รัฐบาลสิงคโปร์ส่งทีมเศรษฐกิจทาบ 5 ผู้ค้าทองรายใหญ่ของไทย ไปตั้งบริษัทค้าทองที่สิงคโปร์

กระทู้สนทนา
รัฐบาลสิงคโปร์ส่งทีมเศรษฐกิจทาบ 5 ผู้ค้าทองรายใหญ่ของไทย ไปตั้งบริษัทค้าทองหวังชิงเป็นศูนย์กลางเทรดทองรับเออีซีแข่งลอนดอน-ฮ่องกง




ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำลังเกาะติดสถานการณ์การค้าทองคำในประเทศอย่างใกล้ชิด โดยอยู่ระหว่างหารือกับกระทรวงการคลังและสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อวางกติกาเกี่ยวกับการซื้อขายทองคำของร้านค้าทอง หรือ บริษัทที่เป็นนายหน้า (โบรกเกอร์) ซื้อขายทองคำ เพื่อป้องกันใช้เป็นช่องทางเก็งกำไรอัตราแลกเปลี่ยน ผลดังกล่าวทำให้เอกชนผู้ค้าทองได้แสดงท่าทีออกมาเช่นเดียวกัน

นายณัฐพงศ์ หิรัณยศิริ กรรมการผู้จัดการบริษัทเอ็มทีเอส โกลด์ ฟิวเจอร์ (MTS) ผู้นำเข้าและส่งออกทองคำ กล่าวว่า ทางรัฐบาลสิงคโปร์ได้ส่งทีมงานมาเจรจาผู้ประกอบการค้าทองคำรายใหญ่ของไทย 5 อันดับแรก เชิญชวนให้ไปเปิดบริษัทในสิงคโปร์ โดยยื่นข้อเสนอให้ทั้งเรื่องกฎหมายที่เป็นอุปสรรคและการลดภาษีที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งสามารถให้ผู้ประกอบการยื่นข้อเสนอที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจได้ทุกอย่าง โดยพร้อมยกเว้นให้

วัตถุประสงค์ของการมาชักชวน เพราะสิงคโปร์ต้องการเป็นศูนย์กลางอ้างอิงราคาทองคำ ก่อนจะเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ด้วยการเริ่มต้นที่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดังนั้น ส่งทีมเข้ามาเจรจาเพื่อทาบทาม และขณะนี้ก็มีผู้ประกอบการของไทยให้ความสนใจแล้วด้วย

"การที่มาติดต่อผู้ค้าทองในไทย เพราะตลาดทองคำในไทยมีขนาดใหญ่ขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มีการพัฒนาต่อเนื่องจนเป็นที่รู้จักมากขึ้น และไทย มีมูลค่าการนำเข้าเป็นอันดับ 3 ของเอเชีย ขณะเดียวกันผู้ค้าทองคำ ต้องการพัฒนาไปสู่มาตรฐานสากล ดังนั้นการไปตั้งสาขาในต่างประเทศ เป็นเรื่องที่น่าสนใจ" นายณัฐพงศ์ กล่าว

ในส่วนของ เอ็มทีเอส โกลด์ อยู่ระหว่างการตัดสินใจ และต้องพิจารณาว่า แบงก์ชาติจะออกกฎเกณฑ์มาควบคุมเข้มงวดหรือไม่ ซึ่งเท่าที่คุยกับแบงก์ชาติคาดว่าจะออกเกณฑ์เกี่ยววิธีการล็อกค่าเงิน และคุมระบบการชำระราคาส่งมอบ หากไม่คล่องตัวก็อาจต้องพิจารณาอีกครั้ง

ยันไม่เจตนาฟันกำไรค่าเงิน

เขากล่าวว่า ความน่าสนใจตลาดสิงคโปร์ เพราะปัจจุบันมีความคล่องตัวมากกว่าในไทย โดยเฉพาะเรื่องกฎหมายต่างๆ มีความคล่องตัวในการทำธุรกรรม โดยเฉพาะระบบออนไลน์ต่างๆ เทคโนโลยีที่ทันสมัย โอกาสการเติบโตอาจจะดีกว่า

