นั่งเครื่องบินส่วนไหนปลอดภัยที่สุด

กระทู้ข่าว

หลายคนคงรู้สึกตกใจไม่น้อยกับเหตุการณ์เครื่องบินของสายการบินเอเชียน่า แอร์ไลน์ส ประสบอุบัติเหตุตกกระแทกรันเวย์ที่สนามบินนานาชาติซานฟรานซิสโกเมื่อวันเสาร์ (6 กรกฎาคม) ที่ผ่านมา การโดยสารทางอากาศนั้นได้ชื่อว่าเป็นการคมนาคมที่ปลอดภัยที่สุด แต่ก็ยังมีความเสี่ยงอยู่ดี อย่างเช่นเหตุการณ์ครั้งนี้ แล้วจะนั่งเครื่องบินส่วนไหนให้ปลอดภัยที่สุด คงเป็นคำถามที่หลายคนอยากรู้ วันนี้ทีมงาน ASTV ผู้จัดการ Live ขอนำข้อมูลมาฝากเพื่อเตือนสติให้เราระมัดระวังและอยู่ในความปลอดภัยมากที่สุด
       
        ทั้งนี้ เคยมีการเปิดเผยผลการวิเคราะห์ทางสถิติจาก The Popular Mechanics ออกมาแล้ว โดยระบุว่าได้นำข้อมูลอุบัติเหตุของเครื่องบินในสหรัฐฯ จำนวน 20 ครั้ง จากสำนักงานความปลอดภัยด้านการขนส่งแห่งสหรัฐฯ (NTSB) ตั้งแต่ปี 2514 จนถึง ส.ค. 2550 อย่างละเอียด ที่มีทั้งผู้รอดชีวิตและเสียชีวิต พร้อมทั้งข้อมูลแผนผังที่นั่งของผู้โดยสารมาวิเคราะห์ว่าอุบัติเหตุแต่ละครั้ง ผู้โดยสารในแต่ละที่นั่งมีสภาพเป็นอย่างไร
       
        ผลการวิเคราะห์ได้แบ่งลำตัวเครื่องบินออกเป็น 4 ส่วน และพบว่า ยิ่งนั่งใกล้หางเครื่องบินมากกว่า ก็จะมีโอกาสรอดชีวิตมากกว่านั่งในส่วนหน้าถึง 20% เลยทีเดียว ส่วนหัวของเครื่องบินคือจุดเสี่ยงตายมากที่สุด และเป็นที่นั่งของ First Class และ Business Class นั่นเอง มีโอกาสรอดชีวิตประมาณ 49% เท่านั้น ซึ่งจะเพิ่มขึ้นเป็น 56% เมื่อนั่งตรงส่วนกลางและส่วนบริเวณปีกของเครื่องบิน ขณะที่ของชั้นประหยัดในส่วนท้าย จะมีโอกาสรอดมากถึง 69%
       
        อย่างไรก็ตาม โอกาสรอดชีวิตก็ขึ้นอยู่กับการเตรียมพร้อมเมื่อเกิดอุบัติเหตุด้วย เพราะฉะนั้น จึงควรปฏิบัติตามแนวทางความปลอดภัยบนเครื่อง เตรียมตัวให้พร้อมและตั้งสติเมื่อเกิดอุบัติเหตุไว้เสมอ โดยเฉพาะกฎเหล็กที่คุณไม่ควรฝ่าฝืนขณะอยู่บนเครื่องบินโดยเด็ดขาด ประการแรกคือ ต้องตั้งใจฟังคำสั่งของเจ้าหน้าที่ประจำบนเครื่องขณะสาธิตอุปกรณ์การช่วยเหลือในกรณีฉุกเฉิน ถ้าเจ้าหน้าที่บอกให้คุณทำอะไร คุณควรปฏิบัติทันที เมื่อมีข้อสงสัยแล้วค่อยซักถามในภายหลัง
       
        ประการที่สอง การคาดเข็มขัดตลอดเวลาที่คุณนั่งอยู่บนเก้าอี้ระหว่างการเดินทาง จะเป็นการป้องกันและเพิ่มความปลอดภัย อีกทั้งยังสามารถทำให้คุณไม่ได้รับบาดเจ็บเมื่อเครื่องบินตกหลุมอากาศ และหากเครื่องบินเกิดเสียหลัก ในเคบินจะเกิดแรงกระชากอย่างรุนแรง เข็มขัดนิรภัยเป็นสิ่งเดียวที่จะรั้งเราเอาไว้ และหากเกิดกรณีนั้นจริงให้ “ก้มหัวลงให้ต่ำที่สุด หรือจับข้อเท้าไว้ แล้วรอจนเครื่องจอดสนิท ถึงจะทำการอพยพ”
       
        ประการที่สาม ปิดโทรศัพท์มือถือหรือเครื่องมือสื่อสารทุกชนิด ถึงแม้เครื่องจอดอยู่ แต่ในห้องนักบิน นักบินกำลังติดต่อกับหอบังคับการบินเรื่องข้อมูลต่างๆ บางครั้งสัญญาณจากโทรศัพท์มือถืออาจทำให้นักบินได้รับข้อมูลที่ผิดพลาดได้ และอีกสิ่งที่เราควรปฏิบัติคือ การสังเกตผังต่างๆ ของเครื่องบิน ว่าเครื่องบินลำนี้มีทางออกกี่ทาง ตรงไหนบ้าง ทางออกฉุกเฉินอยู่ตรงไหน และอาจจะช่วยสังเกตความผิดปกติบนเครื่องบินด้วย หากพบเห็นรอยแตก ได้กลิ่นไหม้ มีเสียงแปลกๆ เห็นควันไฟ ให้รีบแจ้งลูกเรือเพื่อแก้ปัญหาได้ทันท่วงที
       
        ประการสุดท้าย การปฏิบัติตามคำแนะนำของพนักงานต้อนรับอย่างเคร่งครัดเป็นสิ่งที่จะช่วยชีวิตผู้โดยสารมากกว่าการเลือกที่นั่งว่าตรงไหนปลอดภัยที่สุด เพราะไม่มีใครรู้ล่วงหน้าว่าจะเกิดอะไรขึ้น ถ้าล้อหลังไม่กาง เอาท้ายลง ด้านหลังก็เสี่ยง, ถ้าเกิดน้ำมันรั่วที่ปีก ตรงกลางเสี่ยง, ถ้าเกิดชนกระแทกด้านหน้า ด้านหน้าเสี่ยง เพราะฉะนั้น การเตรียมตัวเอง มีสติ ไม่ประมาท ช่างสังเกต และระแวดระวัง เป็นวิธีที่ทำให้เราปลอดภัยที่สุด หากต้องเดินทางโดยเครื่องบินนั่นเอง

cr manager
http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9560000083918
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่