๐๐๐๐ "นายจ้าง" ไม่มีสิทธิยื่นประกันสังคมให้ตนเอง ๐๐๐๐

อมยิ้ม01 ผมได้รับคำชี้แจงจากเจ้าหน้าที่ประกันสังคมว่า นายจ้างยื่นขอประกันสังคมให้ตนเองไม่ได้

ระหว่างที่ผมรอเอกสารเกี่ยวกับเรื่องนี้  ผมลองค้นเอง พบข้อมูลน่าสนใจ ดังนี้



1. กรรมการมีสิทธิเข้าระบบประกันสังคมหรือไม่??


                ต่อคำถามที่ท่านอาจมีข้อสงสัยเกี่ยวกับกรณีกรรมการบริษัท ซึ่งได้รับเงินค่าจ้างจากบริษัทจริงในการทำงาน แต่ กรรมการ หรือ ผู้ถือหุ้น จึงไม่สามารถเข้าสู่ระบบประกันสังคมได้ ทั้งที่ตนเองก็รับเงินเดือนในการทำงานจริงเช่นเดียวกันกับพนักงาน จึงขอนำข้อสรุปมาให้ทราบดังนี้

                เมื่อนำเอกสารไปขอขึ้นทะเบียนประกันสังคม ทางสำนักงานประกันสังคมก็จะตรวจสอบเอกสารและสอบถามข้อเท็จจริงว่า  ผู้ที่เป็นกรรมการหรือผู้ถือหุ้นของบริษัทนั้น ๆ มีนิติสัมพันธ์การเป็นนายจ้างหรือลูกจ้างกันแน่  โดยพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  ประกอบกับพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541  บุคคลผู้เป็นกรรมการหรือผู้ถือหุ้นดังกล่าว  อยู่ในข่ายการเป็น “ลูกจ้าง” หรือเป็น “นายจ้าง”  โดยกฎหมายที่ว่าได้ให้ความหมายพอสรุปได้ว่า

                “ลูกจ้าง” คือ  ผู้ซึ่งตกลงทำงานให้แก่นายจ้างเพื่อรับค่าจ้าง โดยอยู่ภายใต้อำนาจบังคับบัญชาของนายจ้างอันหมายความว่าลูกจ้างต้องทำงานตามที่นายจ้างสั่ง  และต้องปฏิบัติตามระเบียบหรือข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของนายจ้าง  หากลูกจ้างฝ่าฝืนนายจ้างสามารถลงโทษได้

                สำหรับ “นายจ้าง” หรือผู้ที่ดำรงตำแหน่ง  กรรมการหรือผู้ถือหุ้น ที่จะไม่อยู่ในข่ายการเป็น “ลูกจ้าง”  จะต้องมีคุณสมบัติดังนี้

