คิดถึงแล้วจะไม่พลาด ดูแลรักษาโรคไข้เลือดออก .. จาก สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี

กระทู้สนทนา
คิดถึงแล้วจะไม่พลาด ดูแลรักษาโรคไข้เลือดออก

ไข้เลือดออกส่วนใหญ่อาการจะไม่รุนแรง ส่วนน้อยที่อาการรุนแรงจนเป็นเหตุให้เสียชีวิตจากสภาวะช็อก เลือดออกรุนแรงได้ เกิดขึ้นได้กับทุกวัย แต่กลุ่มอายุที่เกิดสูงสุดคือ 15 – 24 ปี (29%) รองลงมา 10 – 14 ปี (23%) และ 25 – 34 ปี(12 %)

ในปีนี้สถานการณ์การระบาดของไข้เลือดออกคาดว่าจะสูงที่สุดในรอบ 5 ปี ลักษณะเช่นนี้เป็นทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี(โรงพยาบาลเด็ก) ได้ให้คำแนะนำแก่ประชาชนและบุคลากรทางการแพทย์เกี่ยวกับการปฏิบัติตัวที่ถูกต้องเพื่อป้องกันความรุนแรงของโรคที่จะเกิดขึ้น และลดการระบาดของโรค ดังนี้

1. ไข้สูงลอย หน้าแดง กินยาลดไข้ ไข้ไม่ลดลงเป็นปกติ สักพักไข้ขึ้นสูงอีก ให้นึกถึงไข้เลือดออก มีไข้เกิน 2 วันต้องรีบไปพบแพทย์

2. ไข้เลือดออกระยะไข้สูงเกิน 2 วัน แพทย์จะต้องเจาะเลือดดูปริมาณเม็ดเลือดขาว เกล็ดเลือด ความเข้มข้นของเลือด และนัดตรวจติดตามพร้อมเจาะเลือดซ้ำเพื่อเฝ้าระวังระยะวิกฤติของโรค ที่จำเป็นต้องรับไว้รักษาในโรงพยาบาลและการดูแลอย่างใกล้ชิด

3. ไข้เลือดออก มีไข้สูงลอย ปวดศีรษะ บางรายปวดกระบอกตา ปวดเมื่อยตามตัว ปวดกระดูก อาจมีอาการเลือดออก ต้องกระตุ้นให้กินอาหารอ่อน ย่อยง่าย ถ้ากินไม่ได้เพราะเบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง ให้ดื่มนม น้ำผลไม้ หรือน้ำเกลือแร่ เพื่อลดอาการขาดน้ำ (ห้ามดื่มน้ำเปล่าเพราะจะทำให้สมดุลเกลือแร่ในร่างกายผิดปกติ) เช็ดตัวเพื่อช่วยลดไข้ ทำบ่อยๆ จะได้สบายตัว

4. ผู้ป่วยที่มีไข้สูง ถ้าไม่มีประวัติ หรือตรวจไม่พบอาการเลือดออก แพทย์ต้องรัดแขน เพื่อหาจุดเลือดออกเพื่อเป็นตัวช่วยในการวินิจฉัยโรคไข้เลือดออก

5. ถ้าไข้สูง 2 – 4 วัน แล้วไข้ต่ำลงหรือไม่มีไข้ แต่อาการไม่ดีขึ้น ยังอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ปวดท้อง อาเจียน ตัวเย็น กระสับกระส่าย เป็นอาการของไข้เลือดออกระยะช็อก ต้องรีบนำส่งโรงพยาบาล

6. ไข้เลือดออก ผู้ป่วยอาจมีอาการเลือดออก เช่นเลือดกำเดาไหล เลือดออกตามไรฟัน อาเจียนเป็นเลือด ถ่ายเป็นเลือด หรือถ่ายดำ บางรายมีประจำเดือนมามาก หรือมีปัสสาวะเป็นเลือด เป็นสีดำ หรือสีน้ำตาลเข้ม ต้องรีบไปโรงพยาบาลเพื่อแพทย์จะได้พิจารณาให้เลือดทดแทน

7. ผู้ป่วยไข้เลือดออก อาจเกิดภาวะช็อกซึ่งจะเกิดขึ้นในระยะไข้ลง หรือไข้ต่ำลง เพราะมีน้ำเหลืองรั่วออกนอกเส้นเลือด ทำให้เลือดข้น การไหลเวียนเลือดของร่างกายผิดปกติ

8. ผู้ป่วยไข้เลือดออกที่ช็อกส่วนใหญ่จะมีอาการซึม แต่ยังมีสติดี (อย่าเข้าใจผิดว่าผู้ป่วยช็อกจะหมดสติ หรือมีอาการชัก) พูดได้ เดินได้แต่ดูอ่อนเพลีย ไม่มีแรง เบื่ออาหาร บางรายอาจมีอาการปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียน ต้องรีบพามาโรงพยาบาล

