ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับ LPG สำหรับท่านที่สนใจนะครับ

กระทู้สนทนา
กระทู้นี้ผมจะไม่แตะหรือวิจารณ์เรื่องราคาใครซื้อแพงซื้อถูกนะครับ ว่ากันตามหลักฐาน แหล่งอ้างอิง ที่มีเพื่อเป็นพื้นฐานให้กับคนที่สนใจนะครับ

LPG คืออะไร?
LPG ย่อมาจาก Liquefied Petroleum Gas เป็นสารประกอบไฮโดรคาร์บอนที่เป็นของผสมระหว่าง ไฮโดรคาร์บอนที่มีคาร์บอน 3 อะตอม ได้แก่ propane, propylene, isopropane และ ไฮโดรคาร์บอนที่มีคาร์บอน 4 อะตอม ได้แก่ butane, butylene, isobutane

โดย LPG เมื่อถูกบรรจุอยู่ในภาชนะ เช่น ถังก๊าซภายใต้แรงดันประมาณ 100-150 psi จะมีสถานะเป็นของเหลวที่มีความหนาแน่นน้อยกว่าน้ำประมาณ 2 เท่า ดังนั้นเมื่อเกิดการรั่วไหลในสถานะน้ำ LPG (ที่เป็นน้ำ) จะลอยตัวอยู่เหนือผิวหน้าของน้ำ (เพราะมันเบากว่าน้ำ)

แต่เมื่อถูกปล่อยสู่บรรยากาศจะมีสถานะเป็นก๊าซที่มีความหนาแน่นมากกว่าอากาศประมาณ 2 เท่า ดังนั้นเมื่อเกิดการรั่วไหลของก๊าซ LPG มันจะลอยตัว(หรือสะสม) อยู่ในที่ต่ำ (เพราะมันหนักกว่าอากาศ)

LPG ที่เราใช้ในประเทศมาจากไหน? ตามรูปเลยครับ

อธิบายเพิ่มเติม
แหล่งที่มาที่ 1 คือจากโรงแยกก๊าซธรรมชาติ (Gas Seperation Plant: GSP) ซึ่งมีวัตถุดิบคือก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทย โดย ในก๊าซธรรมชาตินั้นจะมีสารประกอบไฮโดรคาร์บอนที่มีคาร์บอนตั้งแต่ 1 อะตอม (ที่เรียกว่า methane และนำไปผลิตเป็นก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์-Natural Gas for Vehicle: NGV) ไปจนถึงคาร์บอนมากกว่า 5-10 อะตอม ซึ่งจะถูกผ่านเข้าโรงแยกก๊าซเพื่อแยกออกมาเป็นคาร์บอนอะตอมต่างๆ ซึ่ง คาร์บอน 3 และ 4 อะตอมบางส่วนที่แยกได้จะถูกนำมารวมกันกลายเป็น LPG และอีกบางส่วน (โดยไม่นำคาร์บอน 3 และ 4 อะตอมมาผสมกัน) จะถูกนำไปใช้เป็นวัตถุดิบปิโตรเคมี
แหล่งที่มาที่ 2 คือจากโรงกลั่นน้ำมัน (Refinery) ซึ่งมีวัตถุดิบคือน้ำมันดิบที่ส่วนมากต้องนำเข้าจากต่างประเทศ (ประมาณ 80-85%) และส่วนน้อยจากแหล่งน้ำมันดิบในประเทศ ก็เช่นเดียวกันกับในก๊าซธรรมชาติกล่าวคือในน้ำมันดิบนั้นก็มีสารประกอบไฮโดรคาร์บอนที่มีคาร์บอนอะตอมต่างๆอยู่รวมกัน เมื่อนำมาผ่านกระบวนการกลั่นก็จะได้น้ำมันและก๊าซชนิดต่างๆ ซึ่ง คาร์บอน 3 และ 4 อะตอมบางส่วนที่แยกได้จะถูกนำมารวมกันกลายเป็น LPG และอีกบางส่วน (โดยไม่นำคาร์บอน 3 และ 4 อะตอมมาผสมกัน) จะถูกนำไปใช้เป็นวัตถุดิบปิโตรเคมี
แหล่งที่มาที่ 3 คือจากการนำเข้ามาในรูปก๊าซเหลวจากต่างประเทศ เนื่องจาก LPG ที่ได้จาก 2 แหล่งในประเทศไม่เพียงพอต่อความต้องการจึงต้องมีการนำเข้ามาเพื่อให้พอใช้แก่ทุกภาคส่วนในประเทศ

LPG ที่เราใช้ในประเทศเอาไปทำอะไรบ้าง? ตามรูปเลยครับ

อธิบายเพิ่มเติม
กลุ่มที่เอาไปใช้เป็นเชื้อเพลิง ได้แก่ ภาคครัวเรือน ภาคขนส่ง และภาคอุตสาหกรรม
กลุ่มที่เอาไปใช้เป็นวัตถุดิบ ได้แก่ ภาคอุตสาหกรรมปิโตรเคมี
โดยสองกลุ่มนี้มีความแตกต่างกันในเรื่องของราคากล่าวคือ การนำ LPG ไปใช้เป็นเชื้อเพลิงนั้นจะมีการเสียภาษีสรรพสามิต เพราะถือว่าเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยใช้แล้วหมดไป ขณะที่กลุ่มที่นำไปใช้เป็นวัตถุดิบจะมีการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผลิตภัณฑ์ปลายทางแทน

เปรียบเทียบการนำ LPG ไปใช้เป็นเชื้อเพลิงและเป็นวัตถุดิบ
ตามรูปเลยครับ


สำหรับท่านที่อ่านมาถึงบรรทัดนี้ ผมมีข่าวร้าย (หรือข่าวดี) จะแจ้งครับ จริงๆแล้วมันมีคลิปวีดีโอที่เสียเวลาดูแค่ 2 นาทีก็รู้เรื่องเกือบทั้งหมดจากที่ท่านอ่านมาจนถึงตัวอักษรนี้แล้วครับ ตามคลิปนี้เลย

คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ



เดี๋ยวจะหาว่าผมทำให้ท่านเสียเวลาอ่านผมมีข้อมูลเพิ่มเติมให้ครับ
หากท่านสนใจข้อมูล Demand-Supply ของ LPG ที่ละเอียดและลึกกว่าที่ผมให้อ่านข้างบนคลิกตามลิ้งค์นี้เลยครับ http://www.eppo.go.th/info/2petroleum_stat.htm
แล้วเลื่อนเมาส์ลงมาล่างสุดที่ตาราง  Table 2.4-2: Demand and Supply of LPG, Propane and Butane เพื่อดูข้อมูลตามภาพนี้นะครับ


ก็หวังว่ากระทู้นี้จะเป็นประโยชน์ต่อท่านที่สนใจเรื่อง LPG ไม่มากก็น้อยนะครับ ถ้าไม่ติดขี้เกียจเดี๋ยวผมจะมาตั้งกระทู้ตอน 2 เกี่ยวกับ LPG ให้อ่านกันนะครับ

ปล. ใครมีคำถามอะไรก็ฝากไว้นะครับ จะตอบเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหากระทู้นะ ที่เกินเลยขอบเขตนี้ไป ถือว่าท่านอยากแสดงความเห็นของท่านเองก็แล้วกัน (อ้อแล้วก็จะตอบเฉพาะเท่าที่สติปัญญาพึงมีด้วยล่ะครับ)
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่