ความเผ็ดจากพริกลดความเสี่ยงเกิดโรค

กระทู้ข่าว
พริก มีหลายชนิด เราสามารถเรียงลำดับความเผ็ดของพริกจากมากไปหาน้อย คือ พริกขี้หนู พริกเหลือง พริกชี้ฟ้า พริกหยวก และพริกหวาน ทำไมพริกถึงมีรสเผ็ด เนื่องจาก พริก มีรสเผ็ดเพราะว่ามีสารชนิดหนึ่งคือแคปไซซิน (Capsicin) ซึ่งเป็นสารธรรมชาติจำพวกแอลคาลอยด์ ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น ทนทานต่อความร้อนและความเย็น ดังนั้น การต้มให้สุกหรือแช่แข็งก็ไมมีผลทำให้รสเผ็ดสูญเสียไป แคปไซซิน จะพบมากอยู่ในเยื่อแกนกลางสีขาวหรือเรียกกันว่า รก (Placenta) ส่วนเปลือกและเมล็ดของ พริก จะมีสาร แคปไซซิน น้อยมาก ซึ่งคนทั่วไปมักคิดว่าเมล็ดของพริกคือส่วนที่เผ็ดที่สุด

พริกลดความเสี่ยงจากโรคได้อย่างไร

ลดความเสี่ยงเกิดภาวะไขมันอุดตันในเส้นเลือดและหัวใจขาดเลือด มีการศึกษาในหลอดทดลองพบว่า แคปไซซิน สามารถลดการจับกลุ่มของเกล็ดเลือดได้ และจากการศึกษาในคนพบว่า เมื่อให้กินพริกขี้หนูสด 5 กรัม สับละเอียดพร้อมน้ำ 1 แก้ว แล้ววัดการจับกลุ่มของเกล็ดเลือดหลังจากกินทันที จนถึง 1 ชั่วโมงหลังการกิน พบว่ามีการยืดระยะเวลาการจับกลุ่มของเกล็ดเลือดออกไป และยังศึกษาในระยะยาวโดยให้คนกินพริกขี้หนูวันละ 5 กรัมพร้อมอาหารปกติเป็นเวลา 4 สัปดาห์ พบว่า หลังจากกินแล้ว 4 สัปดาห์ การจับกลุ่มของเกล็ดเลือดก็มีการยืดเวลาออกไปเช่นกัน การที่เกล็ดเลือดมีการจับกลุ่มหรือรวมตัวกันยากนี้จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะไขมันอุดตันในเส้นเลือดและภาวะหัวใจขาดเลือด

บรรเทาอาการไข้หวัดและช่วยให้หายใจสะดวกยิ่งขึ้น เนื่องจากสาร แคปไซซิน ที่อยู่ในพริกจะช่วยลดน้ำมูกหรือสิ่งกีดขวางระบบทางเดินหายใจ

ลดปริมาณคอเลสเตอรอล แคปไซซินช่วยป้องกันไม่หให้ตับสร้างคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี ขณะเดียวกันส่งเสริมให้มีการสร้างคอเลสเตอรอลชนิดดีแก่ร่างกาย และทำให้ไตรกลีเซอไรด์ในกระแสเลือดลดต่ำลง

ทำให้อารมณ์แจ่มใส เนื่องจากสารแคปไซซินนี้จะมีการส่งสัญญาณไปที่ต่อมใต้สมองให้หลั่งสารเอนดอร์ฟินออกฤทธิ์คล้ายมอร์ฟีน จึงช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวด และทำให้อารมณ์แจ่มใส

ข้อควรระวังการรับประทานพริก

-ผู้ป่วยโรคกระเพาะอาหารอักเสบ เนื่องจากสารแคปโซซินพริกมีฤทธิ์เป็นกรด เมื่อกินเข้าไป กรดใน พริก จะเข้าไปกัดกระเพราะอาหารให้เป็นแผล

- เด็กและผู้สูงอายุที่สำลักง่าย เพราะถ้าสำลักเข้าไปในหลอดลม แคปโซซิน ที่เป็นกรดอาจกัดหลอดลม ทำให้เกิดปัญหาหลอดลมหดเกร็ง ตีบ บวม และหายใจไม่ออก


ที่มา : ความรู้เกี่ยวกับการใช้ยาและอาหารเสริม
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่