ลงทุนระยะยาว-ยาก by ดร.นิเวศน์

กระทู้สนทนา
ลงทุนระยะยาว-ยาก
สิงหาคม 18, 2013 Filed under บทความ Posted by ดร.นิเวศน์

นักลงทุนจำนวนไม่น้อยอาจจะบอกว่าตนเองนั้น “ลงทุนระยะยาว” ผู้บริหารกองทุนต่าง ๆ ทั้งไทยและต่างประเทศก็มักจะบอกว่าตนเองเน้น “ลงทุนระยะยาว” คนที่เรียกตัวเองว่าเป็น VI นั้น ส่วนใหญ่ก็จะบอกว่าตนเอง “ลงทุนระยะยาว” แต่ถ้าเราไปสืบหรือได้มีโอกาสตรวจสอบการซื้อขายหุ้นของคนส่วนใหญ่ที่ลงทุนหุ้นแบบ “Active” หรือใช้เวลากับก...ารลงทุนค่อนข้างมากและบางคนเป็นนักลงทุนเต็มตัวหรือลงทุนเป็นอาชีพ ผมเชื่อว่าพวกเขาส่วนใหญ่น่าจะมีการลงทุนที่ค่อนข้างสั้น ถือหุ้นแต่ละตัวไม่เกินหนึ่งปีโดยเฉลี่ย ถ้าคิดตามมาตรฐานทางวิชาการก็ต้องบอกว่าพวกเขา “ลงทุนระยะสั้น” หรือเป็นนักเทรดหรือซื้อขายหุ้นมากกว่าที่จะเป็นนักลงทุนระยะยาว ทำไมจึงเป็นอย่างนั้น?

เริ่มต้นจากผู้บริหารกองทุนรวมที่ขายหน่วยลงทุนให้กับประชาชนทั่วไปก่อน กองทุนเหล่านี้ต่างก็ต้องแข่งขันกับกองทุนอื่นที่มีอยู่มากมาย พวกเขาต้องรายงานผลงานการลงทุนเป็นประจำทุกไตรมาศหรือทุกหกเดือนหรือทุกหนึ่งปีหรือว่าที่จริงคนก็อาจจะรู้ถึงผลงานการลงทุนได้แทบทุกวันผ่านมูลค่า NAV หรือมูลค่าทรัพย์สินสุทธิต่อหน่วยของกองทุน ดังนั้น ผู้บริหารกองทุนจึงมีแรงกดดันที่จะต้องสร้างผลงานให้ “น่าประทับใจ” หรืออย่างน้อยก็ต้องให้ “เกาะกลุ่ม” กับผลงานของคู่แข่งหรือดัชนีตลาดที่ใช้อ้างอิงตลอดเวลา มิฉะนั้นลูกค้าผู้ถือหน่วยลงทุนก็อาจจะถอนหรือขายหน่วยลงทุนออกทำให้กองทุนเล็กลงส่งผลให้การประเมินผลงานของผู้จัดการกองทุนที่ต้องทำทุกปีมีปัญหา ด้วยเหตุดังกล่าว การลงทุนซื้อขายหุ้นของผู้จัดการกองทุนจึงต้องเน้นหุ้นที่จะทำผลงานได้ดีในระยะเวลาไม่นานเกินไป ซึ่งก็หมายความว่าต้องเป็นหุ้นที่อยู่ในกระแสที่คนกำลัง “เล่น” นอกจากนั้น เมื่อหุ้นตัวไหนมีกำไรมาก พวกเขาก็มีความคิดที่อยากจะขายทำกำไรมากกว่าที่จะถือไว้ยาวซึ่งอาจจะเกิดการปรับตัวลงในช่วงที่จะมีการวัดผลงานได้ ผลก็คือ กองทุนมีการซื้อขายหุ้นค่อนข้างมาก ไม่ใช่นักลงทุนระยะยาว

