จดหมายนำเรียน ฯพณฯ ท่านยิ่งลักษณ์ ชินวัตรและคณะ ต่อกรณีการเรียกร้องของพี่น้องชาวสวนยางพารา

ประเวศ กทม.


                                                                            11 กันยายน 2556

เรื่อง    ข้อมูลเพิ่มเติมประกอบการพิจารณาเรื่องราคายางพารา

เรียน    ฯพณฯท่าน ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และคณะ ที่เคารพ

      กระผมราษฎรตำบลเทนมีย์  อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์  ใคร่ขอนำมุมมองเล็ก ๆ มาเรียนท่านไว้เป็นข้อมูลพิจารณา ก่อนที่ท่านจะตัดสินใจนำเงินภาษีของประชาชนทั้งประเทศ ไปอุดหนุนนักธุรกิจสวนยางพารา

    กระผมมีความกังวลใจไม่น้อย ว่าในที่สุด ท่านจะต้องยอมตามข้อเรียกร้องของพี่น้องชาวสวนยางพารา  เพื่อคงไว้ซึ่งสถานภาพ อำนาจ และความอยู่รอดของรัฐบาลท่านเอง  จึงจำเป็นต้องเขียนจดหมายฉบับนี้ ลงในเว็ปบอร์ดพันทิป ห้องราชดำเนินแห่งนี้  โดยคาดหวังว่าคนในรัฐบาล จะมีโอกาสมาอ่านเจอ และนำข้อมูลดังกล่าวไปนำเรียนเสนอต่อท่านอีกทอดหนึ่ง

    ปัจจุบันกระผมทำอาชีพหลักคือโรงพิมพ์ อาชีพเสริม คือทำนา (ทำมาแต่บรรพบุรุษ) กับทำสวนยางพารา ( http://ppantip.com/topic/30932436)   จึงพอมีความเข้าใจในแต่ละอาชีพได้ดีพอสมควร ท้ั้งถือโอกาสนี้เรียกเรียนถึงความเดือดร้อนของพี่น้องที่สุรินทร์ไปในตัว  หวังว่าท่านหรือทีมงานจะเมตตาอ่านจนจบ



กระผมขอนำเรียนท่านเป็นข้อๆ ดังนี้


                 1. ต้นยางพาราที่สุรินทร์ ยืนต้นตายเป็นจำนวนมาก  เพราะแล้งติดต่อกันมา 2 ปี (มีภาพประกอบ)

     บ้านของกระผมที่จังหวัดสุรินทร์นั้น  ต้นยางยืนต้นตายจำนวนมากเพราะฝนแล้ง ส่วนต้นยางที่เหลือก็ไม่กล้ากรีด ด้วยเกรงว่าต่นยางจะช้ำ และตายเพิ่มอีก

          การทำสวนยางพาราที่นี่ต้องรดน้ำจากน้ำบาดาล แต่น้ำบาดาลไม่ไหล จึงเกิดความเสียหายดังที่กล่าว

    พวกเราไม่มีรายได้จากสวนยาง ก็ไปทำนา รับจ้างทำก่อสร้างบ้าง (ทั้งในเมืองและนอกพื้นที่)  รับจ้างตัดอ้อยบ้าง ทำอาชีพหลากหลาย เพื่อนำเงินมาเลี้ยงครอบครัว

    พวกเราไม่เคยเรียกร้องอะไรจากรัฐบาล เพราะการตัดสินใจประกอบอาชีพเป็นความคิดอิสระ ไม่ได้มีใครบังคับเคี่ยวเข็ญ จึงน้อมรับความเสี่ยงเองได้

    ท่านคิดว่าคนที่ได้กิโลกรัมละ 80 บาท กับคนที่ต้นยางยืนต้นตาย ใครมีรายได้มากกว่ากัน ใครควรได้รับความช่วยเหลือมากกว่ากัน


                 2. ฝนทิ้งช่วงมานานมาก ทำให้นาข้าวเสียหาย (มีภาพประกอบ)

          ในช่วงที่ผ่านมา ฝนทิ้งช่วงจนทำให้ข้าวเหี่ยวแห้ง รอวันตาย หากขาดน้ำอีกไม่เกิน 10 คงเสียหายหมด โชคดีที่มีฝนตกหนัก เมื่อวันเสาร์ที่ 7  สิงหาคมที่ผ่านมา จึงคงพอให้พอมีโอกาสได้ผลผลิตบ้าง

