รัฐประหารโดยองค์กรประชาสังคม

กระทู้สนทนา
หลายคนทึกทักว่า องค์กรภาคประชาสังคม เช่น เอ็นจีโอ สหภาพแรงงาน และองค์กรทางศาสนา เป็นพลังส่งเสริมประชาธิปไตย แต่งานศึกษาของนักรัฐศาสตร์ผู้หนึ่งชี้ว่า องค์กรประชาสังคมร่วมก่อรัฐประหารในอย่างน้อย 4 ประเทศ รวมถึงไทย


แนวคิดที่ว่าองค์กรภาคประชาสังคม เช่น เอ็นจีโอ สหภาพแรงงาน และองค์กรทางศาสนา เป็นพลังส่งเสริมประชาธิปไตยเสมอนั้น แพร่หลายในโลกตะวันตก  คนมักทึกทักกันว่า ยิ่งองค์กรภาคประชาสังคมเข้มแข็ง ประชาธิปไตยก็จะยิ่งเข้มแข็ง  แต่แนวคิดที่แพร่หลายนั้น ไม่ได้หมายความว่ามันจะจริง


วันนี้นักรัฐศาสตร์ผู้หนึ่งกำลังตั้งคำถามกับแนวคิดนี้  เขาเสนอว่าองค์กรภาคประชาชนนั้นบางครั้งก็เป็นอุปสรรคสำคัญต่อประชาธิปไตย


ผู้ช่วยศาสตราจารย์ อารีส อะรุไก อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยฟิลิปปินส์-ดิลิมาน พยายามแสดงให้เห็นว่า ในอย่างน้อย 4 ประเทศ คือ ฟิลิปปินส์ เวเนซุเอลา ไทย และอียิปต์ องค์กรภาคประชาสังคมมีส่วนสำคัญในการล้มระบอบประชาธิปไตย  จนเราอาจเรียกได้ว่าในประเทศเหล่านี้เกิด "รัฐประหารโดยองค์กรประชาสังคม"


นักรัฐศาสตร์ผู้นี้กล่าวว่า ในฟิลิปปินส์ กลุ่มเอ็นจีโอ และศาสนจักรคาทอลิกมีบทบาทสำคัญในการโค่นล้มประธานาธิบดีโจเซฟ เอสตราดา  การล้มล้างประธานาธิบดีครั้งนั้นไม่ได้ทำโดยการถอดถอนตามกระบวนการปกติ และก็ไม่ได้ทำโดยกองทัพ  แต่เกิดจากการที่กลุ่มเอ็นจีโอ ศาสนจักร ศาล และกองทัพ ประกาศไม่สนับสนุนประธานาธิบดีเอสตราดา แล้วจัดพิธีให้รองประธานาธิบดีกลอเรีย อาร์โรโย สาบานตนเข้าสู่ตำแหน่งแทน โดยไม่มีการเลือกตั้ง และไม่ผ่านขั้นตอนของรัฐสภา ผู้ช่วยศาสตราจารย์อะรุไก กล่าวว่าจุดนี้คือสิ่งที่เราเรียกว่า "รัฐประหารโดยองค์กรประชาสังคม" ได้เกิดขึ้นแล้ว


ภาพต่อไปนี้ เป็นภาพที่รองประธานาธิบดีกลอเรีย อาร์โรโย สาบานตนเป็นประธานาธิบดี โดยผู้ที่ยืนล้อมรอบคือ ประธานศาลสูงสุดของฟิลิปปินส์  พระคาร์ดินัลแห่งศาสนจักรฟิลิปปินส์  และหัวหน้ากลุ่มเอ็นจีโอที่ต่อต้านประธานาธิบดีเอสตราดา  ภายหลังนางอาร์โรโย เข้าสู่ตำแหน่ง หัวหน้ากลุ่มเอ็นจีโอเหล่านี้ก็ได้ตำแหน่งสำคัญในรัฐบาลหลายคน


ในเวเนซุเอลา ผู้ช่วยศาสตราจารย์อะรุไก กล่าวว่า สหภาพแรงงาน และเอ็นจีโอหลายแห่ง ได้ร่วมกับสมาคมธุรกิจใหญ่ๆ เช่น สมาพันธ์หอการค้า ร่วมมือกันกับทหารเพื่อก่อรัฐประหารโค่นอำนาจประธานาธิบดีฮูโก ชาเวซ ในปี 2545


กลุ่มสหภาพแรงงานนัดหยุดงานทั่วประเทศ เอ็นจีโอระดมคนเดินขบวนต่อต้านนายชาเวซ แล้วทหารก็กดดันจนนายชาเวซต้องลี้ภัยไปคิวบา หลังจากนั้นกลุ่มสหภาพแรงงาน องค์กรธุรกิจ และกองทัพ ก็ร่วมกันแต่งตั้งประธานสมาพันธ์หอการค้าของเวเนซุเอลาขึ้นเป็นประธานาธิบดีรักษาการณ์ และจุดนี้คือจุดที่ผู้ช่วยศาสตราจารย์อะรุไก ถือว่า "การรัฐประหารโดยองค์กรประชาสังคม" ได้เกิดขึ้นแล้ว


ในไทย ผู้ช่วยศาสตราจารย์อะรุไก กล่าวว่า กลุ่มสหภาพแรงงาน เอ็นจีโอ และองค์กรศาสนา ที่รวมตัวขึ้นเป็นกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ก็มีส่วนสำคัญทำให้การรัฐประหาร 19 กันยายน สำเร็จได้  ถึงแม้ว่าองค์กรประชาสังคมเหล่านี้จะไม่ได้มีส่วนแต่งตั้งรัฐบาลเองก็ตาม


ส่วนในอียิปต์ กลุ่มองค์กรประชาสังคมที่เอนเอียงไปทางเสรีนิยมและต่อต้านรัฐศาสนา


ผู้ช่วยศาสตราจารย์อะรุไก ตั้งข้อสังเกตว่า องค์กรประชาสังคมในทั้ง 4 ประเทศนี้ เหมือนกันอยู่อย่างหนึ่งคือ ทุกแห่งล้วนมีทัศนคติแบบชนชั้นกลางในเมือง ที่รู้สึกว่าตัวเองเข้าใจคนจนดีกว่าคนจนเข้าใจตัวเอง  ความย้อนแย้งอย่างหนึ่งคือ องค์กรประชาสังคมเหล่านี้อ้างว่าเป็นตัวแทนของประชาชน แต่ก็มักจำกัดนิยามคำว่า "องค์กรประชาสังคม" ไม่ให้หมายความรวมถึงกลุ่มมวลชนที่เป็นตัวแทนของคนส่วนใหญ่

by Prach
20 สิงหาคม 2556 เวลา 17:36 น.

http://news.voicetv.co.th/global/79306.html
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่