จอมอิทธิพลกลุ่มใหม่ - จอมอิทธิพลกลุ่มใหม่ ข่าวหุ้น 15 สิงหาคม 2556

จอมอิทธิพลกลุ่มใหม่
----------------------

วิษณุ โชลิตกุล
ข่าวหุ้น 15 สิงหาคม 2556

เมื่อวานนี้ นักลงทุนต่างชาติกลับมาซื้อหุ้นอีกครั้งหลังจากขายสุทธิติดต่อกัน 8 วันรวดในตลาดหุ้นไทย แต่ตลาดหุ้นก็บวกเล็กน้อย เพราะอิทธิพลการเทขายของพอร์ตโบรกเกอร์ (บัญชีบริษัทหลักทรัพย์)

หากมองอย่างพินิจ จะเห็นได้ว่า ในสามเดือนมานี้ การเทขายของนักลงทุนต่างชาติหลายหมื่นล้านบาทต่อเนื่อง ซื้อกลับมาเพียงเล็กน้อย ได้ส่งผลสะเทือนในช่วงแรกกับตลาดหุ้นไทยค่อนข้างมาก เพราะคนอื่นๆ พากันขายตามด้วย เพราะมองเห็นว่า หากตลาดหุ้นไทยปราศจากแรงขับเคลื่อนโดยนักลงทุนต่างชาติ จะไปต่อได้ไม่ไกล หรือไม่ไปต่อ เนื่องจากเห็นว่า หากเล่นกันเองแล้ว สภาพตลาดจะมีอาการวาย หรือโลหิตจางได้ง่าย

การถอนตัวของนักลงทุนต่างชาติ เปิดช่องให้กลุ่มพอร์ตโบรกเกอร์ เคลื่อนตัวเข้ามาสร้างอิทธิพลในการซื้อขายตลาดหุ้นค่อนข้างโดดเด่นเป็นพิเศษ มีคนตั้งข้อสังเกตมาหลายครั้งแล้วว่า วันไหนที่พอร์ตโบรกเกอร์ขายสุทธิ วันนั้น จะมีโอกาสที่หุ้นติดลบสูงมาก หรือไม่ก็บวกเฉียดฉิวดังเช่นเมื่อวานนี้ ที่เด้งบวกหลังจากตลาดปิดลบไปแล้ว

เมื่อใช้สืบค้นย้อนหลังไปกว่า 2 เดือน จะเห็นอิทธิพลของพอร์ตโบรกเกอร์ได้ชัดเจนยิ่งขึ้นจนไม่สามารถปฏิเสธได้

อิทธิพลที่เพิ่มมากขึ้นนี้ หากตั้งสมมติฐานว่า นักลงทุนต่างชาติจะไม่หวนกลับคืนมารุนแรงเหมือนเมื่อต้นปีในช่วงไตรมาสแรก ตลาดหุ้นก็คงตกอยู่ใต้อิทธิพลของพอร์ตโบรกเกอร์อย่างถอนตัวไม่ขึ้น คำถามก็คือว่า แล้วนักลงทุนทั่วไป และนักลงทุนสถาบัน (กองทุนรวม) จะได้ประโยชน์หรือเสียประโยชน์มากน้อยแค่ไหน

ที่มาของพอร์ตโบรกเกอร์ ซึ่งที่ถูกต้องคือ พร็อพเทรด หรือ proprietary trading นั้น ไม่ได้เกิดขึ้นในตลาดหุ้นไทยก่อน แต่เกิดขึ้นในธุรกิจการเงินของสหรัฐแล้วแพร่กระจายไปทั่วโลก

ประวัติศาสตร์ของพร็อพเทรด เริ่มต้นจากธุรกิจธนาคารในสหรัฐฯที่เข้าไปแก้ปัญหาการเงินของลูกค้า แล้วเอาหลักทรัพย์ค้ำประกันของลูกค้าที่ยึดมาบริหาร ซึ่งทำให้ธนาคารมีรายได้จากการซื้อขายทรัพย์สินเพิ่มขึ้น แยกออกจากส่วนรายได้จากดอกเบี้ย และค่าธรรมเนียมต่างๆ

โดยทั่วไปแล้ว ธุรกิจบริหารหรือซื้อขายทรัพย์สินทั้งหลาย ไม่ควรเป็นธุรกิจหลักของธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงิน ดังนั้น รัฐจึงกำกับดูแลให้มีข้อกำหนดแยกกิจการบริหารดังกล่าวไปตั้งเป็นบริษัทลูกหรือบริษัทย่อย เกิดเป็นปรากฏการณ์ใหม่คือ การบริหารสินเชื่อและสินทรัพย์ข้ามสายกัน

จากธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ได้มีการดัดแปลงไปใช้กับตลาดเก็งกำไร ที่อนุญาตให้บริษัทหลักทรัพย์ สามารถสร้างรายได้เพิ่มจากค่าธรรมเนียม (ซื้อขายหลักทรัพย์ ที่ปรึกษาการเงิน หรืออันเดอร์ไรเตอร์) ซึ่งมีการแข่งขันกันสูง ไปสู่การซื้อขายหลักทรัพย์หรือตราสารการเงินโดยตรง เพื่อสร้างแหล่งรายได้ใหม่ที่ถ่วงดุลกับรายได้ตามจารีตของธุรกิจ