9. ไข้เลือดออก ไข้สูง ต้องเช็ดตัวด้วยน้ำธรรมดา น้ำอุ่นหรืออาบน้ำอุ่น กินยาพาราเซตามอลได้ แต่ต้องให้ในประมาณที่เหมาะสมเมื่อมีไข้สูงจริงๆ และไม่ให้ถี่กว่า 4 – 6 ชั่วโมง ห้ามให้ยาลดไข้สูง(เช่นยากลุ่มแอสไพริน ยาแก้ปวดข้อชนิดต่างๆ)ทั้งยากินและยาฉีด เพราะไม่ปลอดภัยอาจทำให้เลือดออกในกระเพาะอาหารและมีผลต่อตับได้

10. ไข้เลือดออก ระยะอันตรายคือระยะไม่มีไข้หรือไข้ต่ำๆ ถ้าผู้ป่วยไม่สามารถดื่มน้ำหรือกินอาหารได้เพียงพอ จำเป็นต้องให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำทดแทน แต่ในรายที่ไม่มีอาการคลื่นไส้อาเจียน และกินได้เพียงพอไม่จำเป็นต้องให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ ไข้เลือดออกยังไม่มียารักษา มีแต่การรักษาตามอาการเท่านั้น

11. ถ้าในบ้านหรือเพื่อนบ้านหรือคนในชุมชนมีคนเป็นไข้เลือดออก เมื่อมีผู้ป่วยที่มีไข้สูง ต้องนึกถึงไข้เลือดออกเสมอ

12. บ้านน่าอยู่ ไม่มียุงลาย ไม่มีไข้เลือดออก กำจัดยุงลายโดย 5 ป 1 ข ดังนี้ ปิดฝาภาชนะที่มีน้ำขังเปลี่ยนน้ำแจกันทุกสัปดาห์ ปล่อยปลาหางนกยูงในอ่างบัว ปรับสิ่งแวดล้อมโดยเก็บภาชนะทิ้งไม่ให้มีแหล่งน้ำขัง ปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ ขัดโองน้ำ ภาชนะใส่น้ำเพื่อกำจัดไข่ยุงลาย

13. ยุงลายแพร่พันธุ์แบบทวีคูณ ครั้งละ 100 – 200 ฟอง ช่วงเป็นลูกน้ำทำลายง่าย เทน้ำทิ้งลดยุงลายไปเท่าตัว

14. ไข้เลือดออกเกิดจากยุงลายเป็นพาหะเท่านั้น ยุงลายชอบอยู่ในบ้านและรอบบ้าน ชอบกัดดูดเลือดคนเวลากลางวัน แต่ยุงลายปรับตัวกัดกลางคืนได้ถ้ากลางวันยังไม่ได้ดูดเลือด

15. ยุงลายบินได้ไกล 50 เมตร แต่คนมีไข้สูงสามารถนำพาตัวเองทีมีไวรัสในกระแสเลือดไปไกลมากกว่ายุง จึงทำให้โรคไข้เลือดออกแพร่พันธุ์จากคนที่ไปตามที่ต่างๆที่มียุงลาย เมื่อคนนั้นโดนยุงลายกัด ยุงนั้นก็จะแพร่เชื้อต่อไปทำให้เกิดการระบาดของโรคไข้เลือดออก

16. ยุงลายชอบไข่ในน้ำใสนิ่ง คือน้ำที่คนเก็บไว้ใช้ เช่นในห้องน้ำ ในแจกันดอกไม้ ในภาชนะรองตู้กับข้าว ในถาดรองกระถางต้นไม้ ในอ่างบัว ในภาชนะใส่น้ำให้สัตว์เลี้ยง หรือในรางระบายน้ำบนหลังคา

17. ยุงลายไม่ไข่ในท่อระบายน้ำ น้ำสกปรก น้ำคลำ คู คลอง หนองบึง แม่น้ำ แหล่งเก็บน้ำขนาดใหญ่

18. แหล่งแพร่เชื้อในชุมชนอาจเป็นแหล่งน้ำขัง กองขยะที่มีภาชนะที่มีน้ำขัง กองยางเก่า ร้านขายลูกน้ำ ร้านขายดอกไม้ ร้านขายโอ่ง อ่าง กระถางต้นไม้ ร้านขายยางรถยนต์

19. วัด โรงเรียน โรงพยาบาล ศูนย์เด็กเล็ก ตลาดสด สถานีขนส่ง สวนสาธารณะ พื้นที่รกร้างว่างเปล่า อาจเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายที่สำคัญในชุมชน ต้องช่วยกันสำรวจและกำจัดยุงลายรวมถึงแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย

20. สัญญาณอันตรายของไข้เลือดออก คือไข้ลงแล้วมีอาการเพลีย อาการทั่วไปไม่ดีขึ้น ยังเบื่ออาหารบางรายมีอาการปวดท้องมาก อาเจียน มีเลือดออก กระสับกระส่าย ต้องรีบนำส่งโรงพยาบาล

ขอขอบคุณข้อมูลจากสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี และปรึกษาทางโทรศัพท์สายด่วนไข้เลือดออกได้ที่ 089 2042255 (พยาบาล) หรือ 089 2045522(แพทย์)


ด้วยความปรารถนาดีจาก นายแพทย์สุกิจ ทัศนสุนทรวงศ์ ผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภา


แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่