พระราชกรณียกิจด้านการศาสนา

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นพุทธมามกะ
ดังจะเห็นได้จากการที่พระองค์ทรงผนวชในพระพุทธศาสนา
และประพฤติปฏิบัติธรรมตามคำสอนของพระพุทธศาสนา


พระองค์ทรงเสด็จออกผนวชเป็นเวลา ๒ สัปดาห์
โดยเมื่อวันที่ ๒๒ ตุลาคม ๒๔๙๙ เวลาบ่ายโมงทรงผนวช
โดยมีสมเด็จพระวชิรญาณวงศ์สมเด็จพระสังฆราชเป็นพระอุปัฌาย์
พระศาสนโสภณเป็นพระกรรม วาจาจารย์
และสมเด็จพระวันรัตเป็นผู้ถวายอนุสาสน์
ทรงได้รับพระสมณนามจากพระ ราชอุปัธยาจารย์ว่า “ภูมิพโล”
ทรงประทับที่พระตำหนักปั้นหยาในวัดบวรนิเวศวิหาร
และทรงลาสิกขาเมื่อวันที่ ๕ พฤศจิกายน ๒๔๙๙
พระราชกรณียกิจในด้านการศาสนาที่สำคัญประการหนึ่ง คือ การที่
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯ
ให้จัดทำพระพุทธรูปปางมารวิชัยขึ้น เรียกว่า “พระพุทธนวราชบพิตร”
เป็นพระพุทธรูปประจำรัชกาล
โดยที่ฐานบัวหงายของพระพุทธนวราชบพิตรได้บรรจุพระพุทธรูปพิมพ์ “กำลังแผ่นดิน”
หรือ “หลวงพ่อจิตรลดา” ไว้ ๑ องค์  
สำนักพระราชวังได้วางระเบียบเกี่ยวกับพระพุทธนวราชบพิตรไว้ว่า
เมื่อจังหวัดต่างๆ ได้รับ พระพุทธนวราชบพิตรไปแล้ว
เมื่อใดที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปยังจังหวัดใด
ก็ให้อัญเชิญพระพุทธนวราชบพิตรมาประดิษฐาน
เพื่อให้พระองค์ทรงสักการะด้วยพระพุทธนวราชบพิตร
จึงเปรียบเสมือนตัวแทนแห่งองค์พระเจ้าอยู่หัว
เป็นศูนย์รวมแห่งความจงรักภักดีที่มีอยู่ทั่วประเทศไทย


ในระหว่างที่ทรงผนวช
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงปฏิบัติพระองค์
ตามแนวทางแห่งพระภิกษุสงฆ์โดยทั่วไปอย่างเคร่งครัด
ทรงลงพระอุโบสถทำวัตรและออกบิณฑบาตเป็นประจำทุกวันมิได้ขาด
ซึ่งภาพที่พระองค์ทรงเป็นพระภิกษุและออกบิณฑบาตนั้นเป็นภาพที่ประทับใจ
พสกนิกรชาวไทยอยู่มิรู้ลืม

นอกจากนี้แล้วพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังทรงให้การอุปถัมภ์แก่คณะสงฆ์ไม่เคยขาด
เช่น การพระราชทานสมณศักดิ์แก่คณะสงฆ์
ดังจะเห็นปรากฎอยู่ในพระราชพิธีต่างๆ เช่น พระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา เป็นต้น
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังทรงให้การทำนุบำรุงและบูรณะวัดต่างๆ เรื่อยมา
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ยกวัดราษฎร์ให้เป็นพระอารามหลวง
ทรงพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวนหนึ่ง
เพื่อนำไปสร้างวัดญาณสังวราราม มหาวิหาร จังหวัดชลบุรี
และวัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก กรุงเทพมหานคร
พร้อมกับทรงรับไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์

