กระตุ้นศก.ไทยถึงทางตันจากหนี้ครัวเรือนสูง

ไทยพาณิชย์ ประเมินเศรษฐกิจปีนี้ขยายตัว 4% การกระตุ้นเศรษฐกิจเริ่มมีข้อจำกัดจากภาระหนี้ของประชาชนที่สูงขึ้น ทำให้บริโภคภายในชะลอ

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ ออกบทวิเคราะห์เกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2556 หลังจากที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานตัวเลข GDP ของไทยในไตรมาส 2 ปี 2013 ขยายตัว 2.8%YOY (เทียบกับไตรมาสเดียวกันปีก่อนหน้า) ชะลอลงจาก 5.4%YOY ในไตรมาสที่ผ่านมา หรือหดตัว 0.3% เทียบกับไตรมาสก่อนหน้า

ทั้งนี้ การที่ GDP หดตัว 2 ไตรมาสติดต่อกัน หลังจากที่ไตรมาสแรกหดตัว 1.7% เทียบกับไตรมาสก่อนหน้า มีสาเหตุหลักมาจากการใช้จ่ายของครัวเรือนและการส่งออกสินค้าและบริการที่ลดลงต่อเนื่อง

เมื่อมาดูอุปสงค์ในประเทศ ก็ชะลอตัวลงติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 2  โดยสามารถขยายตัวได้เพียง 3.4%YOY ชะลอลงจาก 4.6%YOY ในไตรมาสก่อนหน้า การใช้จ่ายของภาคครัวเรือนชะลอตัวลงเหลือ 2.4%YOY จาก 4.4% ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการบริโภคในกลุ่มสินค้าคงทนประเภทยานยนต์ หลังจากมาตรการคืนภาษีรถยนต์คันแรกทยอยหมดลง ขณะที่การลงทุนขยายตัวราว 4.5%YOY ชะลอลงจาก 5.8% ในไตรมาสก่อนหน้าตามการชะลอตัวลงของการก่อสร้างในส่วนของภาครัฐที่ขยายตัวได้เพียง 2.4%YOY จาก 13.4%YOY ในไตรมาสแรก นอกจากนี้ การลงทุนของภาคเอกชนชะลอลงเล็กน้อยทั้งในส่วนของการก่อสร้างและการลงทุนในเครื่องจักร

เช่นเดียวกับ การส่งออกสินค้าหดตัว แต่รายรับด้านบริการยังขยายตัวสูง การส่งออกหดตัว 1.5% ในไตรมาสสอง โดยการส่งออกสินค้าเกษตรหดตัวลงตามปริมาณผลผลิตกุ้ง เนื่องจากเกษตรกรชะลอกการเลี้ยงกุ้งรอบใหม่หลังจากที่ต้องประสบกับปัญหาจากโรค Early Mortality Syndrome หรือ EMS ในกุ้งในช่วงที่ผ่านมา และการส่งออกข้าวที่ลดลงจากการชะลอการนำเข้าของประเทศผู้นำเข้าสำคัญอย่างสหรัฐฯ ในขณะที่การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมหลักอย่างสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้านั้นหดตัวตามอุปสงค์ในตลาดโลกที่ยังไม่ฟื้นตัวเท่าที่ควร อย่างไรก็ดี รายรับที่ได้จากการบริการขยายตัวได้ดีต่อเนื่องโดยเฉพาะจากการ ท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวต่างชาติยังขยายตัวสูงต่อเนื่อง

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ มองว่า แนวโน้มการใช้จ่ายในประเทศที่ชะลอตัวลงเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการขยายตัวในปีนี้ แม้ว่ารายได้เกษตรกรจะเริ่มปรับตัวสูงขึ้นตามราคาผลผลิตทางการเกษตรที่สำคัญและเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำจะส่งสัญญาณที่ดีต่อทิศทางการใช้จ่ายภาคครัวเรือนในระยะต่อไป แต่การก่อหนี้เพื่ออุปโภคบริโภคในช่วงก่อนหน้านี้ทำให้ประชาชนเริ่มมีความระมัดระวังในการใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่ภาคเอกชนยังไม่มีความจำเป็นที่ต้องลงทุนเพิ่มเติมเนื่องจากได้มีการลงทุนเพื่อชดเชยความเสียหายจากภาวะน้ำท่วมได้ไม่นานรวมถึงยังมีกำลังการผลิตเหลืออยู่ อีกทั้งแผนการลงทุนขนาดใหญ่ของรัฐในครึ่งปีหลังยังถูกชะลอออกไป ทำให้แรงส่งจากการใช้จ่ายภายในประเทศมีโอกาสที่จะหายไปบ้างในช่วงที่เหลือของปี

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ คาดว่า เศรษฐกิจไทยปี 2013 น่าจะขยายตัวที่ราว 4% การส่งออกในครึ่งปีหลังมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นอย่างช้าๆ ตามการฟื้นตัวของประเทศกลุ่ม G-3 รวมถึงประเทศจีนที่การผลิตภาคอุตสาหกรรมเริ่มมีสัญญาณดีขึ้น  แต่เศรษฐกิจไทยยังมีอุปสรรคจากการชะลอตัวของการใช้จ่ายในประเทศ ทั้งนี้ การกระตุ้นเศรษฐกิจทำได้ไม่ง่ายนักในภาวะที่ภาคครัวเรือนเพิ่มความระมัดระวังในการใช้จ่ายเนื่องจากภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้น

http://www.posttoday.com/%E0%B9%80%E0%B8%A8%E0%B8%A3%E0%B8%A9%E0%B8%90%E0%B8%81%E0%B8%B4%E0%B8%88-%E0%B8%AB%E0%B8%B8%E0%B9%89%E0%B8%99/%E0%B8%9A%E0%B8%97%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%A2%E0%B9%80%E0%B8%A8%E0%B8%A3%E0%B8%A9%E0%B8%90%E0%B8%81%E0%B8%B4%E0%B8%88/241782/%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%95%E0%B8%B8%E0%B9%89%E0%B8%99%E0%B8%A8%E0%B8%81-%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2%E0%B8%96%E0%B8%B6%E0%B8%87%E0%B8%97%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%95%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%88%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B8%B5%E0%B9%89%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%A7%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%AA%E0%B8%B9%E0%B8%87
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่