TDRI เชื่อรัฐบาลจงใจวางระบบโครงการจำนำข้าวให้เละ เปิดทางทุจริตได้ง่าย

นักวิชาการทีดีอาร์ไอ แจง กมธ.เศรษฐกิจฯ วุฒิสภา เชื่อรัฐาลจงใจวางระบบโครงการจำนำข้าวให้เละ วางระบบบริหารจัดการ การอนุมัติ และระบบข้อมูลแบบแยกส่วน ไร้ศูนย์ข้อศูนย์ ทำงานไม่มีการคานอำนาจทำให้สามารถเปิดช่องทุจริตได้ง่าย
       
        การประชุมคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจ การพาณิชย์ และอุตสาหกรรม วุฒิสภา ที่มีนายบุญชัย โชควัฒนา ส.ว.สรรหา ทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุม วันนี้ (24 ก.ค.) ได้มีการพิจารณาในเรื่องโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล โดยเชิญนายนิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ซึ่งติดตามตรวจสอบโครงการจำนำข้าว มาให้ข้อมูลในที่ประชุม โดยระบุว่า การลดจำนวนเงินในโครงการแต่ไม่ได้ลดผลประโยชน์โรงสี โกดัง และเจ้าหน้าที่รัฐ เป็นการเฉือนเงินอุดหนุนชาวนาลง เพราะจากการคำนวณรายได้ชาวนาลดลง 76,000 - 110,000 บาท ชาวนารายใหญ่จะโดนผลกระทบมากกว่ารายเล็ก แต่ค่าใช้จ่ายดำเนินการ เช่นค่าจ้างโรงสี ค่าเช่าโกดัง ลดเล็กน้อยแค่ 7,437 ล้านบาท (18%)
       
        นายนิพนธ์ กล่าวว่า การที่รัฐบาลขาดทุนจากการขายข้าวถุง มีสาเหตุมาจาก 4 ส่วน คือ 1.การอุดหนุนชาวนา 2.การอุดหนุนผู้บริโภค 3.ค่าใช้จ่ายการดำเนินการ และ 4.เงินใต้โต๊ะตั้งแต่ประเด็นการอุดหนุนชาวนา จะเห็นว่า ต้นทุนการขายข้าวสารของรัฐบาลอยู่ที่ 15,000 บาท หากนำไปหารด้วยอัตราสีแปรสภาพ 61 % จะได้เป็นต้นทุนเฉลี่ย 24.60 บาท/กก. แต่เมื่อรวมกับต้นทุนในการดำเนินการแล้วจะตกอยู่ที่ 28 บาท/กก. ดังนั้นเมื่อราคาขายส่งในตลาด 16 บาท โดยรัฐบาลไม่มีการแทรกแซงราคา จำเป็นต้องอุดหนุนให้ชาวนาเพียง 8.60 บาท/กก.
       
        "ระบบการบริหารจัดการของรัฐบาล อาจจะวางไว้เพื่อให้มันเละก็ได้ เพราะระบบทั้งหมดมันไม่มีขั้นตอน ขาดการคานอำนาจ โครงสร้างแบบนี้จึงไม่ถูกต้อง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ไม่ใช่ผู้ที่ชำนาญการเรื่องข้าว โดยเฉพาะคณะนโยบายข้าวแห่งชาติ ไม่มีตัวแทนของ ธกส.ที่เป็นเจ้าของเงิน ธกส.จึงไม่ได้รับรายงานการประชุมและข้อมูลที่สำคัญทั้งๆ ที่เป็นเจ้าหนี้"
       
        นายนิพนธ์ กล่าวว่า นอกจากนี้ยังมีการปิดบังข้อมูลการรับจำนำข้าว ทั้งปริมาณที่ระบายข้าว ราคาที่ขาย ปีของโครงการข้าวที่มีการระบาย ทำให้สังคมไม่สามารถตรวจสอบการดำเนินการของโครงการได้เลย ทั้งนี้ระบบการตรวจสอบไม่สามารถสอบไปยันข้อมูลบัญชีสต๊อคข้าว กับปริมาณข้าวที่โรงสีส่งมอบเข้าโกดังกลาง และปริมาณข้าวสารที่ถูกระบายออกจากคลัง แต่ระบบการตรวจสอบแบบนี้ต้องใช้เวลามาก
       
        "รัฐมีเจตนาในการวางระบบบริหารจัดการ การอนุมัติ และระบบข้อมูลแบบแยกส่วน ไม่มีศูนย์ข้อมูล ไม่มีใครมองเห็นภาพรวมและข้อมูลต่างๆ ของการบริหารจัดการ เช่นมีการโอนอำนาจบริหารบางส่วนไปที่ผู้ว่าราชการจัดงหวัดทำให้เมื่อเกิดปัญหาเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐก็ไม้จำเป็นต้องรับผิดชอบ" นายนิพนธ์ กล่าว

http://www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9560000090688


แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่