ยกธงขาว

กระทู้สนทนา


ยกธงขาว
กันยายน 11, 2013 Filed under บทความ Posted by verapong /ThaiVI
http://www.facebook.com/PookHoonKinPhol

ตลาดหุ้นในปี 2556 มีสภาวะที่ผันผวนรุนแรงมากอีกปีหนึ่ง เป็นปีที่นักลงทุนมีอารมณ์เปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือในเวลาแค่ไม่กี่เดือน เริ่มตั้งแต่ภาพที่สวยหรูในช่วงไตรมาสแรกที่ดัชนีปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว จนเหมือนว่าปีนี้จะเป็นปีที่สดใส นักลงทุนหน้าใหม่เกิดขึ้นจำนวนมาก และทุก ๆ คนสามารถทำกำไรกันอย่างง่ายดายหลายสิบหลายร้อยเปอร์เซนต์จากหุ้นในอุตสาหกรรมที่ร้อนแรง มีกระแสการลาออกเพื่อเล่นหุ้นอย่างเดียวซึ่งเหมือนจะทำเงินได้ดีกว่างานประจำมากมาย
อย่างไรก็ดี ภาพฝันเหล่านั้นก็เริ่มกลับมาสู่ความเป็นจริง เมื่อตลาดหุ้นและเศรษฐกิจเริ่มชะลอตัวลง ไม่ว่าจะเป็นการบริโภคในประเทศและการส่งออก อีกทั้งยังเกิดกระแสเงินไหลออกจากกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาไปสู่ประเทศพัฒนาแล้ว สภาวะตลาดหุ้น แตกต่างโดยสิ้นเชิงกับตลาดหุ้นในช่วงกระทิงตั้งแต่หลังวิกฤต Subprime ซึ่งแม้ว่าจะมีวิกฤตเล็ก ๆ น้อย ๆ ปนบ้าง เช่นน้ำท่วมใหญ่ แต่ตลาดหุ้นก็สามารถกลับขึ้นมาได้อย่างรวดเร็ว แต่ตลาดหุ้นในปีนี้มีหุ้นหลาย ๆ ตัวโดยเฉพาะที่พื้นฐานไม่แข็งแรง ตกลงมาอย่างหนัก และเหมือนว่าโอกาสจะกลับขึ้นมาอีกเป็นไปได้ยาก
ถ้าจะมองการลงทุนเป็นการศึกสงคราม และต้องวางกลยุทธ์ ผมคิดนี่คือสภาวะตลาดที่เปลี่ยนแปลง และแม่ทัพจำเป็นต้องตรวจแถวทหาร และรวบรวมข้อมูลกำลังรบที่มีอยู่ในปัจจุบัน ผมเห็นนักลงทุนหลายคนทิ้งหุ้นไว้ในพอร์ตโดยไม่กล้าดูหรือทำอะไร ซึ่งไม่เป็นผลดี แต่สิ่งที่ควรจะทำอย่างยิ่งน่าจะเป็นสามเรื่องต่อไปนี้
1. การทำสงครามในตลาดหุ้น ต้องหัดยอมแพ้ หรือ “ยกธงขาว” ในบางสมรภูมิให้เป็น จำไว้ว่าเราสามารถแพ้ในบางสมรภูมิได้แต่อย่ายอมแพ้สงคราม ในสงครามโลกครั้งที่สอง นายพลดักลาส แมคอาเธอร์ หนีออกจากฟิลิปปินส์ เนื่องจากต้านทานกำลังจักรวรรดิ์ญี่ปุ่นไม่ไหว การยอมแพ้ครั้งนั้น ทำให้กองทัพสหรัฐเริ่มสะสมกำลังจนสามารถรุกกลับมาได้ในภายหลัง แตกต่างจากจักรวรรดิ์ญี่ปุ่นที่ขยายแนวรบจนกว้างทั่วทั้งแปซิฟิก และเสียกำลังในการรักษาสมรภูมิที่ไม่สำคัญ และการส่งกองกำลังบำรุงยากลำบากจำนวนมาก เช่นกัลดาคาแนล หรือหมู่เกาะมาเรียนา ดังนั้นถ้ารู้ว่าหุ้นพื้นฐานไม่ดี หรือเราไม่เข้าใจในหุ้นตัวนั้น ๆ การยอมแพ้เพื่อรักษาภาพรวมย่อมดีกว่า แนวคิดว่าไม่ขายไม่ขาดทุนผมคิดว่าเป็นแนวคิดหนึ่งที่แย่ที่สุดในตลาดหุ้น
