งานนี้ญี่ปุ่นเชิญเอง ไทย-เทศ" รุมตอม "ทวาย"เฟสแรก ลุ้นกฎหมาย "เขตเศรษฐกิจพิเศษ"คลอด ก.ย.นี้

โครงการกำลังไปได้สวย ไม่เหมือนกับที่โนนแดงเที่ยวมาป่าวประกาศว่าไม่มีใครสนใจ
งานนี้ญี่ปุ่นเชิญเอง

กลุ่มทุนไทย-ต่างประเทศแห่ขอข้อมูล "ทวาย" หวังร่วมวงชิงเค้กนิคม-ท่าเรือ-ไฟฟ้า เผยทุนญี่ปุ่นรุกหนักทั้ง "มิตซูฯ-ซูมิโตโม" ด้านสิงคโปร์สนลงทุนท่าเรือ ส่วนทุนเกาหลี "LG กับ Dongbu" เกาะติดข้อมูล ด้านไทย "โรจนะ-อิตัล-กนอ." รอลุ้นกฎหมายเขตเศรษฐกิจพิเศษของพม่าผ่าน ก.ย.นี้ หลังล่าช้ามากว่า 2 เดือน

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ในวันที่ 27 ก.ย.นี้ จะมีการประชุมร่วม 3 ฝ่าย ไทย เมียนมาร์ และญี่ปุ่น เพื่อหารือถึงโครงการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายและพื้นที่โครงการที่เกี่ยวข้อง โดยครั้งนี้ทางญี่ปุ่นเป็นผู้เชิญ แต่จะจัดขึ้นที่กรุงย่างกุ้ง ประเทศเมียนมาร์ โดยความคืบหน้าขณะนี้ ทุกฝ่ายต่างรอให้กฎหมายเขตเศรษฐกิจพิเศษฉบับใหม่ (Myanmar special economic zone law) ของเมียนมาร์มีผลบังคับใช้ ซึ่งทางเมียนมาร์แจ้งว่า น่าจะภายในเดือน ก.ย.นี้

"ทางเมียนมาร์บอกว่ากฎหมายจะผ่านเดือน ก.ย. แต่ถ้ายังไม่ผ่านก็อาจต้องเลื่อนแผนพัฒนาเฟสแรกออกไปอีก ซึ่งเมื่อตอนประชุมเดือน มิ.ย. บอกว่าจะผ่านตั้งแต่ ก.ค.แล้ว" แหล่งข่าวกล่าว

ทั้งนี้ ตามแผนการพัฒนาโครงการทวายเฟสแรก แผนดำเนินการในช่วงปี 2557-2561 แบ่งเป็น 5 ด้าน ได้แก่ 1.ถนนเชื่อมต่อโครงการทวายมายังบ้านพุน้ำร้อน จ.กาญจนบุรี 2.ท่าเรือขนาดเล็ก 3.โรงงานผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ 4.อ่างเก็บน้ำ และ 5.พื้นที่รองรับการพัฒนานิคมอุตสาหกรรม

แหล่งข่าวกล่าวว่า ขณะนี้มีนักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศที่สนใจเข้าไปลงทุนในเฟสแรกหลายราย ฝ่ายไทยก็มีทั้ง "นิคมอุตสาหกรรมโรจนะที่จะจับมือกับบริษัทอิตาเลียนไทย ลงทุนในส่วนของนิคมอุตสาหกรรม รวมทั้งมีการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ที่จะตั้งบริษัทลูก "กนอ. อินเตอร์" เข้าไปร่วมลงทุนกับต่างชาติด้วย

