โบอิงดิ่งหลุมอากาศอีกแล้ว คิวหน้าจะเป็นใคร!! มาดูกูรูการบินแนะนำความปลอดภัยเถิด เผื่อจะต้อง “หวิว” กลางเวิ้งฟ้าด้วยตนเอง


แม้จะยืนยันกันมากมายว่า มันเป็นอะไรที่ยากจะอุบัติขึ้นจริงๆ ที่สภาวะอากาศปั่นป่วนสาหัสจะโจมตีเครื่องบินได้อย่างดุเดือดและปุบปับขั้นสุด ดั่งกรณีของสิงคโปร์แอร์ไลน์ เมื่อวันอังคารที่ 21 พฤษภาคม 2024 ซึ่งส่งผลให้โบอิงไซส์ซูเปอร์จัมโบ 777-300 อีอาร์ ตกหลุมอากาศ Air pocket ครั้งร้ายแรง เหวี่ยงขึ้น ร่วงลง ในกรอบเวิ้งฟ้า 400 ฟุตเหนือระดับ 37,000 ฟุต ภายในชั่วเวลาเพียง 3 นาที

แต่วันคืนเคลื่อนผ่านไปแค่ 6 วัน อุบัติเหตุเครื่องบินประสบภาวะอากาศแปรปรวนและตกหลุมอากาศ ก็เกิดขึ้นกับโบอิง B787-9 Dreamliner ของสายการบินกาตาร์ แอร์เวย์ส เที่ยวบินที่ QR017 ในวันอาทิตย์ที่ 26 พฤษภาคม 2024 ที่ออกเดินทางจากกรุงโดฮา ประเทศกาตาร์ เวลา 04.52 น. ไปยังกรุงดับลิน ประเทศไอร์แลนด์ ก่อนเวลา 13.00 น. โดยมีลูกเรือได้รับบาดเจ็บ 6 ราย และผู้โดยสารได้รับบาดเจ็บ 6 ราย จากจำนวนทั้งสิ้นมากกว่า 200 ราย

ท่านผู้โดยสารจึงไม่ควรนิ่งนอนใจกับภยันตรายเรื่องนี้ เพราะโอกาสที่จะหลีกเลี่ยงหรือผ่อนหนักเป็นเบา มีอยู่ไม่ใช่น้อยๆ ต่อให้ไปเจอกับระดับความปั่นป่วนดุเดือดน้อยกว่าที่เที่ยวบิน SQ321 เผชิญก็ตาม ประสบการณ์เยี่ยงนี้ก็ล้วนแต่อันตรายและไม่น่าปล่อยปละละเลย

เรื่องแรกและสำคัญอันดับท็อปคือ เมื่อเครื่องบินโดนโจมตีจากสภาพอากาศปั่นป่วนและตกหลุมอากาศ ผู้โดยสารบนที่นั่งส่วนไหนของเครื่องจะปลอดภัยที่สุดและลำบากน้อยกว่าใครๆ ในทางตรงกันข้าม ผู้โดยสารบนที่นั่งส่วนไหนมีความเสี่ยงว่าจะโดนหนักพิเศษ

อดีตนักบินผู้คร่ำหวอดกับสารพัดเหตุด่วนเหตุร้ายจากภัยกลางอากาศ นามว่า กัปตันเทอร์รี โทเซอร์ เล่าเบื้องต้นก่อนสิ่งอื่นใดว่า ในแต่ละครั้งที่ออกบิน กัปตันประจำเครื่องจะได้รับแฟ้มข้อมูลต่างๆ ซึ่งรวมถึงข้อมูลพยากรณ์อากาศซึ่งจะเตือนถึงบริเวณที่มีโอกาสจะเผชิญภัยหลุมอากาศ ดังนั้น กัปตันจะวางแผนล่วงหน้าเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหา อาทิ จะบินอ้อมไปข้างๆ ลอดไปข้างใต้ ฯลฯ

พร้อมกันนี้ กัปตันเทอร์รี โทเซอร์ บอกด้วยว่าเท่าที่มีข้อมูลอยู่นั้น ยังไม่เคยเห็นกรณีตกหลุมอากาศครั้งไหนที่ร้ายแรงเท่ากับความสาหัสซึ่งสิงคโปร์แอร์ไลน์ SQ321 ได้ประสบมา นอกจากนั้นการที่สิ่งชี้บ่งถึงสภาพอากาศแปรปรวนและหลุมอากาศ ปรากฏเพียงครู่เดียว แล้ววิกฤติการณ์ก็แผลงฤทธิ์ออกมาเลยนั้น “นับว่าประหลาดอย่างยิ่ง”
 
