อะไรกำลังเกิดขึ้นในอเมริกา

อะไรกำลังเกิดขึ้นในอเมริกา ?

ในช่วงนี้มีเรื่องใหญ่ๆ ในอเมริกาที่เป็นข่าวพาดหัวรายวันทั้งในด้านเศรษฐกิจ การเมือง และเรื่องอาชญากรรม จนดูจะทำให้เกิดความสับสนสำหรับคนทั่วไป

อาทิเช่น เรื่องธนาคารกลางยังทุ่มเงินจำนวนมหาศาลเข้าไปในระบบอย่างต่อเนื่อง เรื่องสภาผู้แทนราษฎรลงมติงดให้เงินโครงการประกันสุขภาพของรัฐบาล และเรื่องทหารนอกประจำการบุกเข้าไปยิงคนตาย 12 คนในสำนักงานของกองทัพเรือในใจกลางกรุงวอชิงตัน เรื่องเหล่านี้ดูเหมือนว่าไม่มีความเกี่ยวพันกัน แต่อาจมองว่าเป็นอาการของปัญหาพื้นฐานในอเมริกาก็น่าจะได้

เรื่องธนาคารกลางยังทุ่มเงินเข้าไปในระบบจำนวนเดือนละ 8.5 หมื่นล้านดอลลาร์ มองได้ว่าผู้บริหารธนาคารเชื่อว่าเศรษฐกิจอเมริกันยังไม่ฟื้นคืนชีพอย่างมั่นคงหลังวิกฤติครั้งใหญ่ผ่านไป 5 ปี การมองเช่นนี้มีเหตุผลเนื่องจากการขยายตัวของเศรษฐกิจในช่วงปีที่ผ่านมายังอยู่ในอัตรา 1.6% ต่อปีและอัตราการว่างงานล่าสุดอยู่ที่ 7.3% ซึ่งถือว่ายังสูง ยิ่งกว่านั้น อัตรานี้ไม่นับคนที่ถอดใจจนไม่ออกไปหางานทำอีกแล้วเพราะหามาเป็นเวลานานก็ยังไม่ได้ ประเด็นที่น่าถามต่อไปได้แก่เพราะอะไรอเมริกาจึงยังซบเซาทั้งที่เวลาผ่านไปกว่า 5 ปีและธนาคารกลางทุ่มเงินเข้าไปในระบบแล้วหลายล้านล้านดอลลาร์พร้อมๆ กับรัฐบาลทำงบประมาณขาดดุลซึ่งในขณะนี้ยังอยู่ในอัตราเกือบล้านล้านดอลลาร์ต่อปี ตามแนวคิดเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก การกระตุ้นเศรษฐกิจสูงขนาดนี้น่าจะทำให้ไม่มีภาวะซบเซาหลงเหลืออยู่

คำตอบได้แก่ ความเข็ดขยาดของชาวอเมริกันกับการใช้เงินเกินพอดีจนเป็นหนี้ท่วมหัว ก่อนเกิดวิกฤติ เศรษฐกิจอเมริกันขยายตัวในอัตราสูงติดต่อกันหลายปี เพราะมีแรงกระตุ้นจากการใช้จ่ายสูงมากของชาวอเมริกัน แต่การใช้จ่ายนั้นมิได้มาจากรายได้อย่างเดียว หากยังมาจากการก่อหนี้สินจนล้นพ้นตัวอีกด้วย คนจำนวนมากไม่มีเงินใช้จ่ายและส่วนใหญ่ที่ยังมีรายได้ก็ลดการใช้จ่ายพร้อมกับปลดหนี้ลงจนในขณะนี้อัตราหนี้ครัวเรือนลดลงมาเหลือราว 84% ของรายได้ประชาชาติจากกว่า 100% เมื่อ 5 ปีที่แล้ว

นอกจากนั้นยังมีปัจจัยที่ทำให้การใช้จ่ายของคนส่วนใหญ่ยังต่ำอีกด้วย นั่นคือ เมื่อเศรษฐกิจเริ่มฟื้นคืนชีพ รายได้ส่วนใหญ่ไปตกอยู่ในมือของคนรวยเพียงหยิบมือเดียว ในขณะที่คนส่วนใหญ่แทบไม่มีรายได้เพิ่มขึ้น เรื่องนี้ได้พูดถึงแล้วเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา คนรวยเหล่านั้นไม่ค่อยใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ในขณะที่คนอื่นมุ่งปลดหนี้ เศรษฐกิจจึงไม่มีพลังกระตุ้นจากการใช้จ่ายของภาคเอกชน