2. ในขณะเดียวกัน บางพื้นที่ เราต้อง “ห้ามยอมแพ้” หรือยอมยกธงขาวเป็นอันขาด ถ้าหุ้นที่มีศักยภาพสูงตกลงมาต่ำกว่ามูลค่า การไม่ยอมแพ้และถือต่อ ย่อมเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องกว่า หุ้นในบางครั้งสามารถตกลงมาถูกอย่างไม่น่าเชื่อได้ และน่าแปลกใจที่เวลานั้น เป็นเวลาที่นักลงทุนอึดอัดและอยาก “ยกธงขาว” หรืออยากขายเป็นที่สุด ถ้าดูสงครามโลกภาคพื้นยุโรป กองทัพสหภาพโซเวียตต้องต้านทานกำลังจากนาซีเยอรมัน ผลการรบทำให้สหภาพโซเวียตต้องพ่ายแพ้ในหลาย ๆ เมือง แต่เมืองอย่างเลนินกราด (ปัจจุบันคือเซนต์ปีเตอร์เบิร์ก) รวมถึงสตาลินกราด ก็ถูกปกป้องรักษาไว้ ในฐานะที่เป็นเมืองที่เป็นยุทธศาสตร์สำคัญ เป็นเมืองที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของโซเวียต และเป็นสัญลักษณ์ของประเทศ ด้วยขวัญกำลังใจทหารที่สามารถรักษาที่มั่นที่เป็นยุทธศาสตร์สำคัญได้ ทำให้กองทัพนาซีเยอรมันต้องพ่ายแพ้ในสงครามครั้งนี้ไปในที่สุด ในฝั่งนาซีเยอรมัน เมื่อถึงคราวที่เพลี่ยงพล้ำ ทั้ง ๆ ที่สามารถถอยหนี และรักษากำลังได้ แต่กลับต้องเสียทหารเป็นจำนวนมาก และเป็นจุดหักเหให้กองทัพเยอรมันต้องเสียทหารเป็นจำนวนมาก และแพ้สงครามในภาพใหญ่ในที่สุด
3. กล้าโยกย้ายกองกำลัง เพราะทุกครั้งที่เกิดการเปลี่ยนแปลง ย่อมเกิดโอกาสขึ้นทุกครั้ง ผมคิดว่ากองกำลังจำนวนมากหรือเปรียบเสมือนราคาหุ้นในพอร์ตไม่ได้เป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับการรบในระยะยาว สิ่งที่สำคัญกว่าคือกองกำลังไปอยู่ในพื้นที่ ๆ ถูกต้องเพื่อชนะสงครามหรือไม่ ในสงครามสามก๊ก จ๊กก๊กของเล่าปี่แตก เนื่องจากกองกำลังเล็ก ๆ ของวุยก๊กที่ลัดเลาะชายเขา และเข้าจู่โจมวังหลวงโดยตรง ทั้ง ๆ ที่ขงเบ้งในตอนที่มีชีวิตอยู่เคยบอกว่าให้รักษากองกำลังทหาร 2,000 นายเพื่อป้องกันยุทธศาสตร์นี้ไว้ แต่ยามวิกฤตทุกอย่างก็กลับลืมไปเสียหมด เช่นเดียวกับตลาดหุ้น ทุกวิกฤตหรือทุกครั้งที่หุ้นลงหนัก ๆ คือโอกาส การมีหรือไม่มีเงินสด ไม่สำคัญเท่าการมีวิสัยทัศน์และทัศนคติที่ถูกต้อง หลายครั้งที่นักลงทุนไม่กล้าขาย เพราะ “จำต้นทุน” ตัวเองได้ และไม่อยากขายขาดทุน หรือ “ไม่กล้าซื้อหุ้น” เพราะกลัวราคาหุ้นจะลงมาอีก เหมือนกับแม่ทัพที่กลัวไปหมด จนไม่สามารถจัดสรร ถ่ายเททรัพยากร เพื่อทำการรบได้อย่างมีประสิทธิภาพ
จำไว้ว่าแม่ทัพ “ยกธงขาว” ได้ แต่ต้องถูกที่ ถูกเวลา เพราะนั่นจะเป็นจุดตัดสินว่า สงครามครั้งนี้ คุณจะอยู่รอดและผ่านไปได้อย่างสวยงาม หรือจะเป็นจุดเปลี่ยนให้คุณออกจากสมรภูมิแห่งการลงทุนไปตลอดกาล

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่