พบ 'หลุมดำ' หมุนจี๋ เกือบเท่าความเร็วแสง



นักดาราศาสตร์วัดอัตราความเร็วในการหมุนเป็นครั้งแรก พบมวลสารที่แผ่นจานรอบหลุมดำเคลื่อนที่เร็วเกือบเท่าแสง


กุยโด ริซาลิตี แห่งศูนย์ฟิสิกส์ดาราศาสตร์ฮาร์วาร์ด-สมิธโซเนียน บอกในวารสาร Nature ว่า หลุมดำอภิมหายักษ์ในใจกลางของกาแล็กซี เอ็นจีซี 1365 มีแผ่นจานสะสมสารห้อมล้อมโดยรอบ มีรัศมีกว่า 3.2 ล้านก.ม.

แผ่นจานซึ่งมีความกว้างเป็น 8 เท่าของระยะห่างระหว่างโลกกับดวงจันทร์นี้ มีการหมุนด้วยความเร็วอย่างน้อย 84% ของความเร็วแสง

"นับเป็นครั้งแรกที่มีการวัดอัตราการหมุนของอภิมหาหลุมดำ" ริซาลิติ ซึ่งทำงานประจำที่หอสังเกตการณ์ฟิสิกดาราศาสตร์อาร์เซทรี ในเมืองฟลอเรนซ์ พูดถึงการวัดที่ใช้ข้อมูลจากกล้องนิวสตาร์ (NuSTAR-Nuclear Spectroscopic Telescope Array) และดาวเทียมรังสีเอ็กซ์ เอ็กซ์เอ็มเอ็ม-นิวตัน ขององค์การอวกาศยุโรป

นักดาราศาสตร์บอกว่า การได้รู้มวลและอัตราความเร็วในการหมุนของหลุมดำ ช่วยให้เข้าใจถึงความเป็นมาของหลุมดำ และวิวัฒนาการของกาแล็กซีเจ้าบ้าน


Galaxy NGC 1365

แม้หลุมดำในเอ็นจีซี 1365 มีมวลมากกว่าดวงอาทิตย์ของเราหลายล้านเท่า แต่มันไม่ได้ใหญ่มาตั้งแต่เกิด หากแต่ได้ขยายขนาดขึ้นตลอดเวลาหลายพันล้านปี ด้วยการดึงดูดเอาก๊าซและบรรดาดาวฤกษ์ต่างๆเข้าไป

มวลสารจะสะสมอยู่ในแผ่นจานที่หมุนวนรอบหลุมดำ แล้วเกิดความร้อนจัด จนปล่อยรังสีเอ็กซ์ออกมา

หลุมดำอภิมหายักษ์มีอยู่ในใจกลางทุกกาแล็กซี รวมทั้งทางช้างเผือกด้วย หลุมดำเกิดจากการระเบิดทำลายตนเองเมื่อสิ้นอายุขัยของดาวฤกษ์ที่มีมวลมากกว่าดวงอาทิตย์หลายพันล้านเท่า

กาแล็กซีรูปกังหัน เอ็นจีซี 1365 มีเส้นผ่าศูนย์กลางราว 200,000 ปีแสง (ขนาดเท่ากับ 9.46 ล้านล้าน กม.คูณด้วย 200,000) เห็นได้ในทิศทางที่มองไปยังกลุ่มดาวเตาหลอม


http://news.voicetv.co.th/global/64247.html
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่