ในหลวงกับพระพุทธศาสนา

กระทู้คำถาม
พระมหากษัตริย์ไทยกับพระพุทธศาสนา

ในเรื่องของการยอมรับนับถือพระพุทธศาสนาของชนชาติไทย ซึ่งมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขนั้นมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ปรากฏอยู่หลายทาง  ไม่ว่าจะจากการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระเจ้าอโศก-มหาราชเข้ามาทางอาณาจักรสุวรรณภูมิ  (ปัจจุบันคือนครปฐม)   เมื่อปี พ.ศ.๒๓๔  หรือจากศิลาจารึกเก่าแก่ชื่อว่า “จารึกอาณาจักรน่านเจ้า”   ที่เชื่อกันว่ากระทำโดยนักปราชญ์จีน “เชงเหว” เมื่อปี พ.ศ.๑๓๐๙ จึงกล่าวได้ว่าพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติไทยมาตั้งแต่โบราณกาล  และพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ก็ล้วนทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจเพื่อการทำนุบำรุงและปกป้องคุ้มครองพระพุทธศาสนาสืบต่อมาทั้งสิ้น แม้องค์ปฐมบรมกษัตริย์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ก็ได้ทรงแสดงพระราชปณิธานไว้ในนิราศท่าดินแดงว่า

“ตั้งใจจะอุปถัมภก               ยอยกพระพุทธศาสนา
จะป้องกันขอบขัณฑสีมา     รักษาประชาชนและมนตรี”

ซึ่งก็ได้ทรงปฏิบัติตามพระราชปณิธานนั้นมาโดยตลอด  และพระมหากษัตริย์รัชกาลต่อๆ มาก็ได้ทรงทำนุ-บำรุงพระพุทธศาสนาทุกพระองค์อย่างต่อเนื่องจนถึงรัชกาลปัจจุบัน


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงผนวช


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเรานั้นทรงสนพระราชหฤทัยในพระพุทธศาสนามาตั้งแต่ทรงพระเยาว์  ทรงเคยได้รับการปลูกฝังความรู้ความเข้าใจจากสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชนนีมาก่อนแล้ว  ต่อมายังได้ทรงศึกษาค้นคว้าด้วยพระองค์เอง และทรงศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาอย่างมั่นคง  จึงเมื่อวันที่ ๑๘ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๙๙  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ได้ทรงแถลงพระราชดำริที่จะบรรพชาอุปสมบทต่อมหาสมาคม    อันประกอบด้วยพระบรมวงศานุวงศ์และคณะทูตานุทูตความตอนหนึ่งว่า

“โดยที่พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่ดีศาสนาหนึ่ง  เนื่องในบรรดาสัจธรรมคำสั่งสอนอันชอบด้วยเหตุผล จึงเคยคิดอยู่ว่าถ้าโอกาสอำนวย ข้าพเจ้าควรจักได้บวชสักเวลาหนึ่งตามราชประเพณี ซึ่งจักเป็นทางสนองพระเดชพระคุณพระราชบุพการีตามคตินิยมด้วย  และนับตั้งแต่ข้าพเจ้าได้ครองราชย์สืบสันตติวงศ์ต่อจากพระเชษฐาธิราช ก็ล่วงมากว่าสิบปีแล้ว  เห็นว่าน่าจะถึงเวลาที่ควรจะทำตามความตั้งใจไว้นั้นแล้วประการหนึ่ง     อนึ่ง การที่องค์สมเด็จพระสังฆราชหายประชวรมาได้ในคราวประชวรครั้งหลังนี้ก่อให้เกิดความปิติยินดีแก่ข้าพเจ้ายิ่งนัก  ได้มาคำนึงว่าถ้าในการอุปสมบทของข้าพเจ้า ได้มีองค์สมเด็จพระสังฆราชเป็นพระอุปัชฌาย์    แล้วก็จักเป็นการแสดงออกซึ่งความศรัทธาเคารพในพระองค์ท่านของข้าพเจ้าได้อย่างเหมาะสมอีกประการหนึ่ง   จึงได้ตกลงใจที่จะบรรพชาอุปสมบทในวันที่ ๒๒ เดือนนี้”

จากนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ได้ทรงผนวช ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม  ในวันที่ ๒๒  ตุลาคม  พ.ศ.๒๔๙๙   โดยสมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า (มรว.ชื่น นพวงศ์)   ฉายาสุจิต.โต  วัดบวรนิเวศวิหารทรงเป็นพระราชอุปัชฌาย์ ทรงได้รับพระสมณนามว่า “ภูมิพโลภิกขุ”

