(แนะนำ) ไปวัด/ศาลเจ้าญี่ปุ่น อยากได้อะไรเป็นที่ระลึก... ทำไงดี

เวลาคนไทยไปเที่ยวญี่ปุ่น มักจะซื้อ Omamori หรือเครื่องรางมาเป็นของฝากกัน  แต่ว่าที่จริงแล้ว เครื่องรางพวกนี้ตามธรรมเนียมแล้วต้องเปลี่ยนทุกปี พอปีใหม่ เขาก็จะเอาไปคืนที่ศาลเจ้าหรือวัดเดิม แล้วซื้ออันใหม่มาสำหรับปีใหม่ค่ะ  

ซึ่งอย่างเรา คงทำไม่ได้

เราเลยขอเสนอ Option ใหม่ สำหรับคนที่ไปเที่ยวแล้วอยากมี Gimmick เล็กน้อยในชีวิตค่ะ
แต่ไม่ใช่ Omamori ค่ะ

++++++++++++++++++++++
เมื่อก่อนนี้เวลาไปเที่ยววัดหรือศาลเจ้าที่ญี่ปุ่น มักจะเห็นเหล่าลุงๆป้าๆ ยืนรออะไรสักอย่างที่เคาน์เตอร์ใกล้กับที่จ่ายเงินค่าเข้าชม

แต่ช่วงแรกๆก็ผ่านไป ไม่ได้คิดอะไร

ต่อมาเริ่มสังเกตว่า มีคนเขียนอะไรลงบนสมุดอยู่ ขณะที่คนอื่นเฝ้ารออยู่ข้างนอก
มีประทับตราด้วยแฮะ

และ เอ๊ะ  ยื่นคืนให้เจ้าของกลับไปพร้อมคำนับ
ต่างก็ขอบคุณให้แก่กัน
และเก็บสมุดลงในกระเป๋าอย่างอ่อนโยนและเคารพ  

มันคืออะไร?
+++++++++++++++++++++

มันคือสิ่งที่เราเรียกว่า “Go-shuin”  (โกะ ชุ อิน) ค่ะ
คำแปลคือ  การประทับตรา



ส่วนสมุดที่ให้เขียน เรียกว่า Go-shuin-chou



ซึ่งแต่ละวัดจะออกแบบมาไม่เหมือนกัน  มีเอกลักษณ์ของตัวเอง
ขนาดในแต่ละจังหวัด แต่ละย่านก็อาจจะไม่เท่ากัน  
ที่ผ่านมา เพิ่งสังเกตว่าไม่เท่ากัน ก็ตอนบังเอิญไปซื้อเล่มใหม่มาจากจังหวัด Mie เพราะลืมเอาเล่มเดิมไปด้วย  กลับมาจึงรู้ว่า มันขนาดไม่เท่ากัน  

รูปแบบของสมุด เป็นกระดาษหนาขาวไร้เส้นแผ่นยาวพับทบกัน
แล้วปิดด้านหน้า-หลังด้วยกระดาษแข็งหุ้มปก
ด้านซ้ายมือบนของปกมีแถบกระดาษเล็กๆที่ส่วนใหญ่จะเขียนอักษรไว้ (แต่ละวัดก็ต่างกัน)
ภายในเล่ม บางแห่งจะมีตราประทับ หรือมีพิมพ์ข้อความบางอย่างเช่นประวัติของวัดไว้ด้วย

ดังนั้น เฉพาะแค่ตัวสมุดที่สะสมเอง ก็มีเอกลักษณ์แล้ว

ส่วนวิธีใช้และหลักการเก็บสะสม
ข้อแรก :
การเก็บ Go-shuin เป็นการให้เกียรติและให้เรารำลึกถึงความทรงจำในการมาเยี่ยมวัดหรือศาลเจ้าแห่งนั้นอย่างเคารพ ไม่ใช่การสะสม Rally เก็บแต้ม
ข้อสอง :
ค่าใช้จ่ายในการเขียนอักษรพู่กันจีน และตราประทับ  ถือเป็นการถวายให้แก่ศาสนา  อย่าคิดว่ามันแพงเลยค่ะ

รูปแบบของการเขียน  ประกอบไปด้วย ตราประทับ  และ การเขียนอักษรพู่กันจีน (calligraphy)
บางแห่งจะประทับตราก่อน แล้วเขียน บางแห่งจะเขียนก่อนแล้วประทับตรา แต่ผลลัพท์ไม่ต่างกัน

เดิมเราเคยคิดว่ามี form ที่แน่นอนว่าตำแหน่งนี้ของหน้าเขียนข้อความนี้ เขียนชื่อนี้ ตำแหน่งนี้เขียนวันที่
แต่ต่อมาก็ค้นพบว่า หลักการใดก็ใช้ไม่ได้ บางแห่งก็ประทับตรา เขียนแค่ด้านขวา ลงวันที่ เท่านั้นจบ อย่างที่ Ise Jingu บางแห่งเขียนเสร็จมีกระดาษแทรกพิมพ์รายละเอียดมาเรียบร้อย บรรยายว่าตำแหน่งไหนคืออะไร อย่างที่ Sanjusangendo

เดิมเคยคิดว่า ยิ่งวัดใหญ่ และสำคัญ น่าจะเขียนให้ซับซ้อนและดูสวยงาม
แต่ก็พบว่า Ise Jingu  ศาลเจ้าที่ใหญ่และสำคัญที่สุดในญี่ปุ่น  เขียนน้อยที่สุด และดูธรรมดาที่สุด

