กองทุนรีทส่อเลื่อนรอเคาะภาษี

กระทู้สนทนา
โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์


ก.ล.ต.เผยการออกกองทุนทรัสต์เพื่อลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ หรือรีท ส่อเค้าไม่ทันปีหน้าตามกำหนด เหตุรอสรรพากรเคาะสิทธิประโยชน์ภาษี

นายชาลี จันทนยิ่งยง รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า ขณะนี้การจัดตั้งกองทุนทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ หรือ รีท (REIT) ยังไม่ได้ข้อสรุปเรื่องสิทธิประโยชน์ด้านภาษีเงินปันผลสำหรับบุคคลธรรมดา และนิติบุคคลจากกรมสรรพากร โดยอยู่ระหว่างการพิจารณาของกรมสรรพากร จึงไม่แน่ใจว่าจะทันตามกำหนดที่คาดว่าจะเริ่มใช้ได้ในช่วงปีหน้าหรือไม่

ทั้งนี้กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ ที่มีการยกเว้นภาษี เพราะทำมาตั้งแต่ยุคหลังปี 2540 ที่ต้องการส่งเสริมให้มีการจัดตั้งกองทุนดังกล่าวเพื่อกระตุ้นตลาดทุน แต่การทำกองรีท จะต้องมีการเสียภาษีเงินได้ 7% ในการโอนขายหน่วยลงทุน ขณะที่ต้องเสียภาษีจากเงินปันผลอีก โดยบุคคลธรรมดาจะเสียภาษีที่ 10% และนิติบุคคลจะเสีย 20% รวมไปถึงผู้ที่จะจัดตั้งกองรีท เมื่อขายสินทรัพย์เข้ากองทุนไปแล้ว หากจะเข้าลงทุนในกองนั้นๆ ก็ต้องเสียภาษีอีกครั้งหนึ่ง

"ขณะนี้เกณฑ์เหล่านี้ยังไม่ลงตัว และยังไม่ได้ข้อสรุป เรื่องยังอยู่ที่กรมสรรพากร จึงไม่แน่ใจว่าจะออกทันปีนี้หรือเปล่า โดยทาง ก.ล.ต.ยังหวังว่าจะเกิดขึ้นในเร็วๆ วันนี้ เพราะยิ่งยืดเยื้อยิ่งเสียโอกาส โดยภาครัฐเองหรือสรรพากรเองก็จะได้รับประโยชน์จากเงินภาษีดังกล่าว เพื่อนำไปพัฒนาประเทศชาติต่อไป"

นายชาลี กล่าวอีกว่า การมี REIT คือการแก้ปัญหาและอุดช่องโหว่ของกองทุนอสังหาริมทรัพย์ประเภท 1 ซึ่งผู้ลงทุนที่ได้เงินปันผล ก็จะไม่ต้องเสียภาษี ก.ล.ต.จึงมีการนำเสนอ REIT เพื่อมาทดแทนกอง 1 ซึ่งรัฐและสรรพากรจะได้ประโยชน์ เพราะเงินปันผลที่ผู้ลงทุนได้รับไปจะต้องเสียภาษี หากสรรพากรเร่งรีบดำเนินการเรื่องนี้ REIT น่าจะใช้ได้ปีหน้า แต่หากไม่สามารถสรุปได้ ก็อาจต้องเลื่อนการใช้ออกไปก่อน

สำหรับกรณีที่มีข่าวว่า บริษัท บางกอกแลนด์ (BLAND) ได้มีการยื่นคำขอจัดตั้งกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (รีท) นั้นเนื่องจากปัจจุบันเกณฑ์ดังกล่าวยังอยู่ระหว่างการแก้ปัญหาเรื่องข้อสรุปด้านสิทธิประโยชน์ด้านภาษีจากกรมสรรพากร ในเมื่อเกณฑ์ยังไม่ได้เริ่มใช้ จึงยังไม่มีบริษัทใดยื่นเจตจำนงเพื่อข้อจัดตั้งกองรีท