ที่นั่งตรงไหนบนเครื่องบินคือดีที่สุดสำหรับสถานการณ์ตกหลุมอากาศ
กัปตันเทอร์รีบอกกับเดลิเมลออนไลน์แทรเวิล ถึงเคล็ดลับของเครื่องบินว่า
“เครื่องบินเดินทางไปในอากาศได้เพราะมีแรงพยุงปีกทั้งสอง ดังนั้น พื้นที่ซึ่งคุณจะรู้สึกถึงแรงสะเทือนของอากาศปั่นป่วนได้น้อยกว่าทุกคน คือพื้นที่ซึ่งอยู่เหนือปีกสองข้างครับ
“แต่มันไม่ถึงกับจะทำให้คุณปลอดพ้นแรงเขย่าสะเทือนได้ทั้งหมดนะ
“ผมเคยสัมผัสกับความรู้สึกตอนที่เครื่องถูกโยนขึ้นไปสูงลิ่ว พุ่งขึ้นแบบว่าแทบจะเป็นแนวตั้งฉาก มันคือสุดยอดแย่ครับ ในเครื่องบินที่ยาวและผอมน่ะ ที่นั่งบริเวณส่วนหัวเครื่องกับส่วนท้ายเครื่องจะเจอพลังการเด้งขึ้น ดิ่งลง มากกว่าที่นั่งตรงกลางเครื่องเสมอครับ”
อย่านั่งใกล้ห้องเตรียมอาหารเสิร์ฟผู้โดยสาร

ผู้เชี่ยวชาญรายที่ 2 นามว่า นิกกี เคลวิน บรรณาธิการเว็บไซต์ท่องเที่ยว “เดอะพอยท์กาย” ให้สัมภาษณ์เดลิเมลออนไลน์ว่า
“ผู้โดยสารอาจเลือกที่นั่งตอนกลางของเครื่อง บริเวณเหนือปีกทั้งสอง เพราะจะได้ความรู้สึกว่าเส้นทางราบรื่นมากกว่า แต่คุณก็ต้องอยู่ให้ห่างห้องเตรียมอาหารที่แอร์โฮสเตสทำงานนะ พวกข้าวของเครื่องใช้มากมายในห้องเตรียมอาหาร อาจถูกเหวี่ยงออกมาเป็นวิถีโค้งตอนที่เครื่องบินเจอกับสภาพอากาศแปรปรวน”
เลือกเก้าอี้ริมหน้าต่างเสมอ
บ.ก.นิกกี บอกด้วยว่า “เล็งๆ ที่นั่งติดหน้าต่างก็จะเป็นการดี จะได้เลี่ยงความเสี่ยงที่จะไปกระแทกจังๆ ช่องเก็บสัมภาระเหนือศีรษะ เพราะฝาเปิดปิดช่องมักจะกระเด้งเปิดออกในเวลาตกหลุมอากาศ”
 
ควรรัดเข็มขัดนิรภัยตลอดเส้นทางหรือไม่?
กัปตันเทอร์รีบอกว่า “ใช่ครับ ถ้าคุณไม่รัดสายนิรภัย แล้วเครื่องตกหลุมอากาศ เก้าอี้จะถูกดึงไปกับตัวเครื่องบิน แล้วร่างกายของคุณจะลอยในอากาศ และถูกเพดานเครื่องฟาดลงบนศีรษะน่ะครับ ดังนั้น ความลับคือ ต้องรัดเข็มขัดนิรภัยไว้เสมอ
“เรื่องนี้มันก็ยากอยู่ครับสำหรับการนั่งเครื่องบินระยะไกลๆ เพราะคุณต้องลุกเดินยืดขาให้เลือดหมุนเวียนบ้าง เดินไปห้องน้ำบ้าง ยิ่งถ้าเป็นพวกลูกเรือด้วยแล้ว ก็ต้องเคลื่อนที่ไปทำสิ่งต่างๆ ตลอดเวลา ดังนั้น มันไม่มีวิธีที่จะปลอดภัยในสถานการณ์เครื่องตกหลุมอากาศได้ 100 เปอร์เซ็นต์หรอกครับ แต่คุณก็ต้องลดความเสี่ยงให้มากที่สุดที่จะทำได้

