คอนซูเมอร์ครึ่งหลังจุก 'โปรโมชัน'ดันไม่ขึ้น /ซื้อเฉพราะสินค้าจำเป็น

สินค้าคอนซูเมอร์ครึ่งปีหลังยังน่าห่วง  คาดเติบโตต่ำกว่าครึ่งปีแรกแม้ค่ายยักษ์แห่ปรับกลยุทธ์  "ส.ขอนแก่น" เผยยอดขายสแน็กลดฮวบ 37%  ขณะที่เครือสหพัฒน์ ยังไม่เห็นปัจจัยบวก  "ไลอ้อน"  รับสภาพยอดครึ่งปีแรกโตแค่ 10%  ต่ำกว่าที่คาดการณ์  ประเมินภาพรวมธุรกิจโตได้เต็มที่ 5-6%  ชี้กลยุทธ์โปรโมชันไม่ช่วยเพิ่มยอดขาย  เน้นพัฒนาสินค้าสร้างการเติบโตแบบยั่งยืน
กำลังซื้อของผู้บริโภคชะลอตัวลงอย่างเห็นได้ชัดตั้งแต่ต้นปี เพราะมีแรงฉุดกำลังซื้อจากปัจจัยค่าใช้จ่ายกับรถยนต์คันแรก  และค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้เงินในกระเป๋าที่มีอยู่ลดลง  ส่วนเงินที่เหลือมูลค่าก็น้อยลงเมื่อเทียบกับราคาสินค้าที่ขยับเพิ่มขึ้นมาโดยตลอด   ทำให้ภาพรวมครึ่งปีแรกที่ผ่านมา  ผลการดำเนินงานของหลายบริษัทในกลุ่มคอนซูเมอร์โปรดักต์ไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ได้วางเอาไว้  บางรายยอดขายกลับลดลงด้วยซ้ำ

    นายนรินทร์  พุ่มวิวัฒน์ศิริกุล  ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการเงิน บริษัท ส.ขอนแก่น จำกัด (มหาชน)  กล่าวยอมรับกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ช่วง 6 เดือนแรกที่ผ่านมาเศรษฐกิจถดถอย  กำลังซื้อหดตัวลง  ทำให้บริษัทได้รับผลกระทบในด้านการเติบโตที่วางเป้าหมายไว้ 10-15% แต่ผลประกอบการที่ออกมาเติบโตเพียง 7.3% เท่านั้น  ซึ่งยอดขายที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัดเป็นกลุ่มสแน็ก แบรนด์ออง-เทร่ ที่ลดต่ำลงถึง 37% จากการที่ผู้บริโภคนำเงินไปใช้จ่ายในเรื่องที่จำเป็นต่อการดำรงชีพมากกว่า  แม้แต่ผู้จัดจำหน่ายอย่างดีทแฮล์มก็ยังระบุว่า  สินค้าหลายรายการยอดขายลดลง หรืออย่างดีทำได้เพียงเสมอตัวเท่านั้น  หรือแม้แต่เนสท์เล่เองก็ยอมรับว่ายอดขายของบริษัทไม่ได้เพิ่มมากขึ้น  อยู่ในภาวะทรงตัว

    ด้านนายบุญฤทธิ์ มหามนตรี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไลอ้อน (ประเทศไทย)จำกัด บริษัทในเครือสหพัฒน์   กล่าวยอมรับเช่นกันว่า ขณะนี้บรรดาร้านค้าต่างๆ พบปัญหากำลังซื้อที่ชะลอตัวลง  ซึ่งมีปัจจัยสำคัญจากปัญหาเศรษฐกิจที่ไม่เติบโตตามที่ได้คาดการณ์ไว้   ทำให้ยอดขายของผู้ประกอบการหลายรายไม่ได้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้  แม้แต่บริษัทเองก็มียอดขายเติบโต 10% จากเป้าหมาย 15%   แต่ที่ยังคงมีการเติบโตได้นั้น  เป็นเพราะสินค้าอุปโภคบริโภค ได้รับผลกระทบน้อยกว่าสินค้ากลุ่มอื่น  และในปีนี้เป็นการเติบโตที่ยืนอยู่บนพื้นฐานของความต้องการที่แท้จริง  จากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เคยซื้อสินค้าด้วยแรงกระตุ้นของโปรโมชันหรือการส่งเสริมการขายนั้นก็ลดปริมาณลงไปมาก  เรียกได้ว่ากลยุทธ์การส่งเสริมการขายไม่ได้กระตุ้นให้ผู้บริโภคซื้อสินค้าเพิ่มมากขึ้น  แต่เป็นการซื้อด้วยความจำเป็นที่จะต้องใช้ในชีวิตประจำวันมากกว่า

    ผู้บริหารของไลอ้อนยังวิเคราะห์ตลาดสินค้าคอนซูเมอร์อีกว่า  โดยปกติในช่วงครึ่งปีแรกสัดส่วนยอดขายของจะมีน้อยกว่าช่วงครึ่งปีหลัง  แต่ปีนี้ทิศทางอาจจะกลับด้านกัน  เพราะแนวโน้มในช่วงเวลาที่เหลือยังไม่เห็นปัจจัยด้านบวกที่จะเข้ามาส่งเสริมตลาดให้เพิ่มขึ้น  และเป็นไปได้ว่าตลอดทั้งปีนี้ตลาดของสินค้าอุปโภคบริโภค  จะเติบโตได้เพียง 5-6% จากปกติเติบโตกว่า 8% เท่านั้น  โดยเป็นผลกระทบจากเงินในกระเป๋าของผู้บริโภคที่ถูกแบ่งไปใช้ในด้านอื่น  โดยเฉพาะกับรถยนต์คันแรก  และสินค้ากลุ่มอาหารที่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง  จึงดูเหมือนว่ากำลังซื้อของผู้บริโภคลดลง


