'ชุมชนปฏิบัติในการเรียนรู้'

กระทู้ข่าว
'ชุมชนปฏิบัติในการเรียนรู้' 'ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ' : คอลัมน์ท่องโลกการเรียนรู้ : โดย...หทัยรัตน์ ดีประเสริฐ
               “แรงบันดาลใจที่ทำให้มาเป็นครูคือ ตอนที่ได้ศึกษาต่อปริญญาโท สาขาการจัดการมนุษย์กับสิ่งแวดล้อมที่เชียงใหม่ ได้ศึกษานิเวศวิทยาการเมืองในโลกที่สามอย่างจริงจัง โดยเรียนกับ อ.ดร.ชูศักดิ์ วิทยาภัค และ อ.ดร.ชยันต์ วรรธนะภูติ อ.ฉลาดชาย รมิตานนท์ และอาจารย์อีกหลายท่าน และทำวิทยานิพนธ์เรื่องนิเวศวิทยาการเมืองของการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ในประเทศไทย กรณีศึกษาโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น ที่นั่นสอนให้นำวิชาการไปรับใช้สังคม หลังเรียนจบ ได้ร่วมทำงานกับ อ.ชยันต์ ที่ปากมูล นำความรู้ด้านนิเวศวิทยาการเมืองที่เรียนมามาปรับใช้ชาวบ้านที่ปากมูล โดยร่วมกับ อ.ชยันต์ คิดค้นงานวิจัยไทบ้าน ซึ่งเป็นการวิจัยแบบใหม่มาให้ชาวบ้านทำเพื่อให้มีหลักฐานทางวิชาการไปเจรจาต่อรองกับรัฐและอธิบายต่อสังคม ถือได้ว่าเป็นการเมืองของความรู้อย่างแท้จริง ต่อมาได้รับทุนเรียนปริญญาเอกสาขาไทศึกษาที่เน้นด้านมานุษยวิทยา ที่มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เมื่อเรียนจบจึงเป็นอาจารย์ใช้ทุนที่ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ และสอนหนังสือมาจนถึงทุกวันนี้"ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ กล่าว
               ไชยณรงค์ จบ ม.3 โรงเรียนสุราษฎร์ธานี มาเรียนต่อช่างเกษตร คณะเทคโนโลยีการเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และจบปริญญาตรีคณะวิศวกรรมศาสตร์ ที่เดียวกัน ตอนเป็นนักศึกษาได้อ่านหนังสือ "ปีศาจ, คนขี่เสือ, แม่, หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว ฯลฯ" และได้แรงบันดาลใจจากหนังสือเหล่านี้ เลยไปทำงานองค์การนักศึกษา และชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติและสภาพแวดล้อม เป็นประธานค่ายที่ทำกับชาวบ้านรอบป่าโนนใหญ่ จ.ศรีสะเกษ ต่อสู้กับบริษัทเอกชนที่มาสัมปทานพื้นที่ป่าเพื่อปลูกยูคาลิปตัส กระทั่งเป็นกรรมการของคณะกรรมการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 15 สถาบัน หรือ คอทส. ร่วมเคลื่อนไหวแทนทาลัมที่ภูเก็ต และต่อมาก็เป็นผู้ประสานงานของ คอทส. องค์กรที่มีบทบาทเคลื่อนไหวคัดค้านเขื่อนน้ำโจน ที่ จ.กาญจนบุรี จนรัฐบาล พล.อ.เปรม ชะลอโครงการออกไป นับเป็นชัยชนะครั้งใหญ่ของนักศึกษาและประชาชนในยุคนั้น
                ด้วยความที่ไม่ได้เรียนจบครูมาในการสอนนิสิต จึงใช้วิธีการเรียนการสอน ที่ได้รับการฝึกมาระหว่างการเรียนปริญญาโทและปริญญาเอก มาสอนนักศึกษา ด้วยการหาบทความทางวิชาการที่มีแนวคิดทางทฤษฎีร่วมสมัย และนำมาอธิบายปรากฏการณ์ทางสังคมที่กำลังเกิดขึ้น มาให้นิสิตอ่านและแลกเปลี่ยนในชั้นเรียน นิสิตต้องไปค้นข่าวหรือสารคดี เช่น เรื่องเกี่ยวกับเหมืองทองคำ หรือ โรงแต่งแร่คลิตี้ ที่ทำให้ชาวบ้านเจ็บป่วยและไม่ได้รับความเป็นธรรมมาอภิปรายกันและทดลองนำแนวคิดทฤษฎีไปอธิบาย โดยจะช่วยอธิบายแนวคิดให้นิสิตเข้าใจชัดเจนมากยิ่งขึ้นและพยายามสอนให้นิสิตใช้แนวคิดเป็น