นอกจากนี้ทรงพระราชทานพระราชทรัพย์เพื่อบูรณะปฏิสังขรณ์วัดวาอารามต่างๆ
ที่ชำรุดทรุดโทรม  และพระราชกรณียกิจที่สำคัญเกี่ยวกับการทำนุบำรุงพระศาสนาอีกประการ
ในรัชกาลของพระองค์คือ การสร้างพระพุทธมณฑล
โดยพระบาทสมเด็จพะรเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริจะจัดสร้างขึ้น
เพื่อฉลองมงคลกาลสมัยที่พระพุทธศาสนามีอายุครบ ๒๕๐๐ ปี
ในวันวิสาขบูชา ๑๓ พฤษภาคม ๒๕๐๐
ทางรัฐบาลมีมติเห็นชอบกับข้อเสนอของคณะกรรมการจัดงานเฉลิมฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ
ว่าควรมีการสร้างปูชนียสถานเป็นพุทธศูนย์กลางอุทยานทางพุทธศาสนา
ดังนั้นจึงมีมติให้จัดสร้าง “พุทธมณฑล” ขึ้น ซึ่งมีอาณาเขตติดต่อกันระหว่าง อ. สามพราน และอ.นครชัยศรี จังหวัดนครปฐม
และได้ถวายบังคมทูลอัญเชิญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
เสด็จไปวางศิลาฤกษ์ในวันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๔๙๘
และได้มีงานเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสที่พระพุทธศาสนาดำรงมาครบ ๒๕ ศตวรรษ
ในระหว่างวันที่ ๑๒ – ๑๘ พฤษภาคม ๒๕๐๐
การบำเพ็ญพระราชกุศล

สำหรับการบำเพ็ญพระราชกุศลในวันสำคัญทางศาสนานั้น
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงปฏิบัติอยู่เป็นนิจ
พระราชกรณียกิจที่ทรงบำเพ็ญเป็นประจำทุกปี ในวันสำคัญทางศาสนาคือ


๑.วันมาฆบูชา

            พระราชพิธีเนื่องในวันมาฆบูชาของพระเจ้าแผ่นดินในราชวงศ์จักรี
เรื่มมาตั้งแต่รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๔
โดยจะประกอบพิธีในบริเวณวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
แต่หากเมื่อใดที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงเสด็จไปยังสถานที่สำคัญทางศาสนาในหัวเมือง เช่น
พระปฐมเจดีย์ พระพุทธบาท พระพุทธฉาย
ก็จะทรงบำเพ็ญพระราชกุศลเนื่องในมหาฤกษ์มาฆบูชาในสถานที่นั้นๆ
ครั้นในรัชกาลปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าหน้าที่กองพระราชพิธี สำนักงานพระราชวังทำเทียนรุ่ง
(เทียนที่จุดได้ตลอดคืน) ไปตั้งถวาย ณ ที่ประทับเพื่อทรงเจิม
โดยพระราชทานให้แก่อารามหลวงใช้ในราชการบูชากพระรัตนตรัย
เมื่อถึงวันมาฆบูชาในช่วงบ่าย
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
จะเสด็จไปยังพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
หากไม่ได้เสด็จด้วยพระองค์เองก็จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้สมเด็จพระบรมวงศ์เธอ พระองค์ใดพระองค์หนึ่ง
เสด็จเป็นผู้แทนพระองค์เป็นประจำเรื่อยมา

๒. พระราชพิธีเปลี่ยนเครื่องทรง พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรประจำฤดู
เมื่อคราวที่สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกขึ้นครองราชย์
ได้ทรงสร้างบ้านเมืองใหม่และย้ายพระนคร
ได้ให้มีการสร้างวัดพระศรีรัตนศาสดารามไว้ในเขตพระราชวัง
และทรงอัญเขิญพระแก้วมรกตมาประดิษฐานในพระอุโบสถแล้วทรงพระกรุณา
โปรดเกล้าฯ ให้สร้างเครื่องทรงสำหรับฤดูฝนและฤดูร้อนถวาย
ครั้นต่อมาในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๓ ทรงโปรดเกล้าฯ
ให้สร้างเครื่องทรงสำหรับฤดูหนาวเพิ่มขึ้นอีกอย่างหนึ่ง