    แต่ถึงแม้นหากมีความเสียหายจากฝนแล้ง หรือเพลี้ยลง หรือน้ำท่วมก็ตามที ก็ไม่ได้ทำให้รัฐบาลภายใต้การนำของท่าน หรือของใครๆ ต้องเดือดร้อน รำคาญใจ เพราะตลอดระยะเวลาของบรรพบุรุษหลายชั่วอายุคนมานั้น ผ่านเรื่องเหล่านี้มาจนชาชิน

      ไม่เคยโทษใคร นอกจากเทวดา ฟ้าฝนกลั่นแกล้ง ยังคงใช้ชีวิตปกติ คือยังคงดิ้นรนเหมือนเดิม ยังคงรับจ้างแบบสหชีพ  หากบ หาเขียด แมงกุดจี่ แมงอีนูน หานก หากิ้งก่ากินเหมือนเดิม

             ท่านคิดว่าชิวิตที่ฝากกับฟ้าฝน อดอยากของคนอิสาน  กับชีวิตที่มีพร้อม เห็นควรช่วยใครก่อนดี


                 3. การเรียกร้องราคาพืชผลทางการเกษตร ควรเรียกร้องเป็นบาทเป็นสตางค์ ไม่ใช่เป็น US Dollar       

            การเรียกร้องเรื่องราคาสินค้าเกษตร  ไม่ว่ามันสำปะหลัง อ้อย ข้าวโพด หรือข้าวที่ทำกันมาตลอด เขาเรียกร้องกันเป็นสตางค์ เช่น มันสำปะหลัง จาก 1 บาท 80 สตางค์ต่อกิโล ขอเป็น 2 บาท 20 สตางค์ เป็นต้น คือเรียก 40 สตางค์ต่อกิโลกรัม

    แต่การเรียกร้องของชาวสวนยางพารา เรียกร้องเป็น Us Dollar เช่น จากปัจจุบัน 2.7 Dollar  (80 บาท) เป็น 4 Dollar (120 บาท)

         จะเห็นได้ว่า ไม่ได้เรียกเป็นสตางค์เหมือนอาชีพอื่นเขาเลย แค่ผลต่างก็มากกว่าราคาตัวอื่นแล้ว

    การเรียกร้องราคาให้เพิ่มขึ้นอย่างมากมายดังกล่าว ท่านคิดว่าเป็นธรรมกับผู้เสียภาษีทั้งประเทศหรือไม่ อย่างไร


                   4. เรียกราคายางพาราเป็นบาทต่อตัน เหมือนข้าว เหมือนอ้อย ไม่ควรเรียกเป็นราคาต่อกิโลกรัม

            เช่น ราคาข้าวเปลือกตันละ 15,000 บาท อ้อยราคาตันละ 950 บาท ราคายางพาราตันละ 80,000 บาท เป็นต้น

    การเรียกร้องเพิ่มราคายางพาราเป็นตันละ 120,000 บาท จึงเป็นราคาที่สูงมาก ผลต่างแค่ตันละ 4 หมื่น เท่ากับชาวนาทำมาทั้งปีเลยที่เดียว

          การเน้นย้ำราคายางพาราเป็นตันบ่อยๆ ทุกครั้งที่ท่านหรือรัฐมนตรี และหรือผู้ที่เกี่ยวข้องให้สัมภาษณ์ จะช่วยให้สังคมได้พิจารณาถึงความแตกต่างกับราคาสินค้าเกษตรตัวอื่นอย่างเห็นได้ชัดเจนยิ่งขึ้น และจะเป็นวัฒธรรมใหม่ในการเรียกราคาสินค้าทางการเกษตรตัวนี้

                   5. ต้นทุนยางพารา  ล้วนสิ่งลวง

           ต้นทุนที่ 64.19 บาทต่อกิโลกรัมล้วนเป็นสิ่งลวงโลกทั้งสิ้น ไม่ทราบว่าราคานี้ใครเป็นคนคิด