               แทบทุกวิชาที่ อ.ไชยณรงค์ สอน จะนำนิสิตลงศึกษาภาคสนามด้วย ซึ่งการศึกษาภาคสนามนี้จำเป็นมากๆ เพราะทำให้นิสิตได้สัมผัสและเรียนรู้จากของจริง ไม่ใช่แค่จากการอ่านหรือถกเถียงกันในชั้นเรียน ที่สำคัญคือ ในการลงภาคสนามทุกครั้ง เขาจะไปกับนิสิตตลอด ไม่ใช่แค่ไปดูแล แต่ช่วยแนะนำนิสิต ตอบคำถามเมื่อมีข้อสงสัย ขณะเดียวกันก็ได้เรียนรู้จากการลงสนามร่วมกับนิสิตด้วย เท่าที่ทำมาคิดว่าการศึกษาแบบนี้จะทำให้เกิดประสิทธิภาพในการเรียนสูง
               "ทุกปีต้องดูแลนิสิตสาขาการพัฒนาชุมชนประมาณ 10-15 คน ที่มาฝึกงาน ถ้าเป็นแรงงานข้ามชาติก็ไปราชบุรี สมุทรสาคร สระบุรี ชาติพันธุ์ ก็ส่งไปฝึกกับศูนย์ชาติพันธุ์ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จะพาเขาไปสำรวจพื้นที่และให้เขาเลือกเอง ดังนั้นเรื่องที่เขาเลือกก็เป็นปรากฏการณ์ทางสังคมใหม่ๆ เช่น เรื่องบังกลามุสลิม โรฮิงญา หรือไทยพลัดถิ่นที่ภาคใต้และภาคเหนือ การสอน จึงมุ่งไปที่การเปิดโอกาสให้พวกเขาได้แสดงศักยภาพอย่างเต็มที่ ขณะเดียวกันก็คอยแนะนำในทางวิชาการ รวมทั้งเทคนิคการลงสนามแบบมานุษยวิทยาที่เคยถูกฝึกฝนมา และใช้วิธีชุมชนปฏิบัติมาใช้กับนิสิต โดยการให้พี่สอนน้อง และนิสิตช่วยเหลือกันในการเรียน คนเก่งก็ช่วยคนไม่เก่ง นิสิตต้องรู้จักเพื่อนของผมทั้งที่เป็นอาจารย์ด้วยกัน รู้จักอาจารย์ของผม และรู้จักเพื่อนที่ทำงานพัฒนาหรือสื่อมวลชน รวมทั้งชาวบ้านที่ผมสัมพันธ์ด้วย ผมจะพานิสิตเข้าร่วมการสัมมนาต่างๆ ทั้งทางวิชาการและการสัมมนาของภาคประชาชนให้มากที่สุดที่มีโอกาส" อ.ไชยณรงค์ กล่าว
               เขาบอกว่า การเรียนการสอนวิถีชุมชนปฏิบัตินี้สำคัญมาก เหมือนสมัยก่อน ที่ใครอยากมีวิชาความรู้ก็ต้องไปเสาะแสวงหาจากอาจารย์ มีศิษย์ร่วมสำนัก มีวิถีปฏิบัติต่อกันในฐานะที่เป็นศิษย์ร่วมสำนักด้วยวิธีการสอนอย่างนี้ จึงแทบไม่ต้องสอนให้เขาตั้งคำถามเกี่ยวกับความยุติธรรมที่เกิดขึ้นในสังคมเลย แต่นิสิตจะเกิดความคิดขึ้นมาเอง นิสิตที่เลือกเรียนกับผมจะมีประมาณ 10 คนต่อปี ที่สนใจปัญหาของชาวบ้านหรือปัญหาของสังคมอย่างจริงจัง บางรุ่นระหว่างเรียนก็รวมตัวกันเองจัดตั้งกลุ่มขึ้นมาลงไปศึกษาปัญหาของชุมชน เช่น ชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากเหมืองทอง จ.เลย บางครั้งลงไปร่วมชุมนุมกับชาวบ้านโดยพวกเขาตัดสินใจกันเอง ส่วนที่จบไปก็ไปเป็นนักพัฒนาเอกชน รับราชการในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับแรงงานข้ามชาติ บางคนก็ไปเรียนต่อระดับปริญญาโท
               "การสอนนั้น ไม่ได้ต้องการให้นิสิตมีแค่ความรู้และทำข้อสอบได้ แต่ผมจะสอนนิสิตเสมอว่าต้องวิเคราะห์สังคมได้ ต้องไปเรียนรู้จากชาวบ้าน ต้องถือว่าชาวบ้านเป็นครูคนหนึ่งของเรา ซึ่งเราจะต้องเคารพและนอบน้อมต่อชาวบ้าน ระหว่างที่เรียนอยู่หรือจบไป ก็ขอให้นำวิชาการไปรับใช้สังคมเหมือนที่ผมถูกสอนมา ผมคิดว่ากระบวนการทั้งหมดนี้คือการสร้างคน แน่นอนว่า การสอนแบบนี้ต้องใช้พลังมาก แต่หากทำได้ตามที่ตั้งใจก็คุ้มแล้วกับการเป็นอาจารย์" อ.ไชยณรงค์ กล่าว
               และนี่คือผลของการเรียนรู้โดยใช้วิธีการชุมชนปฏิบัติ (Community of practice) ซึ่งหมายถึงการทำให้นิสิตได้เรียนรู้ร่วมกันจนกลายเป็นชุมชนของการเรียนรู้นั่นเอง
               
.........................
('ชุมชนปฏิบัติในการเรียนรู้' 'ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ' : คอลัมน์ท่องโลกการเรียนรู้ : โดย...หทัยรัตน์  ดีประเสริฐ)

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่