“ตัวผมเอง ผมไม่เคยนั่งในห้องนักบินโดยไม่รัดเข็มขัดนิรภัยแม้สักครั้ง แล้วทำไมคุณจะทำไม่ได้” กัปตันเทอร์รีบอกอย่างนั้น
ด้านสจ๊วตเจย์ โรเบิร์ต ลูกเรืออาวุโสของสายการบินเอมิเรตส์ และผู้บริหารเครือข่าย Fly Guy’s Cabin Lounge Network ให้ความเห็นสมทบไปว่า
“แน่นอนฮะ คนเราต้องเดินทำโน่นทำนี่บ้าง และต้องไปห้องน้ำระหว่างการเดินทาง แต่ถ้าคุณเห็นพวกแอร์โฮสเตส พวกสจ๊วต นั่งประจำที่ และสัญญาณเตือนให้รัดเข็มขัดนิรภัยสว่างขึ้นมา นั่นไม่ใช่เวลาที่จะลุกจากเก้าอี้

“ผมขอบอกเลยว่าผมเจอมาไม่รู้กี่หนต่อกี่หน เครื่องบินได้รับรายงานเตือนหลุมอากาศระดับรุนแรงดักอยู่ข้างหน้า สัญญาณเตือนรัดเข็มขัดนิรภัยสว่างจ้า ทั้งแอร์ทั้งสจ๊วตลงนั่งประจำที่กันหมดทุกคน คุณผู้โดยสารเกิดจะพยายามไปเข้าห้องน้ำให้ได้ตอนเวลานั้น และจะเถียงผมว่า ‘ก็ไม่เห็นมีอะไรเลยนี่!’ ได้โปรดปฏิบัติตามที่เราแนะนำ และนั่งรัดเข็มขัดเถิดฮะ!”
 
ถ้าทำได้ ควรเลือกเดินทางกับเครื่องบินขนาดใหญ่ไว้ก่อนเสมอ
สจ๊วตเจย์ โรเบิร์ต เผยเคล็ดลับประการหนึ่งด้วยว่า “ไม่มีเครื่องบินลำใดที่ได้รับยกเว้นจากปัญหาหลุมอากาศ แต่จากประสบการณ์ของผมนะฮะ ยิ่งเครื่องบินลำใหญ่เท่าไร การเดินทางก็ยิ่งดีกว่าเท่านั้น ประสบการณ์ทำงานของผมบนเครื่องบิน ส่วนใหญ่จะไปกับโบอิง 777 และแอร์บัสซูเปอร์จัมโบ A380 ผมสังเกตว่าเดินทางกับ A380 ดูว่าจะสมูทมากกว่าเสมอฮะ

ทั้งนี้ แม้ปัญหาหลุมอากาศจากความปั่นป่วนแปรปรวนของกระแสลมกรด มักจะเกิดขึ้นที่ระดับความสูง 35,000 ฟุตขึ้นไป อันเป็นเพดานบินสำหรับเครื่องบินไซส์ซูเปอร์จัมโบ้ก็ตาม แต่ทุกวันนี้เครื่องบินลำมหึมาพวกนี้ ล้วนได้รับการพัฒนาให้รับมือกับสถานการณ์หลุมอากาศทั่วๆ ไป ได้ยอดเยี่ยมอย่างยิ่ง
เตรียมใจไว้เลยว่าอาจต้องเจออากาศแปรปรวน

บ.ก.นิกกี แนะนำอีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจอย่างยิ่ง
“ควรศึกษาให้เข้าใจว่าแถวไหนที่มีแนวโน้มจะเกิดหลุมอากาศรุนแรงมากที่สุด เช่น บริเวณเส้นศูนย์สูตร และกระแสลมกรดซีกโลกเหนือ ทั้งทางแปซิฟิกและทางแอตแลนติก”
ผู้โดยสารสามารถเช็กข้อมูลพยากรณ์อากาศสำหรับเส้นทางที่จะต้องเดินทางผ่านได้ โดยไปที่เว็บไซต์ Turbli.com ซึ่งเป็นแหล่งข้อมูลเดียวกันกับที่นักบินและสายการบินใช้วางแผนการบิน เดลิเมลออนไลน์รายงานอย่างนั้น

Turbli.com ทำการพยากรณ์เรื่องสภาพอากาศแปรปรวนและหลุมอากาศขึ้นมาเป็นภาพแผนที่เคลื่อนไหว และภาพนี้จะอัปเดทข้อมูลออกมาเมื่อเราใส่ตัวเลขเที่ยวบินเข้าไป โดยจะปรากฏเป็นกราฟและมีการสรุปให้ว่าระดับความแปรปรวนจะน้อยหรือมากเพียงใด

