กลุ่มภราดรภาพมุสลิม

กลุ่มมุสลิมภราดรภาพก่อตั้งเมื่อปี 2471 โดยนายฮัสซัน อัล-บันนา นักการศาสนาชื่อดังของอียิปต์ในเวลานั้น ด้วยแนวคิดที่ว่า ศาสนาไม่ได้เป็นเพียงเครื่องยึดเหนี่ยวทางจิตใจของบุคคล แต่คือส่วนหนึ่งของชีวิต ซึ่งได้รับความสนับสนุนอย่างรวดเร็วในกลุ่มประเทศอาหรับหลายแห่งไปจนถึงแอฟริกาเหนือ ที่ถือให้เป็นต้นแบบของ “องค์กรการเมืองที่เคลื่อนไหวด้วยแรงผลักดันของศาสนา” ว่ากันว่าแม้จะยังไม่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่กลุ่มมุสลิมภราดรภาพก็รวบรวมสมาชิกได้แล้วกว่า 2 ล้านคน

กลุ่มมุสลิมภราดรภาพมุ่งเน้นเรื่องการสอนศาสนาและจัดกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคมเรื่อยมา จนกระทั่งถึงปี 2548 ซึ่งเป็นสมัยที่อียิปต์ยังอยู่ภายใต้การปกครองของมูบารัค กลุ่มมุสลิมภราดรภาพตัดสินใจส่งผู้สมัครชิงเก้าอี้ในสภาล่างเป็นครั้งแรก และได้รับเลือกตั้งมากถึง 88 ที่นั่ง ทั้งที่เป็นการลงสมัครในนามอิสระ ไม่ขึ้นกับขั้วการเมืองทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับมูบารัค ทำให้สื่อและนักวิเคราะห์พากันยกย่องให้เป็น “ฝ่ายค้านกลุ่มแรกแห่งวงการเมืองอียิปต์ยุคใหม่” แต่หลังจากนั้นไม่นาน มูบารัคสั่งให้มีการกวาดล้างกลุ่มมุสลิมภราดรภาพ และจับสมาชิกระดับสูงหลายคนไปคุมขัง

อย่างไรก็ตาม สมาชิกของกลุ่มที่เหลืออยู่เดินหน้าโจมตีมูบารัคเรื่อยมา ไม่ว่าจะเป็นการจัดทำสื่อเผยแพร่ รวมถึงการจัดชุมนุมย่อยและการจัดเสวนาโจมตีรัฐบาล จนกระทั่งสิ้นสุดยุคของมูบารัคเมื่อปี 2554 กลุ่มมุสลิมภราดรภาพ “ฟื้นคืนชีพ” ครั้งใหญ่ เนื่องจากกฎหมายของอียิปต์ระบุห้ามมิให้คว่ำบาตรกลุ่มการเมืองใดก็ตาม ด้วยเหตุผลเพียงเรื่องศาสนา ทางกลุ่มจึงส่งผู้สมัครลงชิงชัยในศึกเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎร ( ส.ส. ) ในช่วงเดือนธ.ค. ปีเดียวกัน ในนามพรรค “เสรีภาพและความยุติธรรม” ( เอฟเจพี )

ผลการเลือกตั้งปรากฏว่า พรรคเอฟเจพีได้ที่นั่งถึงครึ่งหนึ่ง แต่กลับประกาศจะไม่ส่งผู้สมัครลงสู้ศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีในเดือนมิ.ย. 2555 แต่กระนั้นนายโมฮัมเหม็ด มอร์ซี บัณฑิตปริญญาเอกวิศวกรรมศาสตร์จากสหรัฐลงชิงชัยในนามของกลุ่มมุสลิมภราดรภาพ และได้รับชัยชนะ กลายเป็นประธานาธิบดีคนแรกของประเทศที่มาจากการเลือกตั้ง

แม้จะเป็นผู้นำอียิปต์คนแรกที่มาจากการเลือกตั้งตามระบบประชาธิปไตย แต่คะแนนนิยมในตัวมอร์ซีและกลุ่มมุสลิมภราดรภาพกลับดิ่งเหวลงอย่างต่อเนื่อง สาเหตุจากการไม่รักษาคำพูดที่ให้ไว้เมื่อตอนหาเสียงหลายข้อ เช่นการแต่งตั้งรองประธานาธิบดีหญิง หรือการเปิดโอกาสให้นักการเมืองชาวคริสต์เข้ามามีส่วนร่วมในรัฐบาล ท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจที่ไม่ดีขึ้นด้วย ทำให้เริ่มมีการชุมนุมขับไล่มอร์ซีเป็นระยะ และหนักหน่วงขึ้นจนกลายเป็นการที่กองทัพตัดสินใจบุกยึดอำนาจเมื่อวันที่ 3 ก.ค. ครบ 1 ปีที่มอร์ซีเข้ามาบริหารอำนาจ

แน่นอนว่า กลุ่มมุสลิมภราดรภาพไม่มีทางยอมแพ้โดยง่าย กลับประกาศปลุกระดมมวลชนให้ออกมาเดินหน้าชุมนุมต่อต้านกองทัพและรัฐบาลรักษาการ ที่แน่นอนว่ามีทหารหนุนหลัง การประท้วงทวีความรุนแรงถึงขีดสุดเมื่อวันที่ 14 ส.ค. จากการที่ฝ่ายความมั่นคงส่งเจ้าหน้าที่บุกทลายค่ายของผู้ชุมนุม 2 แห่งในกรุงไคโร มีผู้เสียชีวิตในวันนั้นเพียงวันเดียว 638 ศพ ในจำนวนนี้รวมถึงเจ้าหน้าที่ 43 ศพ และผู้สื่อข่าวต่างชาติอีก 3 ศพ และมีผู้บาดเจ็บอีกร่วม 4,000 คน รัฐบาลรักษาการต้องประกาศใช้สถานการณ์ฉุกเฉิน 1 เดือน

จนถึงตอนนี้ ยังไม่มีผู้ใดล่วงรู้เลยว่า สถานการณ์ทางการเมืองในอียิปต์ที่รุนแรงที่สุดครั้งนี้จะดำเนินต่อไปในทิศทางใด ท่ามกลางการสูญเสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นทุกนาที แต่การที่บุตรชายของนายโมฮัมเหม็ด บาร์ดี ผู้นำกลุ่มมุสลิมภราดรภาพคนปัจจุบัน ถูกยิงเสียชีวิตขณะร่วมชุมนุมเมื่อวันที่ 17 ส.ค. และการที่รัฐบาลรักษาการประกาศจะใช้วิธีทางกฎหมายยุบกลุ่มมุสลิมภราดรภาพ อนาคตของอียิปต์กำลังแขวนอยู่บนเส้นด้ายที่ใกล้จะขาดมากขึ้นทุกขณะ

เดลินิวส์ออนไลน์
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่