    หากมองถึงแนวโน้มและทิศทางในช่วงครึ่งปีหลัง  ซึ่งเป็นช่วงของฤดูกาลขายสินค้า  แต่หลายฝ่ายก็ยังมองไม่เห็นว่าแนวโน้มกำลังซื้อจะกลับมาพลิกฟื้น  หรือส่งเสริมให้ตลาดเติบโตได้อย่างไร  สอดคล้องกับนายบุญชัย  โชควัฒนา ประธานกรรมการ บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน)  ที่ระบุว่าช่วงครึ่งปีหลังโดยเฉพาะไตรมาสสุดท้าย ยังไม่มีสัญญาณที่จะบ่งชี้ถึงปัจจัยบวกต่อการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคแต่อย่างใด  ขณะที่ช่วงต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา  ก็มีการปรับเพิ่มขึ้นของค่าไฟฟ้า  ค่าก๊าซ  ที่ล้วนแต่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อต้นทุนสินค้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
    แม้แต่นายบุญเกียรติ โชควัฒนา กรรมการผู้อำนวยการและประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไอ.ซี.ซี.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด(มหาชน)  อีกหนึ่งบริษัทในเครือสหพัฒน์ ก็กล่าวว่า ยังไม่เห็นว่านับจากนี้จะมีปัจจัยด้านบวกอะไรที่ทำให้กำลังซื้อฟื้นตัวได้ดีกว่าช่วงครึ่งปีแรก  ตลอดทั้งปีนี้จึงต้องยอมรับกับสภาพกำลังซื้อที่ชะลอตัวลง  การดำเนินธุรกิจปัจจุบันคงไม่ได้คำนึงว่าจะมีเป้าหมายการเติบโตต่ออย่างไร  เพียงแต่รักษาระดับผลการดำเนินงานให้ไม่ลดลง  และรอการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในปีหน้าแทน  เพราะเศรษฐกิจของสหรัฐฯและยุโรปกำลังฟื้นตัว ที่จะส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจไทยในด้านการนำเข้าและส่งออกสินค้า
  
      กลยุทธ์ทางการตลาด ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมการขาย หรือการโปรโมชันต่างๆ  ที่หลายคนมองว่าจะถูกหยิบมาใช้มากขึ้นเพื่อสร้างการเติบโตนั้น  ผู้บริหารจากค่ายไลอ้อน  ประเมินว่าปัจจุบันเป็นเรื่องของภาวะการแข่งขันทางการตลาด  ที่สินค้าแต่ละค่ายต่างต้องแย่งชิงส่วนแบ่งทางการตลาดมาเป็นของตนเอง  โดยเฉพาะกับภาวะตลาดที่มีกลุ่มลูกค้ามีอยู่จำกัด ผู้บริโภคเลือกซื้อสินค้าตามความจำเป็นมากกว่า   ซึ่งทุกค่ายต่างก็ยังคงใช้กลยุทธ์ต่างๆ ดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง

   แนวโน้มสินค้าสำหรับกลุ่มอุปโภคบริโภค  จะไม่มีการปรับราคาเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด  แต่จะหันมาเน้นในเรื่องของการพัฒนาคุณภาพของสินค้า  และการบริหารต้นทุน  เพื่อให้เกิดการเติบโตอย่างยั่งยืน  เพราะแนวโน้มของผู้บริโภคจะมุ่งเน้นในการเลือกซื้อสินค้าด้วยคุณภาพเพิ่มมากขึ้น  ส่วนราคาสินค้าที่ว่ามีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นจะเป็นกลุ่มสินค้าอาหารมากกว่า  โดยเฉพาะประเภทอาหารสดหรืออาหารปรุงสำเร็จ  ที่ได้รับผลกระทบจากต้นทุนสินค้าด้านการเกษตรที่ปรับเพิ่มขึ้น รวมถึงต้นทุนจากค่าเชื้อเพลิงที่เพิ่มสูงขึ้นนั่นเอง  ทำให้เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคให้ลดลงตามมาด้วย
    อย่างไรก็ดี แม้ผู้ประกอบการในธุรกิจคอนซูเมอร์รายใหญ่จะพยายามดิ้นรน ด้วยการปรับลดไซซ์  เพื่อให้สินค้ามีราคาถูกลง และผู้บริโภคสามารถซื้อได้ง่ายขึ้น  หรือการเพิ่มปริมาณในราคาเท่าเดิมเพื่อสร้างความคุ้มค่า แต่ดูเหมือนกลยุทธ์นี้จะไม่ได้ผลเหมือนในอดีต  ขณะที่ผู้ประกอบการบางรายอย่าง "ยูนิลีเวอร์" เลือกที่จะหันพัฒนาผลิตภัณฑ์ในกลุ่มที่สูง (พรีเมียม) ขึ้น เพื่อขยายฐานไปยังกลุ่มผู้มีรายได้สูง ซึ่งได้รับผลกระทบจากค่าครองชีพน้อยกว่ากลุ่มผู้มีรายได้น้อย ก็ถือเป็นอีกทางเลือกที่จะพยุงธุรกิจในรอดวิกฤตครั้งนี้ไปได้

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 33 ฉบับที่ 2,880  วันที่  19 - 21   กันยายน  พ.ศ. 2556
credit :  http://www.thanonline.com/index.php?option=com_content&view=article&id=199305:2013-09-17-08-51-48&catid=106:-marketing&Itemid=456

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่