รายได้ส่วนใหญ่ไปตกอยู่ในมือของคนรวยเพียงหยิบมือเดียว เพราะพวกเขาเข้าถึงแก่นในของกระบวนการทางการเมืองจนมีอิทธิพลเหนือนโยบายหลายอย่างของรัฐ พร้อมๆ กับการลงมติงดให้งบประมาณแก่โครงการประกันสุขภาพดังกล่าวนั้น สภาฯ ยังลงมติตัดงบประมาณการช่วยเหลือคนจนลงอีกด้วย ทั้งที่คนอเมริกันจำนวนหลายสิบล้านคนยังยากจนมากเนื่องจากข้อมูลบ่งว่า 15% ของชาวอเมริกันจำนวน 315 ล้านคนยังมีรายได้ไม่พอแก่การดำรงชีวิตเบื้องต้น สภาฯ ลงมติเช่นนั้น เพราะเป็นที่รู้กันทั่วว่าถูกครอบงำโดยอิทธิพลของคนรวยที่ไม่มีจิตวิญญาณในด้านการช่วยเหลือคนจน

เรื่องสภาฯ และกระบวนการทางการเมืองถูกครอบงำโดยคนรวยนี้อาจเห็นได้จากอีกหลายต่อหลายเรื่อง อาทิเช่น เรื่องการควบคุมสถาบันทางการเงิน ทั้งที่มีหลักฐานชี้ชัดว่าสถาบันการเงินเป็นตัวสร้างปัญหามานานจนนำไปสู่วิกฤติร้ายแรง แต่การจะเข้าไปควบคุมพบอุปสรรคสารพัดจนในขณะนี้ยังแทบไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรม และเรื่องการจะเข้าไปควบคุมการถือครองอาวุธปืนให้เข้มงวดขึ้นไม่เคยประสบผลสำเร็จทั้งที่มีเหตุการณ์จำพวกการสังหารหมู่บ่อยๆ รวมทั้งเด็กในโรงเรียนครั้งละนับโหลด้วย

อิทธิพลของคนรวยส่งผลให้ประชาธิปไตยในอเมริกากลายเป็นประชาธิปไตยแบบครึ่งใบมานาน ผู้สนใจในกระบวนการประชาธิปไตยครึ่งใบในอเมริกาโดยเฉพาะปัญหาที่มาจากพวกนักวิ่งเต้น (Lobbyists) ซึ่งนักการเมืองไทยบางคนไปจ้างให้ช่วยสร้างภาพให้ตนอาจไปอ่านหนังสือซึ่งเพิ่งพิมพ์ออกมาเมื่อเดือนกรกฎาคมชื่อ This Town : Two Parties and a Funeral - Plus, Plenty of Valet Parking! - in America’s Gilded Capital โดย Mark Leibovich

การที่คนรวยกลุ่มเล็กๆ สามารถเข้าไปถึงแก่นในของกระบวนการทางการเมืองได้จนทำให้ระบอบประชาธิปไตยเป็นแบบครึ่งใบก็เพราะอเมริกากำลังมีปัญหาด้านศีลธรรมจรรยาเสื่อมถอย เรื่องนี้ได้พูดถึงเมื่อสัปดาห์ที่แล้วตามแนวคิดของโจเซฟ สติกลิตซ์ นักเศรษฐศาสตร์ชั้นรางวัลโนเบล เขาตราสังคมอเมริกันว่าตกอยู่ในภาวะ “การขาดดุลทางศีลธรรมจรรยา” ย่อมเป็นที่แน่นอนว่า ถ้าสังคมตกอยู่ในภาวะศีลธรรมจรรยาเสื่อมถอย ปัญหาร้ายแรงต่างๆ อธิบายได้ไม่ยากนักเนื่องจากคนส่วนใหญ่เริ่มไม่ทำตามกติกาของสังคม ด้วยเหตุนี้จึงมีคนอเมริกันถามกันเองอย่างจริงจังว่า ปัญหาของอเมริกากำลังจะนำประเทศไปสู่ความล่มสลายเช่นเดียวกับมหาอำนาจในอดีตหรือไม่ หนังสือที่พูดถึงเรื่องนี้โดยตรงได้แก่ Are We Rome? The Fall of An Empire and the Fate of America เขียนโดย Cullen Murphy ซึ่งมีบทคัดย่อให้ดาวน์โหลดได้จากเว็บไซต์ของมูลนิธินักอ่านบ้านนา www.bannareader.org

น่าถามไหมว่าต้นตอของปัญหาในอเมริกาเป็นเช่นเดียวกันกับต้นตอของปัญหาในเมืองไทยในปัจจุบันหรือไม่? และถ้าเป็นเช่นนั้น เราจะมีมาตรการแก้ไขอย่างไรจึงจะป้องกันมิให้ประเทศไทยเป็นง่อย?

Tags : ดร.ไสว บุญมา

http://bit.ly/18VU6qb
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่