ศธ.เต้น! เหตุ WEF จัดอันดับการศึกษาไทยคุณภาพต่ำ

กระทู้สนทนา
ศธ.เต้น! เหตุ WEF จัดอันดับการศึกษาไทยคุณภาพต่ำ ไล่ตามก้น กัมพูชา-เวียดนาม “จาตุรนต์” สั่งวิเคราะห์ด่วนหาที่มาที่ไปและข้อมูลตัวชี้วัดที่นำมาใช้ ก่อนปรับการศึกษาทั้งระบบ
วันนี้ (3 ก.ย.) ศ.(พิเศษ) ดร.ภาวิช ทองโรจน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า จากข้อมูลการประชุมของ World Economic Forum (WEF) - The Global Information Technology Report 2013 ได้จัดอันดับคุณภาพการศึกษาในกลุ่มประเทศอาเซียน ซึ่งประเทศไทยถูกจัดอยู่ในกลุ่มสุดท้ายอันดับที่ 8 ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีคะแนนต่ำที่สุด รองจากประเทศเวียดนาม ที่ได้อันดับ 7 และประเทศกัมพูชา อันดับ 6 ซึ่งทั้งนี้ ผลการจัดอันดับได้สรุปว่า เงินทุนไม่ใช่ปัจจัยสำคัญที่สุดของการมีระบบการศึกษาที่ดี และการที่ครูอาจารย์มีเงินเดือนสูง ก็ไม่ได้หมายความว่าจะมีความสามารถทางการสอนสูงตามไปด้วย สำหรับประเทศไทยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มีการผลักดันเรื่องเงินเดือนครู ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี แต่เราก็ต้องเร่งรัดครูในเรื่องประสิทธิภาพในการสอนควบคู่กันไปด้วย ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำ ศธ.กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ สำหรับประเทศที่มีคุณภาพการศึกษาดีที่สุดในกลุ่มอาเซียน เรียงตามลำดับที่ดีที่สุด ดังนี้
อันดับ 1 ประเทศสิงคโปร์
อันดับ 2 ประเทศมาเลเซีย
อันดับ 3 ประเทศบรูไน ดารุสซาลาม
อันดับ 4 ประเทศฟิลิปปินส์
อันดับ 5 ประเทศอินโดนีเซีย
อันดับ 6 ประเทศกัมพูชา
อันดับ 7 ประเทศเวียดนาม และ
อันดับ 8 ประเทศไทย
ซึ่ง นายจาตุรนต์ ฉายแสง รมว.ศึกษาธิการ ให้ความสนใจกับเรื่องนี้มาก และได้สั่งการให้ตนวิเคราะห์ที่มาที่ไปของผลการจัดอันดับดังกล่าว จากนี้ตนจะต้องไปศึกษาว่าผลการจัดอันดับที่ออกมามีความเที่ยงตรงมากน้อยแค่ไหน โดยจะต้องดูวิธีการจัดว่าใช้อะไรมาเป็นตัวชี้วัดบ้าง อย่างไรก็ตาม เท่าที่ดูหลักๆ พบว่า การจัดอันดับดังกล่าวเป็นการประเมินภาพรวมการจัดการศึกษาของแต่ละประเทศ และคาดว่าจะมีการนำคะแนนการสอบประเมินผลนักเรียนนานาชาติ หรือ Program for International Student Assessment (PISA) มาเป็นองค์ประกอบด้วย เพราะฉะนั้น ต้องไปดูรายละเอียดให้ชัดเจน เนื่องจากหากดูข้อมูลคะแนนสอบ PISA 2012 ที่กำลังจะประกาศผลเร็วๆ นี้ โดยประเทศเวียดนามเข้าสอบครั้งแรก และขณะนี้เริ่มทราบผลคะแนนแล้วว่า คะแนนคณิตศาสตร์ของเวียดนามได้สูงพอๆ กับประเทศจีน เมื่อครั้งที่ร่วมเข้าสอบ PISA ในปี 2009 ซึ่งเท่าที่ดู เวียดนามน่าจะติดอันดับ 1 ใน 5 มากกว่า ดังนั้น จึงต้องไปศึกษาวิธีการประเมินและตัวชี้วัดให้ละเอียดก่อน จึงจะสามารถวิเคราะห์ผลการจัดอันดับครั้งนี้ได้

