Gravity (10/10): สิ่งยึดเหนี่ยว-การปล่อยวาง-ปัญญาญาณ (spoil)



ถ้า Cloud Atlas ของ
พี่น้องอัจฉริยะ Wachowski & Tom Tykwer คือหนังที่ถูกจริตและใช้ภาษาภาพยนต์ได้สมบูรณ์ที่สุดเมื่อปีที่แล้ว (http://2g.ppantip.com/cafe/chalermthai/topic/A13047478/A13047478.html) ปีนี้ผมขอยกให้ Gravity ของ Alfonso Cuarón ได้พิสูจน์ว่า ผู้กำกับอัจฉริยะไม่ว่าทำงานแบบไหนก็จะได้ผลงานที่น่าจดจำทุกครั้งไป
ไม่ขอพูดถึงประสบการณ์ที่น่าทึ่งของการจัดองค์ประกอบ การถ่ายทำ การตัดต่อ ที่คงเห็นได้ชัดเจนอยู่แล้ว แต่จะเน้นถึง “สาร” ที่แฝงอยู่ที่ทำให้ผมรักหนังเรื่องนี้

ขอวิเคราะห์อย่างย่อโดยแบ่งภาพยนต์ออกเป็นสามองค์ดังนี้

องค์แรก: “สิ่งยึดเหนี่ยว”
ตั้งแต่ฉากเริ่มถึงการพยายามไปยานโซยุส เราเห็นถึงความน่ากลัวของสภาพไร้แรงดึงดูด หากเราไม่สามารถหาที่ “เกาะยึด” หรือ “แรงผลักดัน” เราจะลอยอย่างเคว้งคว้างออกไปในความมืดว่างเปล่า เราเห็นการใช้เครื่องขับนำทาง สายเกาะ ไปจนถึงสายร่มของยานฉุกเฉินเป็นสัญลักษณ์

“บางทีเราอาจไม่ได้กลัวที่จะตายหรอก แต่เรากลัวช่วงที่ยังมีชีวิตอยู่อย่างไร้จุดหมายต่างหาก”

ดร.ไรอัน สูญเสียลูกไปเป็นปมที่ทำให้ชีวิตไม่เติมเต็ม ขณะที่องค์นี้เราจะเห็นรูปครอบครัวของนักบินที่เสียชีวิตแสดงถึงสิ่งยึดเหนี่ยวที่นางเอกขาดไป แต่บทก็ยังส่ง Commander อย่างกัปตันโควาสกี้มาเพื่อช่วยเหลือและ “นำทาง” ให้ชีวิตนางเอกในองค์นี้และองค์ถัดไปจนจบ

องค์สอง: “การปล่อยวาง”
องค์นี้เริ่มที่ยานโซยุส เมื่อสายร่มของยานฉุกเฉินไม่สามารถรับแรงเฉื่อยของสองคน โควาสกี้จึงบอกให้นางเอง “รู้จักปล่อย” และก้าวต่อไป ซึ่งเขาแสดงให้เห็นเอง และสุดท้ายสายร่มที่เคยช่วยชีวิตนี้เองกับเป็นตัว “ฉุดรั้ง” ที่ทำให้เกือบเอาชีวิตไม่รอด จนฉากที่นางเอกได้กล่าว “ฉันยังไม่พร้อม” ที่จะตาย และสุดท้ายตัดสินใจปล่อยอ็อกซิเจนออกจากยานหลังคิดว่าหมดหวังแล้ว

“สิ่งที่เรายึดเหนี่ยวท้ายสุดอาจทำให้เราไม่สามารถก้าวไปถึงจุดหมาย เมื่อถึงจุดหนึ่งเราจึงควรรู้จักปล่อยวางและก้าวต่อไป”

องค์สุดท้าย: “ปัญญาญาณ”
ในมุมมองของตะวันตกอาจมองตัวละครอย่างโควาสกี้เป็นพระเจ้า ที่เป็นผู้ชี้ทาง เสียสละ ตัดสินใจอย่างไร้อารมณ์ แต่มุมมองตะวันออกอย่างผมมองตัวละครนี้คือ “พุทธปัญญา” ให้นางเอกเกิดใหม่

ตั้งแต่ฉากการกลับมาอย่างไม่คาดคิด แท้จริงก็คือการเกิด “ปัญญา” ของนางเอก เมื่อสามารถปล่อยวางและได้พุทธปัญญาแล้ว สะท้อนจากการฝากเรื่องลูกสาวกับโควาสกี้ การตัดสินใจเดินหน้าเพื่อไปยังยานเสินโจว โดยมีจุดมุ่งหมายชัดเจนและเข้าใจถึงแก่นแท้แล้วจากคำพูดสุดท้ายใจความว่า “ถึงจะรอดหรือจะตายอย่างน้อยนี่คือประสบการณ์ที่วิเศษที่สุด” เป็นจริงอย่างว่า หากหนังจบลงตรงนี้ ไม่ต้องเล่าต่อว่านางเอกจะเป็นยังไง ก็ยังถือว่าแก่นของภาพยนต์นี้สมบูรณ์แล้ว นั่นคือการบรรลุถึงความหมายของชีวิต

เรายังเห็นสัญลักษณ์พระพุทธรูปในยาน รวมถึงสภาพนางเอกที่เหมือนอยู่ในครรภ์และคลอดออกมาเหมือนได้ “เกิดใหม่”

ใช่แล้วหนังไม่ได้เพียงเล่าเรื่อง การเอาชีวิตรอดจากสภาพไร้แรงโน้มถ่วงจนกลับสู่โลก แต่ยังเล่าเรื่องการเกิดใหม่ของจิตวิญญาณจากการไร้สิ่งยึดเหนี่ยว การปล่อยวาง และการเกิดปัญญาขึ้นมาเพื่อเริ่มชีวิตใหม่

"เมื่อเราใช้ปัญญามองสรรพสิ่ง และละซึ่งตัวตน เราก็จะตายก่อนตายและอยู่อย่างไร้ทุกข์"

10/10 ครับ
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่