1.    เป็นผู้เริ่มก่อการและก่อตั้งบริษัทมาตั้งแต่แรก หรือเป็นผู้ถือหุ้น
2.    ไม่ต้องอยู่ภายใต้กฎระเบียบข้อบังคับในการทำงานของบริษัท กล่าวคือ  ลักษณะงานไม่เหมือน ลูกจ้าง  ไม่มีการสมัครงาน ปฏิบัติงานโดยอิสระ ไม่ต้องมาทำงานในเวลาทำการทุกวัน การลา  ไม่ต้องปฏิบัติตามข้อบังคับของบริษัท
3.    ไม่มีผู้บังคับบัญชา
4.    การทำงานให้กับบริษัท เป็นการทำงานในฐานะกรรมการและผู้ถือหุ้นที่ต้องดูแลรักษาผลประโยชน์ของบริษัท  เป็นการทำกิจการด้วยจุดประสงค์เพื่อจะแบ่งปันกำไรอันพึงได้เท่านั้น
                ดังนั้น  หากแม้ว่ามีตำแหน่งเป็น กรรมการ  แต่ไม่ได้เป็นผู้ก่อตั้งบริษัท  และยังเป็นผู้ที่ถูกว่าจ้างให้ทำงานโดยที่ประชุมผู้ถือหุ้น รวมทั้งจะต้องทำงานอยู่ภายใต้กฎระเบียบข้อบังคับของบริษัท  ซึ่งหากฝ่าฝืน  บริษัทสามารถลงโทษได้  และหากมีการเลิกจ้าง  บุคคลผู้นี้สามารถเรียกค่าชดเชยจากบริษัทได้  ก็จะถือว่ากรรมการผู้นี้เป็น “ลูกจ้าง” ของบริษัท ตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533
                ในปัจจุบันยังมีอีกหลาย ๆ บริษัทที่ผู้ดำรงตำแหน่ง “กรรมการผู้จัดการ” ไม่อยู่ในข่ายการเป็น “ลูกจ้าง” ของบริษัท เพราะมีคุณสมบัติครบตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้นทั้ง 4 ข้อ  เพียงแต่ได้รับค่าตอบแทนจากบริษัทเป็นรายเดือน  ซึ่งผู้ทำหน้าที่หักเงินประกันสังคมของบริษัทก็เข้าใจว่าการรับค่าตอบแทนจากบริษัทก็ถือเป็นค่าจ้าง  ซึ่งจะต้องนำไปหักเงินสมทบประกันสังคมเพื่อนำส่งให้กับสำนักงานประกันสังคมทุกเดือนตามปกติ
                  ซึ่งการตีความของประกันสังคมจะมองว่า ในเมื่อตนเองเป็น “นายจ้าง” ก็กลายเป็นว่าตนเองในฐานะ “นายจ้าง”  ต้องจ่ายเงินสมทบประกันสังคมถึง 2 ส่วน  ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว ถึงแม้จะมีสิทธิใช้บริการจากสำนักงานประกันสังคมใน 7 เรื่องที่ทราบกันอยู่ แต่ในความเป็นจริงแล้ว  คนกลุ่มนี้ก็ไม่ได้ไปใช้บริการเหล่านี้  จากสำนักงานประกันสังคมเลย  ยิ่งถ้าพูดถึงระดับอายุ ส่วนใหญ่ก็เลยวัยคลอดบุตรหรือมีบุตรแล้ว  หรือถ้ามีบุตรก็โตเกินกว่าจะใช้บริการสงเคราะห์บุตร  ถ้าพูดถึงฐานะการเงินก็มีพอที่จะใช้จ่ายโดยไม่ต้องพึ่งพาจากรัฐ  ส่วนเรื่องการว่างงานก็ยิ่งไม่ต้องพูดถึง  เพราะคนกลุ่มนี้คงไม่ถูกเลิกจ้างแน่ ๆ ยกเว้นอยากจะทำตัวว่างงานเอง  และตามพระราชบัญญัติประกันสังคมแล้ว บุคคลที่เข้าข่ายเป็น “นายจ้าง” ก็ไม่ต้องขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนต่อสำนักงานประกันสังคมอีกด้วย
                 ดังนั้น  หากบริษัทใดมีผู้ดำรงตำแหน่งที่เข้าข่ายไม่ได้เป็น “ลูกจ้าง” และยังคงหักเงินสมทบประกันสังคมอยู่ ก็สามารถทำหนังสือถึงฝ่ายเงินสมทบและการตรวจสอบ สำนักงานประกันสังคมในเขตพื้นที่ ที่บริษัทท่านส่งเงินสมทบอยู่  เพื่อแจ้งขอไม่ส่งเงินสมทบของบุคคลที่มีฐานะเป็น “นายจ้าง” อีกต่อไป พร้อมทั้งทำแบบ สปส 6-09 แจ้งออก  ซึ่งสำนักงานประกันสังคมจะคืนให้เพียงบางส่วนตามเปอร์เซ็นต์ที่ประกันสังคมกำหนด (จะขอรับเงินคืนได้เมื่ออายุครบ 55 ปี) หากผู้ประกันตนยังคงทำงานอยู่จริงหลังจากอายุเกิน 55 ปีแล้วก็ตาม ก็สามารถอยู่ในระบบได้ต่อไป
                  ** เกี่ยวกับข้อหารือของสำนักงานประกันสังคม ได้อนุโลมให้กรรมการที่ได้อยุ่ในระบบประกันสังคมมาก่อนปี 2550 สามารถอยู่ต่อในระบบได้โดยไม่ต้องออกจากระบบ แต่กรรมการที่ประสงค์จะเข้าระบบประกันสังคมหลังจาก ปี 2550 เป็นต้นมา จะไม่สามารถเข้าระบบประกันสังคมได้ดังกล่าว
                  **อนึ่ง หากจะออกจากกรรมการบริษัท จะต้องจัดทำแบบยื่น สปส .6-09 เพื่อแจ้งออกให้ถูกต้อง หากไม่แจ้งและออกจากระบบให้ถูกต้อง เมื่อประกันสังคมตรวจสอบพบ อาจทำให้ต้องเสียเบี้ยปรับย้อนหลังได้