ระหว่างทรงผนวชได้เสด็จไปประทับ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ทรงโปรดเกล้าฯ ให้กรมศิลปากรปั้นหุ่นและสร้างพระพุทธรูปปางห้ามสมุทร มีพระนามของพระพุทธรูปว่า พระพุทธนาราวันตบพิตร  ระหว่างที่ทรงผนวชพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงบำเพ็ญพระราชจริยาวัตรดุจพระนวกะทั่วไป  ทรงศึกษาพระธรรม และปฏิบัติตามพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด  นอกจากนั้นยังได้พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ราษฎรได้เฝ้าถวายธูปเทียน-ดอกไม้ทุกวัน  แล้วได้ทรงนำธูปเทียน-ดอกไม้นั้นไปถวายสักการะบูชาพระรัตนตรัยในโอกาสเสด็จทำวัตรเป็นประจำทุกเช้าทุกเย็น  ทั้งยังเสด็จพระราชดำเนินออกทรงรับบาตรจากประชาชนทั่วไปอีกด้วย  ในช่วงที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงดำรงอยู่ในสมณเพศนั้น ได้ทรงตั้งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์  ซึ่งก็ได้ทรงปฏิบัติพระราชภารกิจได้เป็นที่เรียบร้อย  ดังนั้น เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงลาผนวชแล้ว จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เฉลิมพระอภิไธยให้เป็น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ  เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๙๙


ทรงเป็นเอกอัครศาสนูปถัมภก

เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่า แม้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงเป็นผู้ที่ได้ศึกษาและปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนาจนรอบรู้หลักธรรมอย่างละเอียด  แจ่มแจ้ง  และลึกซึ้ง   แต่พระองค์ก็มิไดทรงกีดกันศาสนาอื่น  ตรงกันข้ามกลับทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อทุกศาสนา   ดังพระราชกรณียกิจที่จะขออัญเชิญมาบางส่วนดังนี้

ในทางพระพุทธศาสนา

นอกจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะพอพระราชหฤทัยที่จะฟังธรรม – สนทนาธรรมกับพระภิกษุผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบและปฏิบัติธรรมด้วยพระองค์เองแล้ว  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจที่เกื้อหนุนพระพุทธศาสนาอีกนานัปการ เช่น  



•พระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์แก่สามเณรที่สอบได้เปรียญธรรม ๙ ประโยค  เมื่อจะอุปสมบทให้เป็นนาคหลวง

•โปรดเกล้าฯ ให้จัดรายการธรรมะสำหรับเด็กและผู้ใหญ่    ทางสถานีวิทยุอ.ส.  เพื่อเผยแพร่ศีลธรรม  

•โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระพุทธรูป ภ.ป.ร., พระพุทธนวราชบพิตร และพระพุทธรูปพิมพ์หรือพระกำลังแผ่นดินที่เรียกกันว่า “หลวงพ่อจิตรลดา”

•โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นประธานกรรมการอำนวยการบูรณะปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดารามจนเสร็จสมบูรณ์งดงาม ทันงานฉลองสมโภชน์กรุงรัตนโกสินทร์ครบ ๒๐๐ ปี (เริ่มดำเนินการ พ.ศ. ๒๕๑๙ ถึง พ.ศ.๒๕๒๕)  เสด็จพระราชดำเนินบำเพ็ญพระราชกุศลในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา  ทั้งยังเสด็จพระราช-ดำเนินร่วมพิธีทางศาสนาตามคำกราบบังคมทูลอัญเชิญเสด็จฯ เนืองๆ

•ปี พ.ศ.๒๕๒๘  ทรงมีพระบรมราชโองการให้มีการสังคายนาตรวจชำระพระไตรปิฎก  ซึ่งได้ดำเนินการสำเร็จทันวันที่  ๕  ธันวาคม พ.ศ.๒๕๓๐  ในมหามงคลวโรกาสที่ทรงเจริญพระชนมพรรษา ๕ รอบ  ได้พิมพ์แล้วเสร็จทั้งฉบับบาลีและฉบับแปลเป็นภาษาไทย  ประเทศไทยมีการศึกษาพระไตรปิฏกมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย  และได้มีการแปลเป็นภาษาไทยบางส่วนสืบต่อมาโดยตลอด แต่การแปลมาแล้วเสร็จครบชุดในสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนี้เอง  ทั้งต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๓๑  มหาวิทยาลัยมหดิลยังได้นำข้อความในพระไตรปิฎกรวมหลายสิบล้านตัวอักษรเป็นจำนวน  ๔๕  เล่ม   เข้าจานแม่เหล็กชนิดแข็ง(HARD  DISK)  เพื่อนำเข้าเครื่องคอมพิวเตอร์  ให้สามารถเรียกคำไหน  ในเล่มใด  หน้าใดก็ได้มาปรากฎในจอภาพทันที  นับเป็นครั้งแรกของโลกที่มีพระไตรปิฎกภาษาบาลีฉบับคอมพิวเตอร์อันเป็นเกียรติประวัติสูงสุดของประเทศไทย  ซึ่งก็ได้สำเร็จลงในสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวด้วยเช่นกัน  