สภาพอากาศแปรปรวนรุนแรงและตกหลุมอากาศอันตรายนั้น เกิดขึ้นน้อยเหลือเกิน กัปตันเทอร์รีเคยเจอแค่ 1 ครั้ง ตลอด 20 ปีที่เป็นนักบิน
กัปตันเทอร์รีกล่าวกับเดลิเมลออนไลน์ว่า กรณีของสิงคโปร์แอร์ไลน์นั้น น้อยครั้งมากๆ เลยที่จะเกิดขึ้น
 
นักบินสามารถประมาณการเรื่องหลุมอากาศได้เพียงไร
กัปตันเทอร์รีบอกอย่างนี้:
“ตอนที่นักบินเข้าไปรายงานตัวและรับงาน ก็จะได้รับแฟ้มข้อมูลทุกอย่างที่ต้องใช้ในทุกขั้นตอนการเดินทาง รวมทั้งแฟ้มวิเคราะห์พยากรณ์ฝนฟ้าอากาศ ซึ่งในนั้นจะมีข้อมูลอากาศทั้งหมดโดยตลอดเส้นทาง เช่น จะเน้นถึงพื้นที่ต่างๆ ที่บรรดานักอุตุนิยมวิทยาคาดว่าอาจจะมีสภาวะแปรปรวนในอากาศใสๆ ไร้เมฆ ที่เรียกกันว่า CAT - Clear Air Turbulence นอกจากนั้น ยังให้ข้อมูลพยากรณ์ว่าบริเวณไหนที่อาจเจอสภาพอากาศปั่นป่วน อาทิ พายุฝนฟ้าคะนอง

“กรณีของเที่ยวบิน SQ321 ทุกคนทราบดีว่าอาจต้องเจอพายุฟ้าร้องฟ้าผ่าดุเดือดทีเดียว โดยนักบินมีเรดาร์อากาศที่ทำให้เห็นทุกสิ่งทุกอย่างเหล่านี้ แต่ถ้าเป็นความแปรปรวนในสภาพอากาศใสๆ ไร้เมฆแห่งพายุฟ้าคะนองอย่าง CAT นักบินจะไม่เห็นสิ่งบ่งชี้ความเคลื่อนไหวปั่นป่วนของอากาศใสๆ เลย
“นักอุตุนิยมวิทยาอาจจะทำเครื่องหมายไว้บนชาร์ตว่า อาจมีอากาศแปรปรวนในบริเวณนั้นนี้ – ซึ่งมักจะมีขึ้นในสถานการณ์ที่มวลอากาศสองกระแสเคลื่อนตัวแตกต่างกัน”

ตัวอย่างเช่น เมื่อเครื่องบินเข้าสู่กระแสลมที่มีความเร็วสูงลิ่วที่เรียกกันว่า กระแสลมกรด jet stream นั้น มวลอากาศริมนอกสุดของกระแสลมกรด เคลื่อนตัวด้วยความเร็วน้อยกว่ามวลอากาศแกนกลาง เมื่อมวลอากาศแกนกลางพุ่งไป แต่มวลอาการริมนอกยังเคลื่อนตามไปไม่ทัน พื้นที่ตรงแกนกลางย่อมจะเบาบาง มวลอากาศริมนอกจึงถูกดึงให้ยกตัวเข้าไปแทนที่เป็นระลอกๆ จากน้อยๆ และทวีเป็นมาก และมหาศาล ส่งผลให้เกิดสภาพอากาศปั่นป่วนแปรปรวนอย่างรวดเร็ว
 
กรณีตัวอย่างที่ชัดเจนมาก ได้แก่ เครื่องบินสิงคโปร์แอร์ไลน์เที่ยวบินที่ SQ321 ซึ่งตกหลุมอากาศอย่างสุดโหดเมื่อ 21 พฤษภาคม 2024
ในกรณีของเครื่องบินของสิงคโปร์แอร์ไลน์ที่เคลื่อนเข้าไปเผชิญกับสภาพอากาศปั่นป่วนแปรปรวนเพราะกระแสลมกรดซึ่งอยู่เหนือเครื่องบิน พอมวลอากาศริมนอกถูกดึงให้ยกตัว พื้นที่บริเวณนั้นเบาบางลงปุบปับ เครื่องบินจึงร่วงลง แล้วในจังหวะที่มวลอากาศยกตัวขึ้นในระลอกต่อๆ มา เครื่องบินก็เด้งตามขึ้นไปด้วย