“ข้อมูลนี้ถือว่าน่าตกใจ เพราะอันดับของเราถือว่าต่ำมาก แต่เมื่อเทียบในอันดับโลกเราก็ถือว่าอยู่ในระดับกลางๆ ไม่ต่ำขนาดนี้ ดังนั้นจึงต้องไปวิเคราะห์ข้อมูลให้ชัดเจนก่อนว่า เป็นเพราะอะไร แต่อย่างไรก็ตาม การศึกษาไทยก็จะต้องมีการปรับใหญ่ทั้งระบบ โดยขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการปรับหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน แต่การปรับหลักสูตรเป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่งเท่านั้น ที่สำคัญต้องไปดูการจัดการศึกษาในภาพรวมว่าได้มาตรฐานโลกหรือไม่ และถ้าดูจากผลการวิเคราะห์คะแนน PISA ที่ผ่านมาเห็นได้ชัดเจนว่า เด็กไทยคิดไม่เป็น ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ ประเด็นสำคัญที่เราจะต้องไปเร่งแก้ไขอย่างเร่งด่วนคือ การปฏิรูปวิธีการเรียนการสอน และปฏิรูปครู ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของระบบการศึกษา” ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำ ศธ.กล่าว

PISA ย่อมาจาก Programme for International Student Assessment
เป็นโครงการที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อประเมินว่านักเรียนที่จบการศึกษาภาคบังคับ (ซึ่งถือเป็นข้อตกลงเบื้องต้นคือ เยาวชนอายุ 15 ปี เพราะโดยทั่วไป เยาวชนวัยนี้คือวัยที่กำลังจะจบการศึกษาภาคบังคับ) จะได้รับการเตรียมพร้อมความรู้และทักษะ ที่จำเป็นสำหรับการเป็นประชาชนที่มีคุณภาพในอนาคต และมีส่วนร่วมสร้างสังคม
องค์กรความร่วมมือและพัฒนาทางเศรษฐกิจ หรือที่เรียกว่า OECD (Organization for Economic Cooperation and Development) OECD เป็นผู้เริ่มโครงการ PISA ประเมินผลการจัดศึกษาของประเทศสมาชิก
วิชาที่เป็นหัวใจของการพัฒนาสามวิชา คือ การอ่าน คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และเพิ่มเติมด้านทักษะที่ต้องใช้ในกระบวนการการเรียนรู้ คือ การแก้ปัญหา แต่ PISA ไม่ได้ประเมินเนื้อหาตามหลักสูตรในโรงเรียน หากแต่ประเมิน การรู้เรื่อง (Literacy) ในด้านต่างๆ ทั้งสาม
แม้ว่าจะมีการศึกษาการประเมินผลนานาชาติที่เรียกว่า TIMSS มาแล้วก็ตาม แต่ TIMSS ถูกออกแบบมาเพื่อบอกผลการเรียนของนักเรียนในชั้นเรียนระดับต่างๆ หรือกล่าวได้ว่า TIMSS มองผลตามหลักสูตรปัจจุบัน ข้อสอบของ TIMSS จึงถามความรู้ในเนื้อหาวิชาตามหลักสูตร แต่ PISA มองอนาคต ข้อสอบส่วนใหญ่ของ PISA จึงถามเรื่องการใช้ความรู้และกระบวนการที่ต้องใช้ในการดำรงชีวิตมากกว่า
ข้อสอบ TIMSS ส่วนมากเป็นข้อสอบที่มีคำตอบเดียว มีประมาณ 8% เท่านั้นที่ต้องเขียนตอบสั้นๆ ที่แน่นอน แต่ข้อสอบ PISA ส่วนมากเป็นคำตอบที่สามารถเขียนตอบได้หลายแบบ ความถูกต้องของคำตอบไม่ขึ้นกับเนื้อหาแต่ขึ้นอยู่กับเหตุผลที่ใช้ อธิบาย ข้อสอบ PISA ประมาณ 35% เป็นข้อสอบที่ต้องการคำตอบที่มีการอธิบาย
หลักสำคัญของ PISA คือการประเมิน การรู้เรื่อง (Literacy) ซึ่งเน้นที่ ความรู้และทักษะที่จำเป็น เพื่อการปรับตัวให้เข้ากับโลกที่เปลี่ยนแปลง เพราะถือว่านักเรียนไม่สามารถเรียนรู้ทุกอย่างจากโรงเรียน แต่การศึกษาต้องให้ “ฐานราก” ที่มั่นคง เพื่อให้เป็นผู้เรียนสามารถรู้ตลอดชีวิตอย่างต่อเนื่อง PISA ถือว่าวิชาที่เป็นตัวแทนของการวาง “ฐานราก” ได้แก่ การอ่าน คณิตศาสตร์ และ วิทยาศาสตร์ เท่านั้น