ส่วนกรณีการเก็งกำไรค่าเงินผ่านทองคำนั้น เชื่อว่าผู้ประกอบการรายใหญ่ ไม่ได้มีเจตนาจะทำกำไร แต่ต้องมีการปิดความเสี่ยงเมื่ออัตราแลกเปลี่ยน มีความผันผวนแรง ซึ่งผู้ค้าทองคำก็เป็นบริษัทเอกชน ที่ต้องบริหารไม่ให้ขาดทุนเช่นกัน โดยส่วนตัวหลังจากได้คุยกับทีมงานของแบงก์ชาติที่เข้ามาตรวจสอบก็เข้าใจดี และรับทราบว่าแบงก์ชาติต้องการมีเกณฑ์ควบคุมที่เป็นมาตรฐาน แต่อยากให้การออกข้อบังคับ ต้องอยู่ในความเหมาะสมทั้งด้านผู้ประกอบการและฝ่ายกำกับดูแล เพื่อที่จะทำให้ไม่มีอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจเพิ่มขึ้น

วายแอลจีชี้สิงคโปร์ทาบ 2 ครั้ง

ขณะที่แหล่งข่าวรายงานว่าปัจจุบัน ผู้ค้าทองรายใหญ่ของไทย คือ กลุ่มฮั้วเซ่งเฮง วายแอลจี และ แม่ทองสุก เอ็มทีเอส ซึ่งตัวเลขของธปท.ระบุว่า ช่วง 7 เดือนที่ผ่านมา มีปริมาณนำเข้าทองคำ 10,858.64 ล้านดอลลาร์ คิดเป็น 8.2% ของปริมาณการนำเข้ารวม 131,058.21 ล้านดอลลาร์ ส่วนปี 2555 มีการนำเข้าทอง 12,378.6 ล้านดอลลาร์ คิดเป็น 5.63% ของการนำเข้ารวม 219,860 ล้านดอลลาร์

ขณะที่ปัจจุบันศูนย์กลางค้าทองคำรายใหญ่ของโลก หลักๆ คือที่ ฮ่องกง และลอนดอน ประเทศอังกฤษ

แหล่งข่าวบริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน อินเตอร์เนชั่นแนล (YLG) กล่าวว่า บริษัทได้รับการติดต่อจากทีมรัฐบาลสิงคโปร์มาเป็นครั้งที่ 2 เพื่อให้ไปตั้งบริษัทที่สิงคโปร์และจะอำนวยความสะดวกให้ทุกอย่าง ซึ่งบริษัทมีความสนใจและอยู่ระหว่างการพิจารณาขยายสาขาไปในต่างประเทศ แต่บริษัทตั้งใจไปเปิดสาขาต่างประเทศ เพราะต้องการรองรับการเปิดเออีซีอยู่แล้ว

ส่วนเกณฑ์ที่ ธปท.จะออกมาควบคุมนั้น หวังว่าจะไม่เข้มงวดมากเกินไป และควรจะมีการออกมาเป็นนโยบายควบคุมที่ชัดเจน ซึ่งผู้ประกอบการยินดีที่จะให้ความร่วมมืออยู่แล้ว

"ที่ผ่านมาการตรวจสอบของแบงก์ชาติ มักจะใช้คนตัดสินมากกว่าใช้กฎหมาย ทำให้ความไม่ชัดเจนเกิดขึ้น ซึ่งผู้ประกอบการมองว่าเกณฑ์ที่ควบคุมตอนนี้คลุมเครือเกินไป" แหล่งข่าวกล่าว

