สื่อนอกชี้โครงการ “แจกแท็บเล็ต” แก้ระบบการศึกษาไทยไม่ตรงจุด-ต้องสอนผู้เรียน “คิดเป็น”

กระทู้สนทนา


เอ เอฟพี - เด็กชาวเขาตามโรงเรียนบนดอยสูงของไทยใช้ปลายนิ้วสัมผัสและเลื่อนไปบนหน้าจอ คอมพิวเตอร์แท็บเล็ต ซึ่งช่วยให้พวกเขาได้รับโอกาสฝึกทักษะทั้งด้านภาษาอังกฤษ, คณิตศาสตร์ และดนตรี ในขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษายังคงตั้งคำถามว่า การ “แจก” อุปกรณ์ไฮเทคเหล่านี้จะช่วยให้ระบบการศึกษาไทยมีคุณภาพทัดเทียมนานาอารย ประเทศได้จริงหรือไม่
       
       ความด้อยโอกาสทางการศึกษาของนักเรียนชนบท คือที่มาของโครงการแจกแท็บเล็ตนับล้านเครื่องให้แก่โรงเรียนในพื้นที่ห่าง ไกล ซึ่งรัฐบาลและกลุ่มสนับสนุนชี้ว่าจะช่วยยกระดับมาตรฐานการศึกษาไทยได้ ขณะที่ผู้ต่อต้านเชื่อว่านโยบายเช่นนี้เป็นเพียงกลยุทธ์เรียกคะแนนนิยมจาก พ่อแม่ผู้ปกครอง รวมถึงเด็กๆ ซึ่งจะเติบโตเป็นพลเมืองผู้มีสิทธิเลือกตั้งในอนาคต
       
       ที่โรงเรียนบ้านสันกอง อ.แม่จัน จังหวัดเชียงราย เด็กนักเรียน 90 คน ได้รับแจกคอมพิวเตอร์แท็บเล็ตในปีที่แล้ว ตามโครงการ “1 แท็บเล็ตต่อนักเรียน 1 คน” (One Tablet Per Child) ซึ่งเป็นนโยบายที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้ไว้ระหว่างหาเสียงเลือกตั้งเมื่อปี 2011
       
       เด็กๆ เหล่านี้จะสวมหูฟังและทำกิจกรรม เช่น ร้องเพลงภาษาอังกฤษ, ชมการ์ตูนพระราชประวัติของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเล่นเกมทางคณิตศาสตร์ เป็นเวลา 1 ชั่วโมงต่อวัน แต่ในช่วงเริ่มปีการศึกษาใหม่ ซึ่งเนื้อหาที่จะใช้เรียนผ่านแท็บเล็ตยังมาไม่ถึง พวกเขาก็ต้องทบทวนบทเรียนเก่าของปีที่แล้ว โดยมีคุณครูคอยให้คำแนะนำ
       
       ศิริพร วิชัยพานิช ครูชำนาญการพิเศษประจำโรงเรียนบ้านสันกอง เผยว่า เธอไม่เคยได้รับการฝึกให้ใช้แท็บเล็ตสอนนักเรียนมาก่อน จึงยังไม่คล่องแคล่วเท่าที่ควร
       
       “ดิฉันพอมีความรู้อยู่บ้างเพราะที่บ้านมีไอแพด... แต่ก็ยังไม่เข้าใจว่าจะต้องสอนนักเรียนอย่างไรดี”
       
       นักเรียนส่วนใหญ่มาจากชุมชนชาวเขาเผ่าอาข่า ซึ่งไม่ได้พูดภาษาไทยเป็นหลัก ดังนั้น การมีคอมพิวเตอร์พกพาจึงถือเป็นประสบการณ์ที่ดีสำหรับพวกเขา
       
       “นักเรียนเหล่านี้ยังพูดภาษาไทยไม่ค่อยได้ แต่พวกเขาสามารถฟังเสียงได้ชัดเจนจากแท็บเล็ต และหัดพูดตาม” วรรณวดี สมแดง ครูอีกคนหนึ่งกล่าว
       
       “เด็กบางคนไม่กล้าถามคำถามกับครู พอมีแท็บเล็ตมาช่วย พวกเขาก็ฟังได้ง่ายขึ้น”
       
       ปัจจุบันมีนักเรียนเพียง 2 คนจากทั้งหมด 90 คนที่ได้รับอนุญาตให้นำแท็บเล็ตติดตัวกลับบ้านหลังเลิกเรียน ซึ่งบ้านของเด็กๆ ส่วนใหญ่ก็ยังไม่มีไฟฟ้าใช้
       
       “ที่บ้านพวกเขาไม่มี Wi-Fi และไม่สะดวกที่จะชาร์ตแบตเตอรี แต่ปัญหาสำคัญที่สุดก็คือ คุณพ่อคุณแม่เองก็ใช้แท็บเล็ตไม่เป็น” อุทัย มูลเมืองคำ ผู้อำนวยการโรงเรียนเอ่ยถึงปัญหาที่พบ แต่ก็ยอมรับว่า แม้เด็กจะได้ใช้แท็บเล็ตเพียงวันละ 1 ชั่วโมง “ก็ถือว่าได้รับโอกาสเช่นเดียวกับนักเรียนในเมือง”
       