ต่อมายังได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ให้มหาวิทยาลัยมหิดลดำเนินการเพิ่มข้อความภาษาบาลีในหนังสืออธิบายพระไตรปิฎกเรียกว่า “อรรถกถา”  และคำอธิบายอรรถกถาที่เรียกว่า “ฎีกา” รวมเป็นหนังสือทั้งสิ้น ๙๘ เล่ม  ให้สามารถเรียกข้อความที่ต้องการมาปรากฎในจอภาพ และพิมพ์ข้อความนั้นเป็นเอกสารได้ภายในเวลาไม่กี่วินาที  ซึ่งงานนี้สำเร็จก่อนวันเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๓๔  นับเป็นพระราชกรณียกิจที่ส่งเสริมและทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาอย่างสำคัญยิ่ง  เป็นความสำเร็จที่มีคุณค่าสูงต่อการศึกษาค้นคว้าของวงวิชาการเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาทั่วโลกทีเดียว  มิใช่เฉพาะประเทศไทยเท่านั้น


ศาสนาอื่น ๆ ในประเทศไทย


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมิได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจอันเกื้อหนุนแต่พระพุทธศาสนาเท่านั้น  หากแต่ได้พระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์แก่ทุกศาสนาในประเทศไทยอย่างทั่วถึง ได้เสด็จพระราชดำเนินร่วมงานของทุกศาสนาตามคำกราบบังคมทูลอัญเชิญเสด็จ ทั้งยังได้พระราชทานพระ-ราชทรัพย์ส่วนพระองค์บำรุงศาสนาต่าง ๆ ตามสมควรเมื่อผู้แทนองค์การศาสนาได้เข้าเฝ้าฯ ถวายพระพรเนื่องในพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาทุกปี

มีสิ่งที่ประวัติศาสตร์ควรจารึกเพราะเป็นเหตุการณ์ที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในการที่พระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นพุทธมามกะ แต่ทรงมีพระราชดำริให้แปลคัมภีร์ของศาสนาอื่น ดังที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ให้นายต่วน  สุวรรณศาสน์  อดีตจุฬาราชมนตรี จัดตั้งกรรมการแปลและพิมพ์พระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน  ซึ่งเป็นคัมภีร์สูงสุดของศาสนาอิสลามจากภาษาอาหรับเป็นภาษาไทย  เพื่อให้ชาวไทยมุสลิมได้ศึกษาเล่าเรียนศาสนาของตนได้โดยสะดวก  ซึ่งก็ได้แปลเสร็จในปี พ.ศ.๒๕๑๕ แล้วได้แจกจ่ายไปยังมัสยิด  ห้องสมุด  และผู้สนใจทั่วประเทศ



พระมหากรุณาธิคุณที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีต่อการศาสนาทุกศาสนาที่กล่าวมานี้เป็นเเพียงส่วนหนึ่งที่ทรงปฏิบัติจริงทั้งหมด     เป็นโชคดีของชาวไทยและผู้มาพึ่งพระบรมโพธิสมภารทั้งหลายแล้วที่มีโอกาสอยู่ใต้พระบรมโพธิสมภาร  สมควรที่ทุกคนจะได้สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณและตอบแทนด้วยการเป็นพสกนิกรที่ดีของพระองค์และเป็นพลเมืองดีของชาติตลอดไป

พระร้อยรัดดวงใจไทยทั้งผอง

ยิ่งนับวันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจนานัปการด้วยพระเมตตาโดยทรงมีพระราชประสงค์ให้พสกนิกรได้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น   พสกนิกรชาวไทยเองไม่ว่าจะเชื้อชาติใดก็มีความรัก  ความเทิดทูน และผูกพันต่อพระองค์เพิ่มทวีขึ้นอย่างประมาณมิได้เช่นกัน