เดิมเคยคิดว่า ความสวยงามของการเขียนพู่กันจีน น่าจะมีหลักการเดียว คือเส้นแบบนี้ ตวัดแบบนี้
แต่ก็พบว่า ตัวเองเองกลับชอบลายเส้นขยุกขยุยและดูไม่สม่ำเสมอ ของ Heian Jingu มากกว่าลายเส้นอลังการงานสร้างของอีกหลายๆแห่ง

เดิมเคยคิดว่า ค่าตอบแทนการเขียน Go-shuin มีราคาเดียวคือ 300 Yen  
แต่ก็พบว่า  หากลืมเอาสมุดมา และให้เขาเขียนลงในกระดาษขาวบางให้ ราคาจะเพิ่มเป็น 500 Yen รวมทั้งได้ยินมาว่า บางแห่งในโตเกียว ค่าเขียนลงสมุดปกติก็ 500 Yen เช่นกัน

เดิมเคยคิดว่า สมุดมีขนาดเดียว
แต่ก็พบว่า แค่ข้ามจังหวัด ขนาดก็ต่างกันได้แล้ว   คงเหมือนเสื่อทาทามิ ที่ขนาดไม่ได้เท่ากันไปทุกที่
รวมทั้งความหนา ที่พบว่า มีขนาดยาวพิเศษด้วย  (ราคาเพิ่มจาก 1000 Yen เป็น 3000 Yen)
(ขนาดเล่มปกติอยู่ที่ 22-26 แผ่น)

++++++++++++++++++++++++++++++
เมื่อเดินเข้าวัดหรือศาลเจ้า ให้สอบถามตรงที่ซื้อตั๋วได้เลย ว่า “Go-shuin wa doko desuka?” แปลว่า เขียนตราประทับได้ที่ไหนคะ  
ส่วนใหญ่แล้วมักจะอยู่ที่เดียวกับที่จ่ายเงินหรือใกล้กัน   แต่บางแห่งก็จะจัดให้อยู่ในตัววัดหรืออาคารอื่น  ก็ต้องตามเขาไป
มองหาคือว่า “Go-shuin jyo = 御朱印所” นั่นคือสถานที่สำหรับเขียน Go-shuin  
เอาสมุดให้เขา แล้วบอกว่า “Go-shuin onegai shimasu” ขอความกรุณาเขียน Go-shuin ให้ด้วยค่ะ

บางแห่ง เขาจะบอกให้เราเข้าไปเดินในวัดก่อนแล้วค่อยออกมารับสมุด โดยอาจมีเบอร์ให้เราเอาไปด้วย แล้วเอามาแสดงตอนมารับ   ระบบนี้มักจะเป็นที่วัดหรือศาลเจ้าใหญ่หน่อยที่ต้องเขียนปริมาณเยอะๆ เขาจะไม่อยากให้ออกันอยู่ตรงทางเข้า
สำหรับเราก็สะดวกดี

ถ้าใครยังไม่มีสมุด สามารถสอบถามซื้อสมุดได้ที่จุดนี้  (แต่บางแห่งก็ไม่มีขาย)
หรือถ้าใครลืมเอาสมุดมา และยังไม่อยากซื้อใหม่ ก็ขอซื้อเป็นกระดาษขาวบางทบเป็นสี่ชั้นเขียน Go-shuin ไปก็ได้ แล้วค่อยเอาไปแทรกในสมุดเดิม  แต่ราคาจะแพงขึ้นอีกหน่อย เป็น 500 Yen

บางแห่ง ไม่อนุญาตให้ถ่าบรูปตอนเขียน แต่บางแห่งก็ไม่ว่าอะไร  
ขอให้สอบถามก่อน น่าจะดี

หากคนความจำไม่ดี และอ่านภาษาญี่ปุ่นไม่ออก(เช่นเราเอง) ด้านหลังของหน้าที่เขียน จะจดเอาไว้ว่า เขียนที่ไหน เมื่อไหร่ เมื่อกลับมาดูทีหลังจะได้ไม่งง และระลึกได้ว่าเราไปไหนมาบ้าง บรรยากาศเป็นอย่างไร

สนุกดีค่ะ  ใครไปขอให้ลองดู

ปล. 1  การประทับ Go-shuin ที่ไม่ได้เขียนลงบนกระดาษก็มีค่ะ อย่างคนที่ไปแสวงบุญ Shikoku Pilgrimage  ใส่เสื้อขาวแสวงบุญ สามารถให้ประทับตราลงบนเสื้อได้ค่ะ
ปล. 2  สมุด Go-shuinchou แบบพิเศษ สำหรับบางจุดประสงค์ อย่างการแสวงบุญ Kansai Kannon Pilgrimage (33 วัด) หรือ Shikoku Pilgrimage (88 วัดแน่ะ!) จะต่างจากสมุด Go-shuin ทั่วไปค่ะ
ปล. 3  สมุดแบบที่ไม่ได้ขายในวัด พอมีให้เห็นบ้าง แบบน่ารักๆสมัยใหม่ก็มีค่ะ  เคยเห็นที่ Okage Yokocho ในเมือง Ise และที่ร้านเล็กๆหน้าวัด Kokedera ค่ะ
ปล. 4  ไม่ใช่ทุกวัดและศาลเจ้าจะมีการประทับตรานี้  วัดบางแห่งในนิกาย Joudo Shinshuu ก็ไม่มี Go-shuin ค่ะ  เช่น Nishi และ Higashi Honganji ในเกียวโต วัดใหญ่มากๆ แต่ก็ไม่มี Go-shuin ค่ะ

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่