2. ผู้ถือหุ้น(ที่มีชื่อในบัญชีหุ้น) มีสิทธิเข้าประกันสังคมหรือไม่?
               ในกรณีมีผู้ถือหุ้นบางท่านที่มีชื่อในบัญชีหุ้น จะสามารถเข้าระบบประกันสังคมได้หรือไม่ จะมีเกณฑ์พิจารณาเบื้องต้นจากเจ้าหน้าที่ประกันสังคม เช่น ผู้ถือหุ้นคนดังกล่าวถือหุ้นอยู่ในสัดส่วนที่ไม่มาก เช่น ถ้าบริษัทกำหนดทุนมีจำนวน 10,000 หุ้น และผู้ถือหุ้นคนดังกล่าวถือหุ้นอยู่ 100 หุ้น ก็จะสามารถเข้าระบบประกันสังคมได้ ทั้งนี้ต้องแล้วแต่เงื่อนไขของประกันสังคมแต่ละพื้นที่        

3. ลูกจ้างที่มีนามสกุลเดียวกับกรรมการ เช่น ญาติ,พี่น้อง,ภรรยา,สามี ของกรรมการ (ทั้งที่มีและไม่มีชื่อในบัญชีหุ้น บอจ.5 )  มีสิทธิเข้าประกันสังคมหรือไม่??
               กรณีนี้หากมีลูกจ้างรายใดที่ประสงค์จะขึ้นทะเบียนประกันสังคม เนื่องจากมีเงินเดือนที่ได้รับจริงจากบริษัทที่มีกรรมการเป็นนายจ้าง ซึ่งมีนามสกุลเดียวกับกรรมการ เช่น เป็นพี่น้อง,เป็นญาติ,เป็นภรรยา สามารถทำเอกสารชี้แจงเมื่อต้องการเข้าสุ่ระบบประกันสังคม หรือหากได้ทำการยื่นแจ้งเข้าประกันสังคมแล้ว และต่อมาทางประกันสังคมมีจดหมายมาเพื่อให้ทางบริษัททำชี้แจงในชุดตรวจสอบพร้อมกับยื่นเอกสารประกอบเพิ่มเติม เช่น ใบสมัครงาน,ใบลงเวลา, ใบสำคัญการจ่ายเงินที่บริษัทจ่ายให้ เป็นต้น
         เมื่อได้ยื่นเอกสารตามที่ประสังคมขอมาแล้ว ทางประกันสังคมก็จะพิจารณาว่าเอกสารที่จัดทำไปนั้นมีเหตุผลสมควรให้อนุมัติเข้าระบบประกันสังคมได้หรือไม่ต่อไป

                               ที่มา www.thei99account.com

อ้างอิง

ลิ้งค์อื่นๆที่เกี่ยวข้อง
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่