"เดิมนิคมอมตะสนใจ แต่ล่าสุด อมตะหันไปสนใจการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมบริเวณชายแดนประเทศเมียนมาร์ที่ห่างจากชายแดนไทยบริเวณบ้านพุน้ำร้อนจังหวัดกาญจนบุรี ประมาณ 30 กิโลเมตรแทน อย่างไรก็ดี ตอนนี้ยังไม่ได้เลือกชัดเจนว่าใครจะเป็นผู้ลงทุน แต่ กฟผ. อินเตอร์น่าจะชัดเจนว่าได้ลงทุนโรงไฟฟ้าแน่" แหล่งข่าวกล่าว

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ในส่วนบริษัทต่างชาติที่แสดงความสนใจการลงทุนในโครงการทวายตอนนี้มีหลายรายและมีการขอข้อมูลการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) อาทิ บริษัทจากประเทศญี่ปุ่น เกาหลี สิงคโปร์ ไต้หวัน เป็นต้น ซึ่งแสดงความสนใจอยากเข้าไปลงทุนทั้งในส่วนนิคมอุตสาหกรรม ท่าเรือ และไฟฟ้า และสุดท้ายแล้ว บริษัทนิติบุคคลเฉพาะกิจ (SPV) ต้องเลือกว่าเปิดประมูลแบบนานาชาติเพื่อให้สัมปทานแก่รายใด

"บริษัทญี่ปุ่นที่สนใจ ก็มีทั้ง Mitsubishi, SMBC (Sumitomo Mitsui Banking Corporation) สิงคโปร์ก็มี SPA (Singapore Port Authority) ที่สนใจลงทุนท่าเรือ ส่วนเกาหลีก็มี LG กับ Dongbu" แหล่งข่าวกล่าว

สำหรับความคืบหน้ากระบวนการจัดตั้ง SPV เบื้องต้นได้ดำเนินการจดทะเบียนบริษัท เพียง 2 หมื่นบาท ตั้งแต่เดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งขณะนี้รอทาง Foreign Economic Relation Department (FERD) ของเมียนมาร์ และสำนักงานพัฒนาความร่วมมือเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) (สพพ.) ของไทย ใส่เงินเพิ่มทุนใน SPV ฝ่ายละ 6 ล้านบาท

นายวีรพงษ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า การเข้าไปร่วมพัฒนานิคมอุตสาหกรรมของทวายในเมียนมาร์ ขณะนี้การนิคมฯยังอยู่ในระหว่างตั้งบริษัทลูก คือ บริษัท กนอ.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ที่วางเป้าหมายสัดส่วนการถือหุ้นไว้ที่ร้อยละ 30-40 และในส่วนที่เหลือจะเป็นผู้ประกอบการของไทย ทั้งที่อยู่ในธุรกิจพัฒนานิคมอุตสาหกรรมและอื่น ๆ ซึ่งภายในเดือนตุลาคมนี้จะเสนอให้คณะกรรมการบริหาร หรือบอร์ด กนอ.พิจารณา หลังจากนั้นจึงจะสามารถเข้าไปลงทุนเพื่อพัฒนานิคมอุตสาหกรรมในต่างประเทศตามแผน ซึ่งคาดว่ารายละเอียดของการเข้าไปพัฒนานิคมอุตสาหกรรมทวายน่าจะแล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้ส่วนผู้ประกอบการรายอื่นๆ เช่น นิคมอุตสาหกรรมอมตะ ได้เข้าไปพัฒนานิคมแล้ว บริเวณเหนือจากด่านพุน้ำร้อน 10 กิโลเมตร เพื่อรองรับการผลิต แต่ส่วนนี้จะไม่ได้รับสิทธิ์ต่าง ๆ ตามการส่งเสริมในเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย

"เมื่อผ่านบอร์ด กนอ.แล้วยังต้องให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติด้วย ฉะนั้นในปีนี้จะเป็นกระบวนการส่วนของการเตรียมความพร้อมตั้งบริษัทลูกของ กนอ.ที่จะเป็นรูปแบบโฮลดิ้ง จากนั้นในปีหน้าโครงการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมในทวายจึงจะเริ่มเป็นสเต็ปต่อไป"

http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1378401547
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่