       สุรพล นะวะมวัฒน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ระบุว่า รัฐบาลต้องการลดช่องวางทางการศึกษาระหว่างคนรวยในเมืองและคนยากจนในชนบท และมีเป้าหมายที่จะแจกคอมพิวเตอร์แท็บเล็ตให้นักเรียน 13 ล้านคนทั่วประเทศ ภายในสิ้นปี 2014 และเปลี่ยนเครื่องใหม่ให้ทุกๆ 2 ปี
       
       หากคำนวณจากราคาแท็บเล็ตเครื่องละราวๆ 100 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 3,100 บาท) งบประมาณสำหรับโครงการนี้จึงอาจสูงถึง 40,000 ล้านบาท


      แท็บเล็ตที่ผลิตในจีนถูกแจกจ่ายไปถึงมือนักเรียนแล้ว 850,000 เครื่อง และรัฐบาลก็เตรียมจะที่แจกล็อตถัดไปอีก 1.7 ล้านเครื่อง ซึ่งถือเป็นโครงการแจกแท็บเล็ตเพื่อการศึกษาครั้งใหญ่ที่สุดของโลกก็ว่าได้
       
       อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า การแจกคอมพิวเตอร์แท็บเล็ตไม่ใช่สิ่งที่จะรับรองได้ว่า มาตรฐานการศึกษาไทยจะดีขึ้นกว่าเดิม
       
       Jonghwi Park ผู้เชี่ยวชาญเทคโนโลยีการศึกษา จากองค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ในกรุงเทพมหานคร ชี้ว่า คอมพิวเตอร์แท็บเล็ตเป็นเพียง “อุปกรณ์การศึกษา” อย่างหนึ่ง ไม่ต่างอะไรกับดินสอ และปัญหาสำคัญไม่ได้อยู่ที่ว่าจะใช้อะไรมาเป็นสื่อการสอน แต่อยู่ที่จะสอนเด็ก “อย่างไร” มากกว่า
       
       เธอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยที่วางแผนจะนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาส่งเสริมการเรียนรู้ คิดให้รอบคอบเสียก่อนว่า วิธีการเช่นนี้จะช่วยยกระดับการศึกษาได้ตามที่รัฐบาลมุ่งหมายจริงหรือไม่
       
       ขณะเดียวกัน นักวิจารณ์บางรายก็ชี้ว่า ระบบการศึกษาไทยจำเป็นต้องมีการ “เปลี่ยนแปลงขนานใหญ่”
       
       “ถ้าคุณจะแก้ระบบการศึกษาไทย ผมบอกได้เลยว่ามันต้องโละทิ้งทั้งระบบ” สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าว
       
       “ห้องเรียนทุกวันนี้ไม่ได้กระตุ้นให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมเท่าที่ควร บรรยากาศยังน่าเบื่อหน่ายมาก” อาจารย์สมพงษ์ กล่าว พร้อมชี้ว่า นักเรียนไทยส่วนมากถูกสอนให้จดจำข้อมูลอย่างเดียว และไม่กล้าแสดงความคิดเห็นของตนเอง
       
       ความบกพร่องของระบบการศึกษาไทยปรากฏออกมาชัดเจนผ่านผลสำรวจของ องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) เมื่อปี 2009 ซึ่งพบว่า ไทยมีคะแนนทักษะคณิตศาสตร์, วิทยาศาสตร์ และการอ่าน มาเป็นลำดับที่ 50 จากทั้งหมด 65 ประเทศที่ทำการสำรวจ ซึ่งถือว่าต่ำมากเมื่อเทียบกับอีกหลายประเทศที่เน้นให้ผู้เรียน “คิดเป็น” ดร.รังสรรค์ มณีเล็ก ที่ปรึกษาประจำสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ ระบุ
       
       ดร.รังสรรค์ ชี้ว่า ในขณะที่การศึกษาไทยยังเน้นว่าผู้เรียนตอบ “ถูก” หรือ “ผิด” ต่างชาติกลับให้ความสำคัญกับกระบวนการคิดที่นำไปสู่ข้อสรุปของผู้เรียน
       
       แม้หลายฝ่ายจะกังวลว่านักเรียนอาจนำคอมพิวเตอร์แท็บเล็ตไปใช้ในทาง ที่ไม่เหมาะสม เช่น ดูสื่อลามก หรือเล่นเกมที่ส่งเสริมความรุนแรง แต่ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า เยาวชนรุ่นใหม่จำเป็นต้องมีพื้นฐานด้านไอทีเพื่อเตรียมตัวเข้าสู่ยุคดิจิทัล
       
       “ทักษะสำคัญอย่างหนึ่งของการใช้ชีวิตในศตวรรษที่ 21 คือการรู้จักนำอุปกรณ์ไฮเทคมาใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน... ถ้าไม่มีทักษะเหล่านี้เลย พวกเขาคงหางานทำไม่ได้แน่” ปาร์ก จากองค์การยูเนสโก กล่าว



ที่มา..manager.co.th
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่