            พระราชพิธีเปลี่ยนเครื่องทรงพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร
ถือเป็นพระราชพิธีที่สำคัญอีกพระราชพิธีหนึ่ง
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงเสด็จพระราชดำเนินไปเปลี่ยนเครื่องทรงเองเป็นประจำทุกปี
โดยเครื่องทรงแต่ละประเภทนั้นจะเปลี่ยนในวันที่เปลี่ยนฤดู
หากในคราใดที่ไม่ได้ทรงเสด็จไปด้วยพระองค์เอง
ก็จะโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าพระบรมวงศ์เธอพระองค์ใดพระองค์หนึ่งเสด็จไปแทน

๓. วันวิสาขบูชา
วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญอักวันหนึ่งของชาวพุทธเรายึดถือกันมาช้านาน
เพราะวันวิสาขบูชานั้นเป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงประสูติ ตรัสรู้และปรินิพพาน
พุทธศาสนิกชนจึงพร้อมใจกันทำพิธีสักการบูชาในวันนี้
พระมหากษัตริย์ไทยเองก็เช่นกัน ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลในวันวิสาขบูชามาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย
และได้มีพระราชพิธีนืเรื่อยมาจากอยุธยา กรุงธนบุรี จนถึงสมัยรัตนโกสินทร์

            พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศล เนื่องในวันวิสาขบูชา
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้จัดเป็นพระราชพิธีสองวันติดต่อกันคือ เป็นงานวันตั้งเปรียญวันหนึ่ง
และเป็นส่งของงานพระราชพิธีวิสาขบูชาอีกวันหนึ่ง
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเริ่มเสด็จพระราชดำเนินในพระราชพิธีวิสาขบูชา
ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามด้วยพระองค์เองเป็นครั้งแรก เมื่อพุทธศักราช ๒๔๙๓

            ในบางปีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเสด็จแปรพระราชฐาน
ไปประทับแรมนอกพระนคร ก็จะทรงบำเพ็ญพระราชกุศลในวันวิสาขบูชา
ณ วัดใกล้ที่ประทับแรม ส่วนในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระราชวงศ์ทรงปฏิบัติราชภารกิจแทนพระองค์
ตั้งแต่พุทธศักราช ๒๕๐๕ เป็นต้นมา
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
ได้เสด็จพระราชดำเนินไปบำเพ็ญพระราชกุศลตามสถานที่ต่างๆ เช่น
พระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม วัดพระมหาธาตุ จังหวัดนครศรีธรรมราช
วัดโสธรวรมหาวิหาร จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นต้น นับแต่พ.ศ. ๒๕๒๖ เป็นต้นมา
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงเสด็จพระราชดำเนินไปยังสถานที่สำคัญๆ ทางศาสนา
เพื่อบำเพ็ญพระราชกุศลเนื่องในวันวิสาขบูชาเป็นส่วนพระองค์เรื่อยมา
โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จแทนพระองค์
เพื่อประกอบพระราชพิธีวิสาขบูชา ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

๔. พระราชพิธีวันถวายพระเพลิงพระพุทธเจ้า

            พระราชพิธีอัฎฐมีบูชาหรือพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระพุทธเจ้า
จะมีขึ้นในวันแรม ๘ ค่ำ เดือน ๖ หรือนับต่อเนื่องไปจากวันวิสาขบูชาอีก ๘ วัน
ซึ่งเป็นวันคล้ายวันถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ
พระราชพิธีนี้เป็นพระราชศรัทธาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันโดยเฉพาะ
โดยทรงกำหนดให้เป็นพิธีหลวง และได้มีพระราชอุทิศเทียนรุ่ง
เพื่อบูชาพระรัตนตรัยให้แก่อาราม ๗ แห่ง


๕.พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลเนื่องในวันอาสาฬหบูชาและพระราชพิธีเข้าพรรษา

            เป็นพระราชพิธีที่พัฒนามาจากพระราชพิธีหล่อเทียนพรรษา
และฉลองเทียนพรรษาซึ่งมีอยู่แต่เดิม ต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้กำหนดพระราชพิธีอาสาฬหบูชาเพิ่มขึ้น จนกลายเป็นงานพระราชพิธี ๒ พระราชพิธีต่อเนื่องกัน