"ฮั่วเซ่งเฮง"รับมีแผนตั้งสิงคโปร์

แหล่งข่าวบริษัท ฮั่วเซ่งเฮง กล่าวว่า กรณีการที่ ธปท.มองว่าขณะนี้มีการเก็งกำไรค่าเงินผ่านทองคำ เพราะในช่วงไตรมาส 1-2 มีการนำเข้าทองคำในประเทศในสัดส่วนอย่างมีนัยสำคัญนั้น ยอมรับว่ามีการนำเข้ามาในปริมาณที่สูงจริง แต่เพราะช่วงเวลาดังกล่าวราคาทองอยู่ในระดับต่ำทำ ให้มีคนสนใจซื้อเพิ่มขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการต้องนำเข้าเพิ่ม อย่างไรก็ตาม หากนักลงทุนจะเข้ามาเก็งกำไรค่าเงิน ไม่น่าจะใช้ทองคำเป็นทางผ่านเพราะมีต้นทุนและขั้นตอนที่ยุ่งยากกว่า

"ตอนนี้ผู้ประกอบการค้าทองคำมีความรู้สึกอึดอัดต่อการควบคุมของแบงก์ชาติ ซึ่งไม่มีความชัดเจนในการดูแลผู้ประกอบการ และการทำธุรกรรมแต่ละครั้งก็มีขั้นตอนเงื่อนไขที่ยุ่งยากรวมทั้ง มักจะมองผู้ประกอบการเป็นแพะทุกครั้ง เวลาที่ค่าเงินมีความผันผวนหรือมีแรงเก็งกำไรเข้ามา ผู้ประกอบการทองคำหลายราย จึงมีแผนจะไปตั้งสำนักงานในประเทศสิงคโปร์ เพื่อใช้เป็นฐานในการทำธุรกรรมการซื้อขายรูปแบบต่างๆ แทนที่จะทำรายการในไทย" แหล่งข่าวกล่าว

เขากล่าวว่า การที่จะไปตั้งสำนักงานในสิงคโปร์ เนื่องจากเป็นตลาดที่มีความสะดวกในการทำธุรกรรมการซื้อขายแลกเปลี่ยน ถ้าหากทำในไทยมีข้อจำกัดหลายอย่าง ที่สำคัญต้องไปเติบโตในต่างประเทศ เนื่องจากอนาคตการเปิดเสรีมากขึ้นทำให้ผู้ประกอบการก็ต้องมีการพัฒนา เพื่อรองรับนักลงทุนต่างประเทศ ในเมื่อในประเทศมีความยุ่งยากก็ต้องไปทำธุรกรรมในประเทศที่สะดวกกว่า

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าถ้าหากบริษัททองคำ หันไปใช้สิงคโปร์เป็นฐานในการทำธุรกรรมแทน ตลาดทองคำในไทยก็จะพัฒนาได้ช้าลง และอาจไม่ทันกับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี)

ธปท.ขอข้อมูลค้าทองช่วงต้นเดือนก.ย.

นายจิตติ ตั้งสิทธิ์ภักดี นายกสมาคมค้าทองคำ กล่าวว่า เมื่อต้นเดือนก.ย. ทางธปท. ได้เข้ามาขอข้อมูลและมีการพูดคุยกันถึงเรื่องการนำเข้าทองคำในปริมาณที่มีนัยสำคัญ ซึ่งสมาคมชี้แจงว่า ตัวเลขที่เพิ่มขึ้นนั้น เนื่องจากครึ่งปีแรกราคาทองคำอยู่ในระดับต่ำทำให้มีความต้องการเพิ่ม จากเดิมเคยนำเข้าประมาณ 100 ตัน ก็ขยับเพิ่มขึ้นเป็น 200 ตัน และไม่น่าจะเกิดจากแรงเก็งกำไรจากค่าเงิน แต่เป็นความต้องการที่สูงขึ้นมากกว่า

"การนำเข้าและส่งออกทองคำในช่วงที่ผ่านมา หากพิจารณาส่วนต่างก็น่าจะอยู่ระดับที่ 5-10% และถือว่ามีสัดส่วนไม่สูงมาก ดังนั้นไม่น่าจะแสดงให้เห็นถึงการเก็งกำไรที่เกินควร" นายกสมาคม กล่าว

