้นไปได้ตลอดเวลาถึงวันหนึ่งก็ต้องลงจะคอยติดตามข่าวสารการลงทุนอยู่ตลอดเช่นกัน แต่โดยปกติก็จะซื้อแล้วถือ เวลาเข้าออกเป็นก้อนๆ ไม่ได้เฉลี่ยทุกเดือนเพราะไม่ค่อยมีเวลา ทยอยซื้อเมื่อตกขึ้นก็ขาย เป็นแพทเทิร์นที่นักลงทุนควรทำเวลาตกก็ซื้อ เวลาขึ้นก็ขาย ไม่ใช่ขึ้นแล้วไปซื้อ ตกแล้วขายไม่ใช่

ก่อนจาก นคร ฝากว่า นักลงทุนควรจะต้องรู้จักตัวเองก่อน แล้ววางแผนในเรื่องการบริหารค่าใช้จ่ายให้ดี เพราะจะเป็นก้าวแรกที่สำคัญที่จะนำไปสู่เรื่องของการออมและการลงทุนต่อไป เพราะถ้าเริ่มต้นไม่มีเงินเหลือเก็บเงินไม่พอใช้ก็ไม่ต้องไปพูดถึงเรื่องของการออมและการลงทุนเลย ลองหันมาดูรายจ่ายและรายได้ของตัวเองอีกครั้ง ก่อนจะเริ่มลงทุน
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่