        - ถ้าคิดแบบคนทำอาชีพเกษตรกร คือทำเองทุกขั้นตอน จะไม่เกิน 40 บาท
        - แต่หากคิดแบบนักธุรกิจเกษตร ก็จะบวกต้นทุนค่าจ้างคนกรีดยางไปด้วย 40 เปอร์เซ็นต์  คิดค่าที่ดิน ค่าสาธารณูปโภค ฯลฯ

    หากชาวนาคิดยิบย่อยมากมายขนาดนั้น ปีหนึ่งที่ขายข้าวได้ประมาณ 50,000 บาท ยังไม่ต้องคิดค่าไถ ค่าเกี่ยว ค่ายา ค่าปุ๋ย แค่หักค่าแรงตัวเองก็หมดแล้ว

                  6. แค่กรีดยางเอง รายได้เพิ่ม 40 เปอร์เซ็นต์

ิ         เกษตรกรอาชีพอื่น ล้วนลงมือทำเองจนสุดกำลังความสามารถ จึงจะจ้างคนงานเพื่อให้ทันฤดูเก็บเกี่ยว เพื่อไม่ให้ผลผลิตเสียหาย

        แต่ทำสวนยางพารามีทางเลือก จะกรีดหรือไม่กรีด ต้นยางก็ยังคงยืนต้นอยู่เช่นนั้น จึงไม่มีความเร่งรีบ ถึงขนาดต้องไปจ้างใคร 40-50 เปอร์เซ็นต์

         ดังนั้น แค่เกษตรกรกรีดยางเอง รายได้ก็จะเพิ่มขึ้นในทันที 40-50 เปอร์เซ็นต์

                 7. การมีลูกจ้าง คือการทำธุรกิจ

       เกษตรกรที่แท้จริง ต้องทำเองทุกขึ้นตอน การที่ชาวสวนยางพาราอ้างว่า ต้องจ้างคนกรีด 40 เปอร์เซ็นต์นั้น เป็นข้ออ้างของนักธุรกิจ ที่ลงทุนเพื่อหวังผลกำไร ไม่ใช่เกษตรกร

       หรือจะอ้างว่าเป็นครู เป็นข้าราชการไม่มีเวลากรีดก็ตามที นั่นเป็นสิ่งที่ท่านเหล่านั้นเลือกทางเดินของตัวเอง จึงต้องยอมรับราคาที่ขึ้นลง ตามภาวะที่เป็นจริง

       ดังนั้น การจ้างคนงานกรีดยาง เสมือนมีลูกจ้าง แม้จะแบ่งเปอร์เซ็นต์กันก็ตามที แต่ก็เป็นเพียงวีธีการจ้างวิธีหนึ่งเท่านั้น

                 8. การลงทุนมีความเสี่ยง นักลงทุนควรพิจารณาก่อนตัดสินใจ

         การลงทุนประกอบอาชีพทุกชนิดมีความเสี่ยง แม้ทำบ้านจัดสรรก็มีความเสี่ยง กลัวขายไม่ได้ ต้องลงทุนทำโฆษณา ลงทุนทำการตลาด เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ

        การทำเกษตรทุกชนิดก็มีความเสี่ยงเช่นเดียวกัน เสียงจากภัยธรรมชาติ เสี่ยงต่อการเกิดโรค เสี่ยงต่อราคาที่ผันผวนไม่แน่นอน

         ดังนั้น การลงทุนทำสวนยางพารา จึงไม่มีเหตุผลใด  ที่จะไม่ยอมรับจุดเสี่ยงตรงนี้

              9. ตราบใดที่ไม่ลดต้นทุนการผลิต ตราบนั้นยังไม่เรียกว่า “ขาดทุน”

        กระผมทำโรงพิมพ์ มีการแข่งขันเรื่องราคากันมาก มีเทคโนโลยีต่างๆ ถาโถมเข้ามาอย่างต่อเนื่อง สิ่งเดียวที่จะทำให้อยู่รอดได้คือ ลดต้นทุน ทั้งลดการสูญเสีย  ลดเวลา ลดขั้นตอน ในขณะเดียวกันก็เพิ่มศักยภาพคนไปด้วย  

        ทุกธุรกิจกิจการ ก็ต่างหนีตายกันเพื่อความอยู่รอด รอดจากการล้มละลาย รอดจากการมีหนี้สินล้นพ้นตัว

       แต่การลดต้นทุนการผลิตสวนยางพารานั้น....