ภาพรวมของธุรกิจทองคำที่น่าเป็นห่วงในขณะนี้ ก็คือการซื้อขายผ่านธุรกรรมออนไลน์ ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีใครเป็นเจ้าภาพในการดูแล เพราะเมื่อราคาทองคำขึ้นลงแรง และมีจังหวะในการทำกำไรได้ทำให้มีผู้สนใจลงทุนมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม เริ่มมีความเสียหายต่อผู้ลงทุนเกิดขึ้น เพราะเมื่อเข้าไปลงทุนทองคำแท่งในระบบออนไลน์ มีบริษัทที่ไม่มีที่ตั้ง จึงติดตามเอาผิดไม่ได้ และเคยหารือกับตลาดหลักทรัพย์ สำนักงาน ก.ล.ต. และ ธนาคารแห่งประเทศไทย ใครจะมาเป็นผู้ดูแลบริษัทดังกล่าว ปัจจุบันยังไม่มีข้อสรุป ขณะที่บริษัทเทรดออนไลน์มีเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยตลาดทองคำของไทยตอนนี้มีมูลค่านำเข้าทองคำสูงเป็นอันดับ 3 ของเอเชีย และอยู่ที่อันดับ 6 ของโลก ถือว่าเป็นมีขนาดใหญ่

ธปท.เกาะติดเก็งกำไรค่าเงินผ่านค้าทอง

ด้าน นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า เรื่องการเก็งกำไรอัตราแลกเปลี่ยนในส่วนของผู้ค้าทองคำนั้น เป็นเรื่องที่ ธปท. รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงการคลัง หรือ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ติดตามดูอยู่ เพียงแต่เรื่องนี้ไม่ได้เป็นเรื่องใหญ่โต หรือมีผลอะไรต่อประเทศมากนัก แต่ก็เป็นเรื่องที่ต้องดูแลเพื่อให้เกิดความเรียบร้อยภายในประเทศ

"ช่วงที่ผ่านมา จะเห็นว่า ตลาดการเงิน หรือ สกุลเงินสำคัญมีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างรวดเร็ว และตลาดการเงินโลกก็มีความผันผวนไม่น้อย ทั้งยังไปสัมพันธ์กับโลหะมีค่าเช่นทองคำ ทำให้มีความผันผวนมาก แต่โดยรวมไม่ได้เป็นปัญหาใหญ่ เพียงแต่เรามีหน้าที่ต้องติดตามปรึกษาหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง” นายประสาร กล่าว

เขากล่าวด้วยว่า แม้ปัจจุบันยังไม่มีหน่วยงานใดที่รับผิดชอบดูแลโดยตรงในเรื่องนี้ แต่ก็มีกฎหมายพื้นฐาน เช่น พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เงินตรา และ การควบคุมปริวรรตเงินตรา รวมถึงการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (ฟิวเจอร์ส) ที่อยู่ภายใต้ พ.ร.บ.สัญญาซื้อขายล่วงหน้า ซึ่งถือเป็นสัญญามาตรฐานที่อยู่ภายใต้การดูแลของตลาดซื้อขายล่วงหน้าแห่งประเทศไทย (ทีเฟ็กซ์) ส่วนที่นอกเหนือจากนี้ ผู้เกี่ยวข้องก็กำลังดูอยู่ว่า ควรมีอะไรออกมาดูแลเพิ่มเติมหรือไม่

นายประสาร กล่าวก่อนหน้านี้ว่า ต้องการวางกติกาเกี่ยวกับการซื้อขายทองคำ เพื่อป้องกันการเก็งกำไรอัตราแลกเปลี่ยน เนื่องจากพบว่ามีปริมาณการซื้อขายทองเพิ่มมากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาพบว่าตัวเลขที่ซื้อขายเงินตรามีมากกว่าการซื้อขายทองคำมาก อย่างมีนัยสำคัญ

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่