การรู้เรื่องการอ่าน (Reading literacy) มีความหมายมากกว่าการอ่านหนังสือและเข้าใจความหมายของคำ แต่ยังรวมไปถึง ความสามารถติดตามความหมาย การคิดย้อนกลับและสะท้อนว่าเข้าใจถึงจุดประสงค์ของการเขียน เข้าใจว่าเขียนสำหรับให้ใครอ่าน (หรือผู้เขียนต้องการส่งข่าวสารให้ใคร) ให้รู้ว่าผู้เขียนใช้ภาษาอย่างไรในการนำข่าวสารไปสู่ผู้อ่าน และอิทธิพลที่มีต่อผู้อ่าน และรวมถึงความสามารถในการตีความจากโครงสร้างของเรื่องหรือจากลักษณะเด่นของ การเขียน (เช่น การให้ข้อมูลที่ตรงไปตรงมา เปรียบเทียบ ชมเชย หรือประชดประชัน ฯลฯ) การรู้เรื่องด้านการอ่านนี้ แสดงว่ามีความรู้และศักยภาพที่จะมีส่วนในการสร้างสังคมอย่างมีประสิทธิภาพ
การรู้เรื่องคณิตศาสตร์ (Mathematics literacy) มีความหมายมากกว่าการคิดเลขและการทำโจทย์ การรู้จักรูปคณิตศาสตร์ หรือการจัดการข้อมูล แต่หมายรวมถึงรู้ขอบเขตและข้อจำกัดของแนวคิดคณิตศาสตร์ สามารถติดตามและประเมินข้อโต้แย้งเชิงคณิตศาสตร์ เสนอปัญหาเชิงคณิตศาสตร์ เลือกวิธีการนำเสนอสถานการณ์เชิงคณิตศาสตร์ และสามารถตัดสินปัญหาบนพื้นฐานของคณิตศาสตร์ เพื่อแสดงว่าเป็นประชากรที่มีความคิดสร้างสรรค์และรอบคอบ
การรู้วิทยาศาสตร์ (Scientific Literacy) ตามความหมายของ PISA หมายถึงการรู้กระบวนการ (Process) การรู้แนวคิดและสาระเนื้อหา (Concepts and Content) และรู้จักการใช้ความรู้วิทยาศาสตร์เพื่อที่จะสามารถเข้าใจเรื่องราวที่เกิด ขึ้นในสังคม ในสื่อมวลชน และตัดสินใจประเด็นของโลกที่เกี่ยวข้องกับตัวเองทั้งในปัจจุบันและอนาคต
แบบทดสอบ ของ PISA เป็นข้อสอบที่นักเรียนต้องเขียนตอบ ข้อสอบไม่ถามเนื้อหาสาระตามหลักสูตร แต่จะให้ข้อความที่นักเรียนต้องอ่าน คิดวิเคราะห์ แล้วตอบคำถาม บางข้อจะมีจะมีคำตอบเป็นตัวเลือก แต่คำถามส่วนใหญ่เป็นคำถามเปิด นักเรียนต้องสะท้อนความคิดของตนเองออกมาเป็นคำตอบ มากกว่าการพูดซ้ำในสิ่งที่ได้อ่านหรือเพียงแต่ถ่ายเทเอาสิ่งที่เคยรับรู้ออก มาเท่านั้น การให้คะแนนคำถามประเภทนี้จะขึ้นกับการใช้เหตุผลของการตอบ คำตอบที่ไม่เหมือนกันอาจได้คะแนนเต็มเหมือนกันได้ ถ้าหากเหตุผลที่ให้สอดคล้องหรือให้คำอธิบายได้สมเหตุสมผล
นี่คือกรอบความคิดใหม่ของการวัดและประเมินผลที่เกิดจากการศึกษา ทั้งในแนวคิดด้านผลที่ต้องการใช้เป็นตัวบอกประสิทธิภาพของการศึกษา ทั้งวิธีการเขียนและตรวจข้อสอบที่ไม่เหมือนวิธีปฏิบัติอยู่โดยทั่วไปที่ข้อ สอบต้องมีคำตอบเดียว และถามเพื่อให้นักเรียนคายเอาความรู้ที่อัดไว้ออกมา โดยไม่ต้องใส่ความคิด การแปลความหรือความคิดที่เป็นเหตุเป็นผล ขอเพียงให้มีเนื้อหาวิชามาตอบก็เพียงพอแล้ว
นักเรียนไทยไม่เคยชินกับข้อสอบในลักษณะนี้ ถึง สองประการด้วยกัน คือ
1) การเขียนตอบหรือให้คำอธิบายยาว ๆ และ
2) การที่ต้องตีความ คิด วิเคราะห์ และสะท้อนเอาความคิดหรือปฏิกริยาของตนที่ตอบสนองต่อข้อความที่ได้อ่าน หรือข้อมูลที่ให้มา สิ่งเหล่านี้แทบจะไม่เคยปรากฏในการสอบของประเทศไทย
จึงคาดการณ์ไว้ล่วงหน้าว่านักเรียนคงแสดงผลออกมาได้ไม่ดีนัก นี่คือความจริงที่ต้องยอมรับอย่างแน่นอน