กองทุนแบบเฮดจ์ฟันด์ซึ่งมักจะเป็นกองทุนที่ขายให้เฉพาะกับคนที่มีเงินมากและมีจำนวนผู้ถือหน่วยลงทุนไม่มากและส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นกองทุนจากต่างประเทศ ดังนั้นพวกเขาไม่จำเป็นต้องสร้างผลงานระยะสั้นอะไรมากนักที่จะทำให้พวกเขาต้องซื้อหรือขายหุ้นบ่อย อย่างไรก็ตาม ผลตอบแทนของผู้บริหารกองทุนกลุ่มนี้มักจะอิงอยู่กับผลตอบแทนเป็นรายปีของกองทุน ด้วยเกณฑ์ดังกล่าว ผู้บริหารกองทุนเฮดจ์ฟันด์จึงต้องสร้างผลงานในแต่ละปีให้ดีเพื่อที่ว่าตนเองจะได้ผลตอบแทนหรือโบนัสที่งดงาม ดังนั้น หุ้นที่มีกำไรมาก พวกเขาก็มักจะอยาก “ล็อก” กำไรไว้ก่อนเพื่อเป็นหลักประกันว่าผลงานประจำปีจะดีพอที่จะทำให้เขาได้เงินและได้ลูกค้าเพิ่มในปีต่อ ๆ ไป นอกจากนั้น ผู้บริหารเฮดจ์ฟันด์เองก็มักจะต้องรายงานการซื้อและขายหุ้นแต่ละตัวให้ผู้ลงทุนทราบ ถ้าผู้บริหารซื้อและลงทุนระยะยาวโดยไม่ขายเพื่อที่จะไปซื้อหุ้นตัวใหม่เป็นเวลาหลาย ๆ ปี ผู้ถือหน่วยลงทุนจะรู้สึกอย่างไร? มันคงดูเหมือนกับว่าพวกเขาไม่ใคร่ได้ทำงาน ซึ่งถ้าผลการลงทุนไม่ดีด้วย ในที่สุดก็คงไม่มีคนอยากจะนำเงินมาให้พวกเขาบริหาร ดังนั้น เฮดจ์ฟันด์ส่วนใหญ่จึงมักไม่ใช่นักลงทุนระยะยาว

นักลงทุนแนว VI ที่มุ่งมั่น ซึ่งก็คือคนที่ลงทุนโดยอิงจากพื้นฐานของกิจการนั้น พวกเขาไม่ต้องรายงานใครว่าแต่ละปีทำผลตอบแทนได้เท่าไร แต่เนื่องจากระบบสื่อสังคมสมัยใหม่ที่ทรงประสิทธิภาพมาก ทำให้พวกเขารู้หรือเข้าใจว่า “คนอื่น” นั้นกำลังทำผลตอบแทนได้มากน้อยแค่ไหน ดังนั้น หลาย ๆ คนก็มี “แรงกดดันทางใจ” ที่จะต้องทำผลงานให้ดีพอ ๆ กันหรือดีกว่า ซึ่งวิธีที่เขาคิดว่าจะทำได้ก็คือ การพยายามค้นหาหุ้นที่ยัง Undervalue มากกว่าหุ้นที่ตนเองถืออยู่ตลอดเวลา เสร็จแล้วก็ขายหุ้นตัวที่ถืออยู่เพื่อที่จะนำเงินไปซื้อหุ้นตัวใหม่ที่ “ถูกกว่า” และมีโอกาสที่จะปรับตัวขึ้นได้เร็วกว่าหุ้นตัวเดิม ผลก็คือ พวกเขาซื้อ ๆ ขาย ๆ หุ้นค่อนข้างบ่อยตามการปรับของราคาหุ้นในกลุ่มที่เรียกว่า “หุ้น VI” ซึ่งมีราคาขึ้นลงรุนแรงไม่แพ้ “หุ้นเก็งกำไร” อื่น ๆ

VI จำนวนมากที่ทำผลงานการลงทุนได้ยอดเยี่ยมในช่วงหลาย ๆ ปีที่ผ่านมายังรู้สึกว่า การลงทุนถือหุ้นยาวและเติบโตไปกับผลประกอบการของบริษัทนั้น ก็อาจจะดี แต่ก็ไม่สามารถจะโดดเด่นอย่างแน่นอน เหตุผลก็คือ ผลประกอบการของบริษัทในระยะยาวจริง ๆ แล้วแทบจะไม่สามารถโตได้ปีละเกิน 15% ซึ่งก็จะทำให้การถือหุ้นของบริษัทในระยะยาวจะได้ผลตอบแทนไม่เกินปีละ 15% ตัวเลขนี้สำหรับ VI ที่ประสบความสำเร็จสูงในช่วงที่ผ่านมานั้น เป็นผลตอบแทนที่แทบจะ “รับไม่ได้” พวกเขาคิดว่าอย่างน้อยเขาควรจะทำได้อาจจะปีละ 25% ขึ้นไป ดังนั้น พวกเขาจึงไม่คิดที่จะถือหุ้นตัวเดียวยาวหลายปีไม่ว่ากิจการจะดีแค่ไหน พวกเขาคิดว่าเมื่อได้กำไรจากหุ้นตัวไหนมากแล้วและราคาหุ้นอาจจะไม่ถูกอีกต่อไป เขาก็พร้อมที่จะเปลี่ยนตัวหุ้นใหม่ ผลก็คือ แม้แต่ “VI ระดับเทพ” เองก็มีน้อยมากที่จะลงทุนระยะยาว

