แมงกะพรุนแผลงฤทธิ์ปิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์

ที่มา: หนังสือพิมพ์ คม ชัด ลึก วันเสาร์ที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2556



แมงกะพรุน สิ่งมีชีวิตรูปร่างคล้ายร่ม มีหนวดรุ่มร่าม เนื้อตัวคล้ายเยลลี่ที่มีทั้งแบบใสและขุ่น ที่จะอาศัยกระแสน้ำพัดพาตัวเดินทางไปยังแหล่งอาหาร เป็นสิ่งมีชีวิตหน้าประหลาดที่พบได้ในแทบทุกพื้นที่ของโลก ยกเว้นในบริเวณขั้วโลกเหนือและใต้ที่มีอากาศหนาวเย็นเท่านั้น

เป็นที่รู้กันดีว่า สัตว์ประเภทนี้จะมีหนวดพิษไว้ใช้ดักจับเหยื่อประเภทปลา กุ้ง หรือสัตว์น้ำชนิดอื่นๆ ที่ลอยเข้ามาในรัศมีหนวด และหนวดพิษนี้เองได้สร้างปัญหาให้ผู้คนที่นิยมเล่นน้ำทะเล เพราะเมื่อสัมผัสเข้ากับหนวดแมงกะพรุนทีไร มักจะได้อาการคัน แสบร้อนบนผิว แมงกะพรุนบางชนิดยังมีพิษร้ายแรงทำให้มนุษย์เสียชีวิตกันเลยทีเดียว อย่างเช่นแมงกะพรุนกล่อง (Box jellyfish) และแมงกะพรุนอิรุคันจิ (Malo kingi) ที่พบได้ตามชายฝั่งตะวันออกและตะวันตกของออสเตรเลีย


Chironex fleckeri หนึ่งในสายพันธุ์ของแมงกะพรุนกล่อง
ที่มา: http://en.wikipedia.org/wiki/Chironex_fleckeri




แมงกะพรุนอิรุคันจิในหลอดพลาสติก
ที่มา: http://en.wikipedia.org/wiki/Irukandji_jellyfish




แต่นอกจากพิษของแมงกะพรุนจะทำให้มนุษย์เป็นอันตรายแล้ว แมงกะพรุนยังเป็นต้นหตุที่ทำให้โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ต้องปิดตัวกันเลยทีเดียว

เรื่องนี้เกิดขึ้นที่เมืองออสคาชามน์ ประเทศสวีเดน ที่เป็นเมืองชายฝั่งทะเลบอลติก และมีโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ออสคาชามน์-3 ตั้งอยู่ โรงไฟฟ้าแห่งนี้ผลิตไฟฟ้าได้มากถึง 1,400 เมกะวัตต์ หรือคิดเป็น 5% ของปริมาณไฟฟ้าทั้งหมดที่ผลิตขึ้นมาหล่อเลี้ยงประเทศสวีเดน เมื่อมีแมงกะพรุนจำนวนมากเข้าไปอุดท่อนำน้ำทะเลเพื่อใช้หล่อเย็นเตาปฏิกรณ์ จนทำให้ระบบไม่สามารถทำงานได้ จนต้องปิดทำการบำรุงรักษาชั่วคราวตั้งแต่วันอังคาร (1 ต.ค.) ก่อนที่จะเปิดใช้งานได้อีกครั้งในวันพุธ (2 ต.ค.)


ตำแหน่งโรงไฟฟ้านพลังงานนิวเคลียร์ออสคาชามน์


ดูแผนที่ขนาดใหญ่ขึ้น

การที่ฝูงแมงกะพรุนบุกโรงไฟฟ้านิวเคลียร์โดยไม่ได้ชูป้ายประท้วงหรือส่งสัญญาณไปบอกเจ้าของโรงไฟฟ้าก่อนนั้น เคยเกิดขึ้นมาแล้วกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ออสคาชามน์-1 เมื่อเดือนสิงหาคม 2548 รวมทั้งโรงไฟฟ้าอีกหลายแห่งในโลก ตั้งแต่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของบริษัทอิเลกทริไซท์ เดอ ฟรานซ์ เอสเอ ในสกอตแลนด์ เมื่อปี 2554 จนถึงโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของบริษัทเน็กซ์อีรา เอนเนอร์ยี่ ในรัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา ในปีเดียวกัน

แมงกะพรุนที่ก่อเหตุในครั้งนี้อยู่ในสกุลออเรเลีย (Aurelia) หรือกลุ่มแมงกะพรุนพระจันทร์ ซึ่งเป็นพันธุ์ที่พบได้โดยทั่วไปในชายฝั่งยุโรปและอเมริกาเหนือ โดยมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางใหญ่ที่สุดราว 40 เซนติเมตร แต่การที่แมงกะพรุนมีจำนวนมากเป็นพิเศษนั้น เป็นปรากฏการณ์ที่ไม่ค่อยจะเกิดขึ้นบ่อยนัก ซึ่ง "บุนด์" (Bund für Umwelt und Naturschutz Deutschland: BUND) กองทุนอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในประเทศเยอรมนี อธิบายว่า สาเหตุมาจากการที่อุณหภูมิโลกสูงขึ้น และการทำประมงมากเกินไป ทำให้สัตว์น้ำตัวจิ๋วประเภทแพลงตอนที่เป็นอาหารของแมงกะพรุนและสัตว์อีกหลากหลายชนิดเพิ่มจำนวนขึ้นมากมายมหาศาล ทำให้ประชากรแมงกะพรุนเติบโตอย่างรวดเร็วและมีจำนวนมากขึ้นมาก


Aurelia aurita แมงกะพรุนพระจันทร์สายพันธุ์ที่พบได้ในมหาสมุทรแอตแลนติก
ที่มา: http://en.wikipedia.org/wiki/Aurelia_aurita

แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่