เวบไชต์ครูบ้านนอก
เวบไซต์อีเลิร์นนิง
.................................................................................................................................................................................

เป็นธรรมหรือไม่ครับที่จะโยนปัญหามาให้ครู กระทรวงศึกษา  แต่เพียงอย่างเดียว

- พื้นฐานปัญหาจริงๆนั้นเคยมองลึกลงไปที่บ้าน ครอบครัวหรือไม่ ปัจจุบันกระทรวงสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สถิติครอบครัวแตกแยก     หย่าร้าง ท้องก่อนวัยอันควร เท่าใหร่? จะมีนโยบายส่งเสริมหรือมีนโยบายเชิงรุกในด้านพัฒนา แก้ปัญหา บ้างหรือไม่ เพราะเป้นปัญหาร่วมกันใช่หรือไม่  ก่อนเด็กจะเติบโตถึงวัยอันควรที่จะเข้ามาในระบบสถานศึกษา ขณะที่ศึกษา มีความพร้อมทางด้านร่างกายจิตใจเพียงไร ทุกคนต่างก็จับจ้องมาที่โรงเรียนและครู เคยคิดบ้างหรือเปล่าถึงครูจะให้ความรู้มากขนาดใหนขณะที่อยู่ในโรงเรียน แต่พอกลับถึงบ้านเด็กมีสภาพอย่างไร ผู้ปกครองครองสถาบันทางครอบครัวติดตามให้ความรักความอบอุ่น สนใจในการเรียนของบุตรหลานของท่านขนาดใหน มีจำนวนไม่น้อยที่เด็กมีปัญหาพอครูไปแนะนำกลับยอมรับความพกพร่องของครู พ่อแม่ติดคุก เลิกกัน ฯลฯ  อยู่กับน้า ตา ยาย มีใครเคยคิดถึงประเด็นเหล่านี้บ้างไหม?

- ครูไทยมีเงินเดือนสูงจริงหรือ? อ่านได้เปรียบเทียบกันครับ

http://witayakornclub.wordpress.com/2012/03/14/%E0%B8%9A%E0%B8%97%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88-3-%E0%B8%9B%E0%B8%B1%E0%B8%8D%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A8%E0%B8%B6/

- ปัญหาอีกร้อยแปดพันเก้าที่เกิดจากภาคส่วนต่างๆ บัดนี้ได้เวลาหรือยังที่กระทรวงทบวงกรม หน่วยงาน สถาบัน จะบูรณาการหาสาเหตุที่แท้จริงของการศึกษา ไม่ใช่เกิดปัญหาอะไรก็โทษแต่ครู  พอโทษครูก็จะมีนโยบายพัฒนาครูโดยส่งครูไปอบรม พอครูไปอบรมครูก็จะทิ้งเด็กไม่มีเวลาสอน....เป็นปัญหาวัวพันหลักอยู่เรื่อยไป .....ผมว่าเราควรนิ่งแล้วกลับมาทบทวนกันอย่างระมัดระวัง...อย่าวิ่งตามกระแส...นิ่งแล้วระดมความคิดจากครู...ผู้ปกครอง...นักเรียน...ทุกภาคส่วนของสังคม ให้ตกผลึก  ไม่ใช่เป้นนโยบายจากรัฐมนตรี-นักวิชาการคนใดคนหนึ่งกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเหมือนที่ผ่านมา
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่