            การหล่อเทียนพรรษาเป็นพระราชพิธีที่พระมหากษัตริย์ไทย
ทรงปฏิบัติต่อเนื่องกันมาตั้งแต่ตอนต้นกรุงรัตนโกสินทร์
โดยการหล่อเทียนพรรษาจะมีขึ้นในเดือน ๗ ก่อนวันเข้าพรรษา
และเมื่อหล่อเสร็จแล้จะนำไปถวายยังวัดต่างๆ ไว้สำหรับจุดบูชาพระรัตนตรัยตลอดช่วงเข้าพรรษา
ในตอนต้นรัตนโกสินทร์นั้นจะหล่อเทียนด้วยสีผึ้ง
จนกระทั่งถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกเลิกการหล่อเทียนด้วยสีผึ้งเสีย
โดยมีพระกระแสรับสั่งให้ทำเป็นไม้ปั้นลายรักปิดทองแทน
แล้วให้ทำเป็นตะกั่วสำหรับหยอดสีผึ้งลงไปสำหรับใช้จุดในวันแรกส่วนวันอื่นๆ นั้น
ให้ใช้การเติมน้ำมันลงไปแทน สำหรับเทียนสีผึ้งอย่างเก่า
ให้คงไว้เฉพาะที่วัพระศรีรัตนศาสดารามและวัดต่างๆ อีกเพียงไม่กี่แห่ง

            พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจเนื่องในพระราชพิธีเข้าพรรษา
มาตั้งแต่เสด็จขึ้นครองราชย์ จวบจนกระทั่งปัจจุบัน
โดยจะพระราชทานเทียนพรรษาให้แก่วัดต่างๆ ทั่วประเทศ
ทั้งในกรุงเทพฯ และหัวเมือง รวมถึง ๖๔ วัด นอกจากนี้ยังทรงพระราชทานพุ่มเทียนให้แก่พระสงฆ์
โดยพระสงฆ์ที่ได้รับพระราชทานพุ่มเทียน จะเป็นสมเด็จพระสังฆราช
สมเด็จพระราชาคณะ รองสมเด็จพระราชาคณะ พระราชาคณะ พระเปรียญธรรม ๙ ประโยค
และพระครูสัญญาบัตรตั้งแต่เจ้าอาวาสอารามหลวงชั้นตรีขึ้นไปกับพระนาคหลวง


๖. พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายพระกฐิน

เป็นพระราชกรณียกิจที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงบำเพ็ญมาเป็นประจำทุกปี
เพื่อทรงพระอนุเคราะห์ให้หมู่สงฆ์ได้รับประโยชน์ในทางพระวินัย
การถวายกฐินในปัจจุบันแบ่งออกเป็น ๓ ประเภท ตามฐานะของวัดที่ได้รับพระราชทาน

            ๑. พระกฐินหลวง ได้แก่กฐินที่เสด็จไปถวายด้วยพระองค์เอง หรือทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้พระราชวงศ์ หรือองคมนตรีนำไปถวายให้แก่อารามหลวง

            ๒. กฐินพระราชทาน ได้แก่กฐินที่พระราชทานให้แก่กระทรวง ทบวง กรม องค์กร
สมาคมหรือเอกชนนำไปทอดถวายพระสงฆ์ แก่พระอารามหลวงทั่วราชอาณาจักร
นอกเหนือจากอารามหลวงดังกล่าวในข้อ ๑.

            ๓. กฐินต้นหรือกฐินส่วนพระองค์ คือพระกฐินที่เสด็จโดยพระองค์เอง
ไปถวายแก่วัดราษฎร์เป็นส่วนพระองค์เอง

องค์อัครศาสนูปถัมภก    

นอกจากจะทรงเป็นพุทธมามกะแล้วยังทรงเป็นองค์อัครศาสนูปถัมภกอีกด้วย
ทรงอุปถัมภ์ศาสนาทุกศาสนา ภายใต้พระบรมโพธิสมภารของพระองค์
ดังจะเห็นได้จากการ ที่พระองค์เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นองค์ประธาน
ในงานฉลองครบรอบ ๕๐๐ ปี แห่งศาสนาซิกซ์ ตามคำ อัญเชิญของสมาคมศรีคุรุสิงห์สภา
และในงานเมาลิดกลางของอิสลามิกชน


ขอขอบคุณข้อมูล : http://www.chaoprayanews.com พระราชกรณียกิจด้านการศาสนา
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่