              - ชาวสวนยางพาราได้ทำหรือยัง
              - ได้ลองทำปุ๋ยอินทรีย์ใช้เองหรือยัง  
              - ได้ลดคนงานกรีดยางลงหรือยัง
             -  ได้ลดความโลภด้วยการลดปริมาณการผลิตลงหรือยัง
             -  ได้เลิกเลี้ยงนกเขาหรือยัง
             - ได้เลิกเล่นวัวชนหรือยัง
             - ได้เลิกเล่นพนันงานศพหรือยัง

ิที่สำคัญ...
    -  ได้ลองใช้ชีวิตแบบอดอยากเร้นแค้น กินข้าวคลุกน้ำปลา แบบคนอิสานดูหรือยัง
ฯลฯ

            หากว่ายัง  ก็ไม่เรียกว่าขาดทุน เพราท่านไม่ได้ลดต้นทุนเหล่านี้เลย

              10. ตราบใดที่ต้นยางยังอยู่  ตราบนั้นยังไม่เรียกว่าขาดทุน

         การทำนาขาดทุน คือข้าวโดนเพลี้ยกิน โดนน้ำท่วม โดนฝนทิ้งช่วง จึงไม่เหลือลำต้นใดๆ นอกจากซากที่เสียหาย

      แต่...ตราบใดที่ต้นยางพารายังอยู่ แสดงว่าทรัพย์สินเหล่านั้นยังคงมี จึงจะอ้างว่าขาดทุนไม่ได้เลย เพราะสินทรัพย์ยังคงมีอยู่อย่างสมบูรณ์ ยังคงใช้ประโยชน์ได้เต็มที่เหมือนเดิม

             11. ยางพาราขึ้นราคา 400 เปอร์เซ็นต์ ภายใน 10 ปี (เคยขึ้นไป 900 เปอร์เซ็นต์)

          จาก 20 บาทต่อกิโลกรัมเมื่อสมัยนายกชวน หลีกภัย เป็น 189 บาท(ตัวเลขไม่แน่ชัด) หรือขึ้นไป 900 เปอร์เซ็นต์ในสมัยคุณอภิสิทธิ์  เวชาชีวะ

      -  ส่วนมันสำปะหลัง ยังคงราคาเดิมอย่างถาวร
      -  อ้อย ยังคงราคาเดิมอย่างมั่นคง
      -  ข้าว แม้จะขึ้นราคาไปแล้ว หักค่าความชื้น หักค่าโกงตาชั่งของโรงสี ก็ขึ้นไปไม่เกิน 50 เปอร์เซ็นต์
    หรือแม้ราคางานพิมพ์ของผมลดลงกว่า 50 เปอร์เซ็นต์

          ปัจจุบันราคายางเฉลี่ยที่  80 บาท หรือขึ้นไป 400 เปอร์เซ็นต์  

             12  ยางพารากรีดได้เดือนละ 30-31 วัน ยกเว้นเดือนกุมภาพันธ์

          ที่พูดว่ากรีดได้เดือนละไม่เกิน 15 วัน คงเป็นพวกสันหลังยาวมากกว่าครับ

        ยางพารานั้นหน้าหนาวกรีดได้ทุกวัน ยางออกดีมาก ยกเว้นหน้าฝน แต่หากฝนตกก็หยุดกรีด หรือฝนตกตอนเย็น ก็กรีดยางได้เช่นกัน หรือใส่หมวกให้ต้นยางได้เช่นเดียวกัน (ต้องระวังเชื้อรา)  

         หรือแม้ไม่ได้กรีดด้วยเพราะฝนตกติดต่อกัน ก็ไม่จำเป็นต้องนอนเฝ้า นอนกอดต้นยาง ยังคงประกอบอาชีพอื่นได้อีก

     สมมุติมีสวนยางพารา 14 ไร่   ก็แบ่งกรีดวันละ 7  ไร่ทุกวัน ทำ 2 คน สามีภรรยา อยู่ได้สบายๆ ลูกชายหรือลูกสาวก็ไปทำงานที่กรุงเทพฯ สมุทรปราการ ระยอง ชลบุรี  ฯลฯ

        ชาวสวนยางทีุ่บ้านผมเขาทำกันอย่างนี้ครับ                                        

                                                                                                                              (มีต่อ)
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่