"ไจก้า"หนุนทางหลวง ยกระดับมอเตอร์เวย์สาย 9 รับน้ำท่วม

กระทู้ข่าว


'ไจก้า'หนุนทางหลวง ยกระดับมอเตอร์เวย์สาย 9 รับน้ำท่วม

"ไจก้า" หนุนแผนฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐาน อัดงบฯ กว่าพันล้าน เพื่อยกระดับถนนมอเตอร์เวย์ สาย 9 ด้านขาออกช่วงลำลูกกา ถึงทางแยกต่างระดับบางปะอิน รวมระทางทั้งหมดประมาณ 15 กิโลเมตร พร้อมรับมือน้ำท่วม...

เมื่อวันที่ 21 ก.ย. นายชัชชาติ สิทธิพันธ์ุ รมว.คมนาคม กล่าวภายหลังกรมทางหลวง จัดพิธี Ground Breaking Ceremony โครงการบูรณะทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 9 ว่า เส้นมอเตอร์เวย์สาย 9 มีความสำคัญ เนื่องจากเป็นเส้นจราจรระหว่างเมืองไปสู่นิคมอุตสาหกรรมหลายแห่ง เช่น นิคมโรจนะ นิคมนวนคร ทั้ง จ.พระนครศรีอยุธยา และ จ.ปทุมธานี รวมไปถึงเส้นทางของรถบรรทุกที่ต้องไปท่าเรือแหลมฉบัง

ทั้งนี้ จากเหตุการณ์น้ำท่วมเมื่อ 2 ปีก่อน ได้สร้างความเสียหายค่อนข้างมาก ต่อมาองค์การความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ หรือไจก้า ตัวแทนรัฐบาลญี่ปุ่น ได้มาศึกษาเพื่อวางแผนป้องกัน และหนึ่งในแผนนั้นก็คือ การยกระดับถนนให้สูงขึ้นอีก 10-20 เซนติเมตร โดยใช้ระดับความสูงจากปริมาณน้ำท่วมครั้งที่แล้วมาเป็นเกณฑ์การเพิ่มความสูงพื้นถนน ซึ่งหากว่าเกิดเหตุน้ำท่วมขึ้นอีก ก็จะไม่ส่งผลกระทบด้านการจราจร แม้ว่าจะมีเหตุอุทกภัยเกิดขึ้นอีกก็ตาม

ทั้งนี้ หลังจากประเทศไทยประสบอุทกภัยครั้งใหญ่ เมื่อปี 2554 สร้างความเสียหาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางหลวงพิเศษ จำนวน 14 สายทาง ที่อยู่รอบนิคมอุตสาหกรรมใน จ.พระนครศรีอยุธยา และปทุมธานี ทางหลวงจึงเร่งหาทางบูรณะฟื้นฟู โดยเสนอแผนให้รัฐบาล และต่อมาภายหลังการหารือระหว่างไทย-ญี่ปุ่น ทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 หรือถนนวงแหวนรอบนอก ด้านตะวันออก คือพื้นที่เป้าหมายตามแผนป้องกันอุทกภัยในอนาคตที่กำหนดขึ้น ภายหลังรัฐบาลญี่ปุ่น โดยไจก้า ได้เข้าพบหารือกับผู้บริหารกระทรวงคมนาคม และกรมทางหลวงเพื่อเจรจาเกี่ยวกับการช่วยเหลือฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานที่ได้รับความเสียหายจากเหตุอุทกภัย เมื่อปี 2554 รวมทั้งแผนป้องกันในอนาคต ซึ่งทาง ไจก้า ได้เสนอให้ความช่วยเหลือแบบให้เปล่าแก่กรมทางหลวง ผ่านโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 9 ถนนวงแหวนรอบนอก เพื่อให้เป็นเส้นทางที่จะสามารถรองรับการขนส่งได้แม้เกิดเหตุน้ำท่วมก็ตาม

โครงการดังกล่าวได้ออกแบบโดยการยกระดับถนนกาญจนาภิเษกฝั่งตะวันออก ทางด้านขาออกช่วงลำลูกกา ถึงทางแยกต่างระดับบางปะอิน รวมระยะทางทั้งหมดประมาณ 15 กิโลเมตร โดยมีมูลค่างานทั้งหมดประมาณ 3 พัน 2 ร้อยกว่าล้านเยน หรือกว่า 1 พันล้านบาทไทย ส่วนระยะเวลาการดำเนินงานประมาณ 19 เดือน เริ่มตั้งแต่ 1 มิ.ย. 2546 ถึง 15 ธ.ค. 2557


ไทยรัฐออนไลน์

    โดย ทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์
    21 กันยายน 2556, 19:26 น.

http://www.thairath.co.th/content/eco/371239
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่