การที่เราหานักลงทุนระยะยาวจริง ๆ ได้ยากมากนั้น ยังอยู่ที่เหตุผลทางจิตวิทยา ความรู้และความเข้าใจของคน และอื่น ๆ อีกหลายอย่างที่ทำให้คนมีแนวโน้มที่จะเป็น “นักลงทุนระยะสั้น” มากกว่าระยะยาว ลองมาดูข้อแรกก็คือ คนเราโดยเฉพาะที่เป็นคนมีความสามารถสูงนั้น มักจะเป็นคนที่ Active มีความกระตือรือร้นสูง พวกเขาต้องการ Action หรือต้องมีการ “ทำอะไรบางอย่าง” เพื่อที่จะประสบความสำเร็จ การนั่ง “กระดิกเท้า” ไม่ทำอะไร หรือคิดหรือทำอะไรชักช้าไม่ทันการนั้น เป็นสัญญาณของคนที่ไม่สามารถประสบความสำเร็จได้ ดังนั้น นักลงทุนที่มุ่งมั่นและทุ่มเทให้กับการลงทุนในตลาดหุ้นจึงมีแนวโน้มที่จะต้อง “ทำ” บางคนอาจจะบอกว่าไม่ได้หมายความว่าต้องซื้อหรือขายหุ้น แต่เขาต้องไปศึกษาหาข้อมูลและวิเคราะห์หาหุ้นที่ถูกมากเมื่อเทียบกับมูลค่าพื้นฐานของกิจการตลอดเวลาเพื่อหาโอกาสที่งดงาม ประเด็นก็คือ ในที่สุดเขาก็พบเพชรเม็ดงามเม็ดใหม่เสมอ ประเด็นก็คือ เขามีเงินจำกัด เขาไม่เหมือน วอเร็น บัฟเฟตต์ ที่มีเงินใหม่เพิ่มขึ้นมาเรื่อย ๆ ดังนั้น เขาต้องขายหุ้นตัวเดิมและไปซื้อหุ้นตัวใหม่ที่อาจจะไม่ดีกว่า แต่ถูกกว่า และดังนั้น เขาก็กลายเป็นนักลงทุนระยะสั้นโดยพฤติกรรม

การเป็นนักลงทุนระยะยาวนั้นเป็นเรื่องที่ทำยากและไม่แน่นอน คนที่ทำจะต้องวิเคราะห์ข้อมูลของกิจการอย่างลึกซึ้ง เขาต้องดูถึงโครงสร้าง ภาวะ และแนวโน้มของอุตสาหกรรม ในระยะยาว เสร็จแล้วก็ต้องดูถึงความสามารถหรือความได้เปรียบในการแข่งขันของบริษัทว่ามีความยั่งยืนมากน้อยแค่ไหน เขายังต้องดูถึงผู้บริหารว่ามีความสามารถและไว้วางใจได้หรือไม่ และแม้ว่าจะดูอย่างดีแล้ว เขามีความมั่นใจแค่ไหนว่ามันจะไม่เปลี่ยนแปลงไปเมื่อเวลาผ่านไปยาวนานในอนาคต ตรงกันข้าม การลงทุนระยะสั้นนั้นทำง่ายกว่ากันมาก การวิเคราะห์หุ้นอาจจะมองแค่ว่าในระยะเวลาไม่เกินปีบริษัทน่าจะมีผลประกอบการที่ดีขึ้นได้ค่อนข้างแน่นอนมองจากปัจจัยหรือแนวโน้มที่เกิดขึ้น บางทีอาจจะรู้และได้รับคำมั่นจากผู้บริหารซึ่งเป็น “ข้อมูลภายใน” ว่า ทุกอย่างกำลังไปได้ดี ดังนั้น การตัดสินใจและลงมือทำจึงทำได้ง่ายด้วยความมั่นใจที่สูง

สุดท้าย ตลาดหุ้นที่ผันผวน ราคาหุ้นแต่ละตัวที่ผันผวนหนักในแต่ละวันนั้น กระตุ้นให้คนเป็นนักลงทุนระยะสั้นมากกว่าระยะยาวมาก สมองคนถูกออกแบบมาให้พยายามลดความไม่แน่นอน ให้พยายาม “ลดความเสี่ยง” แม้บางทีเราอาจจะคิดว่าหุ้นลงมาอย่างไม่มีเหตุผลไม่ควรทำอะไร แต่เราก็อาจจะขายไปก่อนแล้วคิดว่าค่อยไปเก็บคืนที่ราคาต่ำกว่านั้นก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร เรามีแนวโน้มเป็นนักลงทุนระยะสั้นมากกว่าระยะยาวถ้าเราไม่ฝืนมัน

https://www.facebook.com/home.php#!/pages/%E0%B8%9B%E0%B8%A5%E0%B8%B9%E0%B8%81%E0%B8%AB%E0%B8%B8%E0%B9%89%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B8%9C%E0%B8%A5/198068607020376
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่