นายวาเด็ง  ปูเตะ  ชาวไทยมุสลิม  วัยกว่า ๖๐ ปี   เจ้าของสวนผลไม้และสวนยางแห่งริมคลอง-ตุเวะ  สายบุรี  ปัตตานี  ได้มีโอกาสเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอย่างใกล้ชิด โดยไม่ทันรู้ตัวล่วงหน้ามาก่อน   ในชุดเครื่องแต่งกายที่ใครก็นึกไม่ถึงคือ มีแต่เครื่องนุ่ง ไม่มีเครื่องห่มคือไม่สวมเสื้อระหว่างเสด็จฯ ทอดพระเนตร พรุแฆแฆและสภาพคลองตุเวะว่าจะมีปริมาณน้ำเพียงพอสำหรับจะผันเข้าสู่คลองส่งน้ำขนาดใหญ่หรือไม่  



ซึ่งนายวาเด็ง ปูเต๊ะ ตอนนั้น ยังไม่ค่อยเชื่อว่าพระองค์จะเข้ามาอยู่ในป่าในเขาแบบนี้ จึงคิดว่าผู้ที่มาบอกโกหก ขนาดมาพบพระองค์แล้ว นายวาเด็ง ปูเต๊ะ ก็ยังไม่แน่ใจว่าเป็นในหลวงจริงหรือเปล่า จึงแอบหยิบเงินใบละ ๑๐๐ บาท กับใบละ ๒๐ บาทขึ้นมาดู จึงแน่ใจว่าเป็นพระองค์เสด็จฯ มาจริง ๆ

ซึ่งนายวาเด็งก็ได้กราบบังคมทูลฯ ตอบข้อซักถามของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวด้วยภาษาพื้นบ้านของตนอย่างฉาดฉาน  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็มิได้ทรงถือพระองค์  นายวาเด็งนั้นปิติล้นเหลือ  กราบบังคมทูลฯ ว่า พระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ มาเยี่ยมทั้งทีไม่มีอะไรจะถวายเลย  ผลไม้ในสวนก็เพิ่งเก็บไปขาย  ได้เงินซื้อเครื่องปั๊มน้ำมา ๑ เครื่อง  ทั้งสวนขณะนี้เหลือทุเรียนอยู่ผลเดียว ดิบเสียด้วยหลายคนก็แย้งว่าลุงยังมีเครื่องปั๊มน้ำใหม่อยู่ด้วย นายวาเด็งตอบอย่างเด็ดเดี่ยวอย่างไม่เสียเวลาคิดว่า ถอดเอาขึ้นรถและขนไปเลย ขอถวายพระเจ้าอยู่หัว  

การพูดนั้นไม่ได้พูดเล่น แววตาฉายความสุขในการที่จะสละสมบัติชิ้นเดียวที่ได้จากหยาดเหงื่อแรงงานทั้งปีถวายพระเจ้าอยู่หัว  ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงพระสรวลอย่างมีความสุข (ดารี  ข่มอาวุธ  เขียนโดยอ้างบันทึกการตามเสด็จของมนูญ  มุกข์ประดิษฐ์)

อีก ๑ ปีถัดมา  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จฯ ทอดพระเนตรความก้าวหน้าของโครงการพัฒนาพรุแฆแฆอีกครั้ง  นายวาเด็งก็ไปรอรับเสด็จอีก ซึ่งก็ทรงมีพระราชปฏิสันถารอย่างเป็นกันเอง และยังได้โปรดเกล้าฯ ให้ติดตามพระองค์ขณะทรงงานตรวจเยี่ยมอีกด้วย    

// วาเด็ง ปูเต๊ะ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้เป็นพระสหาย //

วาเด็ง ปูเต๊ะ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้เป็นพระสหาย เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ณ โครงการพัฒนาพรุแฆแฆ อ.สายบุรี จ.ปัตตานี เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๕

ในหลวงคงจะทรงลองใจ จึงตรัสถามขอที่ดิน เพื่อทำโครงการพระราชดำริ ด้วยความปลาบปลื้ม วาเด็ง ปูเต๊ะ จึงขอยกที่ดินถวายให้พระองค์ทันที ในหลวงจึงทรงแย้มพระสรวล และมีพระราชดำรัสว่าให้ วาเด็ง ปูเต๊ะ เป็นพระสหาย ตั้งแต่บัดนั้น ในหลวงตรัสเรื่องนี้ว่า

"วาเด็ง เป็นคนซื่อตรง จึงขอแต่งตั้งให้วาเด็งเป็นเพื่อนของในหลวง"


// ในหลวงตรัสให้วาเด็ง ปูเต๊ะ หยุดทำงานได้แล้ว //
ล่าสุด ในหลวง ตรัสว่าให้วาเด็งหยุดทำงานได้แล้ว เพราะแก่แล้ว อายุมากแล้ว ทรงเป็นห่วงสุขภาพวาเด็ง กลัวว่าทำงานหนักจะไม่สบาย วาเด็ง ปูเต๊ะ ก็นั่งทบทว
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่