ก.ล.ต.มีแผนการในการแก้ไขกฎเกณฑ์การซื้อขายหน่วยลงทุนในกองทุนรวมให้เทียบเท่ามาตรฐานยุโรป เพื่อให้มีความเป็นสากลมากยิ่งขึ้น และยกระดับกองทุนรวมไทยให้เป็นไปตามมาตรฐานโลก แต่ปัจจุบันยังติดปัญหาเรื่องขนาดของตลาดกองทุนรวมในประเทศที่ยังไม่ใหญ่พอ อีกทั้งผลิตภัณฑ์ด้านกองทุนก็ยังไม่มากและหลากหลายพอ ซึ่งทาง ก.ล.ต.จะหารือกับผู้เกี่ยวข้องเพื่อต่อไปถึงแนวทางแก้ไขต่อไป

แหล่งข่าวจากบริษัทจดทะเบียน (บจ.) กล่าวว่า มีความเป็นไปได้ที่การจัดตั้งกอง REIT จะต้องเลื่อนออกไปจากเดิม เนื่องจากยังติดขัดในเรื่องของภาษี โดยเดิมทีผู้ประกอบการหลายรายที่มีความต้องการออกกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ เตรียมจะออกเป็นกองทรัสต์เพื่อลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีของกองทุนอสังหาริมทรัพย์จะหมดลง แต่ภายหลังได้รับสัญญาณจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า กองทรัสต์ฯอาจจะต้องเลื่อน เพราะเรื่องการคิดอัตราภาษียังไม่ได้ข้อสรุป ทำให้ผู้ประกอบการต้องกลับมาออกเป็นกองทุนอสังหาฯเหมือนเดิม

ด้านนายอนันต์ กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บริษัท บางกอกแลนด์(BLAND) เปิดเผยว่า ตามที่ปรากฏข่าวว่า บริษัท อิมแพ็ค เอกซิบิชั่น แมเนจเม้นท์ จำกัด (IMPACT) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัทไม่ได้มีการยื่นคำอนุญาตต่อ ก.ล.ต. เพื่อขออนุญาตจัดตั้งและเสนอขายหน่วยทรัสต์ของกองทุนทรัสต์ เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ อิมแพ็ค โกรท (Impact Growth REIT) ซึ่งจะจัดตั้งขึ้นเพื่อเข้าลงทุนในทรัพย์สินหลักทั้ง 4 ของโครงการอิมแพ็ค เมืองทองธานี อันได้แก่ ศูนย์จัดการแสดงอิมแพ็คอารีน่า ศูนย์แสดงสินค้าและนิทรรศการนานาชาติ รวมถึงสถานที่สำหรับจัดงานในร่ม IMPACT ศูนย์การประชุมอิมแพ็คฟอรั่ม และอาคารอิมแพ็คชาเลนเจอร์ ขอชี้แจงว่าไม่เป็นความจริง

โดยบริษัท อาร์ เอ็ม ไอ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อย 100% ของบริษัท อิมแพ็คฯได้ยื่นเอกสารประกอบคำขออนุญาตเสนอขายหน่วยทรัสต์ของกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ อิมแพ็ค โกรท (Impact Growth reit) ต่อสำนักงาน ก.ล.ต.ไปเมื่อวันที่ 8 ส.ค.2556 และปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของ ก.ล.ต.และตลาดหลักทรัพย์

ก่อนหน้านี้บริษัทบางกอกแลนด์ ประกาศแผนจัดตั้งกองทุน REIT ของบริษัท อิมแพ็คเอ็กซิบิชั่น แมนเนจเม้นท์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อย โดยมีมูลค่าราว 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะขายหน่วยลงทุนดังกล่าวได้ในไตรมาส 4/56

ขณะที่บริษัททรู คอร์ปอเรชั่น ซึ่งมีบริษัทลูกเป็นผู้ดำเนินธุรกิจ โทรศัพท์เคลื่อนรายใหญ่อันดับ 3 ของไทย แจ้งว่า ที่ประชุมผู้ถือหุ้นอนุมัติให้บริษัท ออกกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน มูลค่าราว 6-8 หมื่นล้านบาท

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่