เครื่องบินซึ่งอยู่ท่ามกลางอากาศที่ปั่นป่วนเหล่านี้ จึงดิ่งลงบ้าง กระเด้งขึ้นบ้าง จากนิดๆ เล็กๆ น้อยๆ กลายเป็นกระเด้งขึ้นแรงๆ สลับกับดิ่งลงฮวบฮาบ ครั้งแล้วครั้งเล่า
ผู้โดยสารภายในโบอิ้ง 777-300 อีอาร์ ของสิงคโปร์แอร์ไลน์ให้สัมภาษณ์ว่า เบื้องต้นคือรู้สึกถึงแรงสะเทือน (บางคนช่างสังเกตรีบล็อกเข็มขัดนิรภัยอย่างฉับไวและไม่ต้องบาดเจ็บใดๆ) ผู้โดยสารนามว่า ดาฟราน อัซมีร์ หนุ่มนักศึกษาวัย 28 ปี เล่าว่าหลังจากนั้น รู้สึกเหมือนอยู่บนรถไฟเหาะ วูบลง หวือขึ้น แล้วก็วูบลง หวือขึ้นๆ ท้องไส้ปั่นป่วน (แตกต่างจากเครื่องบินเหาะตรงที่ว่า ไม่มีอาการตีลังกาศีรษะดิ่งสู่พื้นโลก)

ทั้งนี้ หลังจากที่สำนักข่าวต่างๆ ได้รับข้อมูลรุ่นแรกๆ จากระบบติดตามการเคลื่อนตัวของเครื่องบิน FlightRadar 24 ในวันที่ 21 พฤษภาคม ซึ่งเพิ่งเกิดเหตุระทึกขวัญเครื่องบินโบอิงของสิงคโปร์แอร์ไลน์ตกหลุมอากาศร้ายแรง ว่าเป็นการร่วงดิ่งจากระดับความสูง 38,000/37,000 ฟุต ลงสู่ระดับ 31,000 ฟุต เหนือน่านน้ำอ่าวเบงกอลแห่งทะเลอันดามันโดยไม่มีการระบุในส่วนของสภาพอากาศขณะเกิดเหตุ นั้น
ในเวลาต่อมา สำนักข่าวทั้งหลายได้รับข้อมูลรุ่นปรับปรุงจาก FlightRadar 24 ที่มีความกระจ่างและแน่ชัดมากขึ้นในหลายประเด็น เช่น บริเวณที่เกิดเหตุด่วนเหตุร้ายของ SQ321 คือเวิ้งฟ้าเหนือลุ่มน้ำอิรวดี และมีพายุฝนฟ้าคะนอง

โดยรอยเตอร์รายงานดังนี้
“FlightRadar 24 บอกว่าเพดานบินเปลี่ยนแปลงอย่างฉับไว ซึ่งเป็นไปตามสภาพการณ์ความปั่นป่วนแปรปรวนที่เกิดขึ้นปุบปับ
“ในตอนนั้น มีพายุฝนฟ้าคะนองอยู่ในบริเวณดังกล่าว บางส่วนเป็นพายุรุนแรง”
‘เพดานบินที่เปลี่ยนแปลงอย่างฉับไว’ นั้น เป็นการดิ่งลงและลอยขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่าภายในเวลาอันน้อยนิดเพียง 3 นาที ณ ระนาบความสูง 37,000 ฟุต โดยภายในเวลาวิกฤติการณ์เหล่านั้น เครื่องโบอิงของสิงคโปร์แอร์ไลน์ถูกโยนขึ้นไปสูงสุดที่ระดับ 400 เมตรอย่างฉับพลับเพียง 2 นาที ก่อนจะร่วงกลับสู่ระดับความสูง 37,000 ฟุตดังเดิมภายในพริบตาเพียง 1 นาที รอยเตอร์รายงานโดยอ้างอิงข้อมูลและภาพจาก FlightRadar 24 ดังนี้
 
ประเด็นที่ยังเป็นปริศนาอย่างยิ่ง คือ สภาพอากาศแปรปรวนและการตกหลุมอากาศที่เกิดขึ้นปุบปับสุดๆ เปิดสัญญาณเตือนให้รัดเข็มขัดไม่ทันกันเลย แบบที่กัปตันเทอร์รีบอกว่าเป็นเรื่องแปลกมากๆ นั้น จะมีคำอธิบายออกมาในกาลข้างหน้าหรือไม่ หรือจะปล่อยเป็นเรื่องของอาถรรพ์ลุ่มน้ำอิรวดีให้ผู้คนเล่าลือกันสืบไป
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่