ในกรณีของไทย การลดค่าธรรมเนียมของธุรกิจหลักทรัพย์แบบขั้นบันได ทำให้รายได้ของบรรดาบริษัท และ “มนุษย์ทองคำ” ทั้งหลายลดฮวบฮาบ ก.ล.ต. และตลาดฯ จึงร่วมออกแบบให้ทำพร็อพเทรดได้ตั้งแต่เดือนกันยายน 2552 ซึ่งบรรดาบริษัทหลักทรัพย์ทั้งหลายก็เริงร่า เนื่องจากสามารถซื้อขายหลักทรัพย์ได้โดยตรงโดยไม่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียม (คอมมิสชั่น)ที่ปรับมาเป็นแบบขั้นบันไดให้กับตัวเอง ซึ่งเป็นความได้เปรียบนักลงทุนทั่วไปในระดับหนึ่ง (เข้าออกได้สะดวก เพียงแค่กำไรช่วงเดียวก็ขายทิ้งได้แล้ว เพราะต้นทุนต่ำกว่า)

เงินหน้าตักที่มากกว่า กติกาที่ได้เปรียบ และประสบการณ์ที่เชี่ยวกรำในตลาดหุ้นมากเป็นพิเศษเหนือกลุ่มอื่น ทำให้พร็อพเทรดสามารถซื้อขายได้ทั้งหุ้นและตราสารอนุพันธ์อย่างยืดหยุ่น

ความคึกคักของพร็อพเทรดเกิดขึ้นตั้งแต่ต้น จนสามารถแย่งส่วนแบ่งการซื้อขายประจำวันได้มากกว่า 10%ขึ้นไปเลย และสามารถทำรายได้เป็นทา

เลือกสำคัญอยู่รอดกันมาด้วยดี เป็นพัฒนาการของตลาดทุนไทยที่สำคัญไม่น้อย

ข้อเด่นของตลาดหุ้นไทยเกี่ยวกับพอร์ตโบรกเกอร์ ก็คือ กำหนดเงื่อนไขเปิดเผยมูลค่าซื้อขายประจำวันของพอร์ต ซึ่งตลาดต่างประเทศที่อื่นก็ไม่ทำ ช่วยให้นักลงทุนสามารถที่จะศึกษาพฤติกรรมและบทบาทของพอร์ตโบรกเกอร์ได้อย่าง”รู้ทัน”มากขึ้น แม้จะมีคำถามแบบไร้เดียงสาที่เป็นอมตะเสมอมาว่า “จะมั่นใจได้อย่างไรว่าโบรกเกอร์จะไม่เอาเปรียบลูกค้าของตนเอง (โยกกระเป๋าซ้าย ย้ายกระเป๋าขวา) เพื่อหาประโยชน์เข้าตัว”

คำอธิบายจากผู้บริหารตลาด และ ก.ล.ต.เกี่ยวกับเรื่องนี้คือ กระบวนการทำงานของแผนกพร็อพเทรด ถูกแยกออกอย่างเด็ดขาดจากแผนกอื่นๆ (นักวิเคราะห์ มาร์เกตติ้ง อันเดอร์ไรเตอร์ หรือที่ปรึกษาการเงิน) โดยการสร้าง “กำแพงเมืองจีน” (China Wall) ซึ่งถูกตรวจสอบเข้มงวด ตามกฎสากลที่เรียกกันว่า กฎของโวล์กเกอร์ (Volker’s Rules- ตามชื่อนายพอล โวล์กเกอร์ อดีตผู้ว่าเฟดฯยุคโรนัลด์ เรแกน) เป้าหมายสำคัญอยู่ที่การป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อนนั่นเอง

กติกาเช่นว่านั้น ว่าไปแล้ว มีคนทั้งที่เป็นนักลงทุนและไม่ใช่เชื่อน้อยมาก เพราะรู้ดีถึงก้นบึ้งของวัฒนธรรมองค์กรแบบ”ไทยๆ”ที่แสนจะคุ้นเคยกันดีสำหรับการทลายกำแพงเมืองจีนให้เปื่อยยุ่ย

ที่สำคัญ พนักงานของโบรกเกอร์ไทยที่ทำพร็อพเทรด ก็มีนิสัยหรือสันดอนจนสังเกตชัดว่า ถนัดซื้อขายระยะสั้น เข้า-ออกเร็ว รวมทั้งเล่นเก็งกำไรสองขาทั้งตลาดหุ้นและอนุพันธ์ สามารถโยนพอร์ตไปมาได้ทั้งซื้อและขาย ทำให้ภาพการลงทุน หรือทิศทางตลาดผันผวน ยังผลให้รายย่อยที่ข้อมูลไม่สมบูรณ์ประเมินการลงทุนได้ยากขึ้น

อิทธิพลที่กำลังเพิ่มมากขึ้นของพร็อพเทรด ในยามที่ต่างชิตถอยออกจากตลาดหุ้นไทยนั้น น่าจะทำให้ข้อถกเถียงและคำถามถึงบทบาทที่พอเหมาะพอควรของพอร์ตโบรกเกอร์ หรือพร็อพเทรดกันมากขึ้นในอนาคตอันใกล้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี เพราะตลาดไม่ควรถูกครอบงำโดยคนกลุ่มน้อยที่ช่ำชองการปล้นคนส่วนใหญ่อย่างชอบธรรม

Cr. fb วรวรรณ ธาราภูมิ

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่