ชี้โค่น มอร์ซี-ทักษิณ นำสู่ระบอบอัตตาธิปไตย




ชี้โค่น มอร์ซี-ทักษิณ นำสู่ระบอบอัตตาธิปไตย


นักวิชาการชาวดัทช์ชี้จุดเหมือนมอร์ซี-ทักษิณ เป็นนักประชาธิปไตยไม่เสรี แต่การล้มล้างเจตจำนงของประชาชนด้วยการรัฐประหารในอียิปต์และไทย ส่อนำสู่ระบอบอัตตาธิปไตย ปกครองโดยผู้เป็นใหญ่


เอียน บูรูมา อาจารย์สอนวิชาประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน มหาวิทยาลัยบาร์ดคอลเลจ ในนิวยอร์ก ได้ตีพิมพ์บทความในหนังสือพิมพ์ The Globe and Mail ในแคนาดา [http://m.theglobeandmail.com/commentary/give-democracy-a-chance-in-egypt/article13724965/?service=mobile] เปรียบเทียบปัญหาการเมืองของอียิปต์กับประเทศไทย


บทความชื่อ "Give democracy a chance in Egypt" ของนักวิชาการชาวเนเธอร์แลนด์ผู้นี้ ชี้ว่า อียิปต์กับไทยมีอย่างหนึ่งที่เหมือนกัน นั่นคือ พวกผู้มีการศึกษาที่ถือตัวเองว่าเป็นนักประชาธิปไตยได้หันไปเชียร์รัฐประหาร โค่นรัฐบาลจากการเลือกตั้ง แม้คนพวกนี้เคยต่อต้านระบอบกดขี่ของทหาร แต่ในไทยเมื่อปี 2549 และในอียิปต์เมื่อเดือนที่แล้ว คนเหล่านี้ต่างยินดีที่ผู้นำประเทศถูกขับด้วยการใช้กำลัง


สาเหตุก็คือ ผู้นำจากการเลือกตั้งในประเทศทั้งสอง คือ ทักษิณ ชินวัตร ในประเทศไทย และโมฮัมเหม็ด มอร์ซี ในอียิปต์ ต่างเป็นนักประชาธิปไตยที่ไม่เสรี คนทั้งสองมองว่าชัยชนะในการเลือกตั้งของตนเป็นการได้รับอาณัติให้บิดเบือนบรรทัดฐานต่างๆในรัฐธรรมนูญ และปกครองอย่างนักอัตตาธิปไตย


สถานการณ์ภายหลังการรัฐประหารในไทยและอียิปต์ ต่างตามมาด้วยการนองเลือด ในประเทศไทยจนกระทั่งทุกวันนี้ แม้ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาวของทักษิณ ได้ก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี แต่บรรดาผู้สนับสนุนทักษิณยังคงได้รับความขมขื่นนานาประการ ความรุนแรงบนท้องถนนอาจปะทะขึ้นได้ตลอดเวลา


ในอียิปต์ ผู้นำรัฐประหาร พลเอกอับเดล ฟัตตาห์ อัลซิซี ได้ประกาศที่จะบดขยี้กลุ่มภราดรภาพมุสลิมอย่างรุนแรงที่สุด มีการปราบปรามผู้สนับสนุนมอร์ซีที่ปักหลักชุมนุมโดยสงบ มีผู้เสียชีวิตหลายร้อย มีการฟื้นหน่วยตำรวจลับที่เคยเฟื่องฟูในยุคอดีตประธานาธิบดีฮอสนี มูบารัก


ความเคลื่อนไหวเหล่านี้ ทั้งไม่เป็นประชาธิปไตย ทั้งขัดหลักเสรีนิยม แม้กระนั้น ชาวอียิปต์จำนวนมาก รวมทั้งพวกนักสิทธิมนุษยชน ก็ยังเห็นดีเห็นงาม นักเรียกร้องประชาธิปไตยชื่อดัง อิสรออ์ อับเดล ฟัตตาห์ ประณามพรรคของมอร์ซีว่าเป็น "แก๊งของผู้ก่อการร้ายที่มีต่างชาติหนุนหลัง"



@  ภาพทางโทรทัศน์ โมฮัมเหม็ด มอร์ซี สาบานตนรับตำแหน่งประธานาธิบดี เมื่อ 30 มิถุนายน 2555



นักวิชาการผู้นี้บอกว่า การเลือกตั้งที่ส่งมอร์ซีขึ้นสู่อำนาจ ได้มอบสิทธิ์เสียงแก่ประชาชนหลายล้านคนเป็นครั้งแรก จำนวนมากเป็นคนยากจน มีการศึกษาต่ำ และเคร่งศาสนา คนเหล่านี้อาจมีทัศนะไม่เป็นประชาธิปไตย โดยเฉพาะในเรื่องบทบาทผู้หญิง เรื่องเพศ และบทบาทของอิสลามในการเมืองการปกครอง แต่การปิดปากพวกเขาด้วยกำลังนั้นรังแต่จะชักนำไปสู่เหตุรุนแรงยิ่งขึ้น


หากไม่เคารพผลการเลือกตั้ง ประชาชนจะหันไปหาวิถีทางอื่นในการเรียกร้องสิทธิ์เสียงของตน การปกครองแบบอัตตาธิปไตยของมอร์ซีอาจบั่นทอนประชาธิปไตย แต่การขับเขาด้วยรัฐประหารเป็นการทำลายประชาธิปไตย


นับเป็นปมคำถามที่มีมาเนิ่นนาน ว่า เราจะเชื่อมช่องว่างระหว่างพวกชนชั้นนำเขตเมืองกับชาวชนบทผู้ยากจนได้อย่างไร วิธีหนึ่งคือ กดปราบพวกคนจนและองค์กรทางศาสนาของพวกเขา อียิปต์เคยทำมาแล้วทั้งโดยผู้นำฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวา อีกวิธีคือ ให้โอกาสแก่ประชาธิปไตย


หนทางอีกอย่างหนึ่ง คือ หวนคืนสู่ระบอบอัตตาธิปไตยที่ไม่เสรี การสนับสนุนรัฐประหารโค่นล้มมอร์ซี กำลังจะนำไปสู่ระบอบที่ว่านี้.



Source : AFP (images)

ขอขอบคุณผู้แนะนำแหล่งข้อมูล : Andrew MacGregor Marshall (Facebook page)

by sathitm
17 สิงหาคม 2556 เวลา 14:53 น.

http://news.voicetv.co.th/global/79044.html
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่