เรียบเรียงและค้นคว้าประวัติศาสตร์นิยายไซไฟ (History of Science Fiction) จากหนังสือ Science Fiction by Roger Luckhurst

เนื่องจากในช่วงนี้กำลังค้นคว้าและเขียนเกี่ยวกับประวัติศาสตร์หนังสือจากทั่วโลก จึงมาขอบอกเล่าเรื่องราวจากการค้นคว้า เรียบเรียง และแปลผลงานกึ่งวิชาการเกี่ยวกับประวัติศาสตร์นิยายไซไฟ

งานเขียนชุดนี้เป็นบทความแปลและวิจารณ์กึ่งวิชาการ ซึ่งขอเริ่มจากซีรีย์นี้ก่อนโดยนำมาลงบางส่วนครับดีไม่ดีอย่างไรติติงได้เต็มที่


Part II ยุคทองของ3 ผู้ยิ่งใหญ่ อาสิมอฟ ,ซีคลาร์ก ,ไฮน์ไลน์ ได้ที่นี่ครับ
http://ppantip.com/topic/30706400



หนังสือ Science Fiction
By Roger Luckhurst

Introduction


    หนังสือเล่มนี้ได้ทำการรวบรวมประวัติศาสตร์และเรื่องราวของนิยายไซไฟ (SF) ในโลกตะวันตกโดยแบ่งการศึกษาออกเป็นสามช่วงหลักคือ ความเร่งด่วนในช่วงปีค.ศ.1880-1945, ยุคของความประณีตและความละเอียดในช่วงปีค.ศ.1945-1959, และยุคสมัยแห่งคลื่นลูกใหม่และการผนวกของสื่อในช่วงปีค.ศ. 1960-1990 โดยการแบ่งยุคทั้งสามนั้นมีขอบเขตการศึกษาอยู่ที่นิยายไซไฟอังกฤษและอเมริกา และเน้นดูบริบทของการเปลี่ยนผ่านของยุคสมัย

    นิยายไซไฟ (Science Fiction) เป็นนิยายประเภทหนึ่งที่ถูกวิจารณ์อย่างต่อเนื่องมาตลอด เนื่องจากเป็นนิยายที่มีลักษณะของพล็อตและเนื้อหาที่ค่อนข้างพิเศษเฉพาะตัว มีฐานผู้อ่านและแฟนหนังสือที่แตกต่างออกไปจากลุ่มหนังสืออื่น โดยธรรมชาติของหนังสือประเภทนี้ไม่ได้มีความนิยมหรือ popular สูง แต่ขณะเดียวกัน นิยายไซไฟเมื่อถูกดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ หรือ sci-fi กลับมักสร้างปรากฏการณ์กลายเป็นภาพยนตร์ชื่อดังในประวัติศาสตร์ได้ โดยทั่วไปแล้วนิยายไซไฟจะมีลักษณะของการบรรยายที่เคร่งเครียดจริงจัง เนื้อหามักสามารถตีความออกไปได้หลากหลาย ไม่ตายตัว ด้วยความแตกต่างบนพื้นผิวนี้เองที่ทำให้แฟนหนังสือโดยทั่วไปและนักวิชาการ เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ไปได้ในหลายด้าน

         ขณะเดียวกัน วรรณกรรมหรือนิยายประเภทนี้ยังมีผลสะท้อนและแสดงความร่วมสมัยของแนวคิดในแต่ละยุคออกมาเช่น แนวคิดมาร์กซิส ,แนวคิดสตรีนิยม (Feminisim) หรือทฤษฏีทางสังคมผ่านออกมาทางวรรณกรรมหรือนิยาย อันเป็นการสื่อให้เห็นภาพของตัวอย่างแนวคิดที่เป็นรูปธรรม เช่น ผลงานชิ้นยิ่งใหญ่เรื่องยูโทเปีย (Utopia) ของ เซอร์โทมัส มัวร์ ซึ่งสะท้อนแนวคิดของสังคมในอุดมคติออกมา

         นอกจากนี้ ประเภทของนิยายไซไฟที่ส่งอิทธิพลต่อแนวความคิดหรือการพัฒนาทางเทคโนโลยีได้นั้น อาจจะจัดว่าเป็นนิยายประเภท ฮาร์ดไซไฟ โดยเฉพาะผลงานเรื่อง A Space Odyssey ของ อาเธอร์ ซีคลาร์ก ซึ่งก่อให้เกิดการพัฒนาในวงการอวกาศและดาราศาสตร์ในการค้นพบวงแหวนโคจรรอบโลก ซึ่งก็ยังสามารถแบ่งประเภทของนิยายไซไฟได้อีกมาก ยิ่งในยุค Modern แล้ว การแบ่งประเภทนิยายไซไฟและการส่งผลต่อแนวคิดทางสังคมหรือการเป็นตัวสะท้อนทางความคิดก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้น เมื่อรวมกับการที่นิยายไซไฟเป็นวัตถุดิบสำคัญของการถูกนำไปสร้างเป็นสื่อภาพยนตร์มาตั้งแต่ยุค 50 และยิ่งทวีมากขึ้นในยุคปัจจุบัน

    หนังสือเล่มนี้ชี้ว่าการเริ่มต้นประวัติศาสตร์วัฒนธรรมของนิยายไซไฟนั้น อาจจะมาจากสามหัวข้อนั่นคือ

    1.นิยายไซไฟเป็นสัญลักษณ์ของการถูกตีความทางวรรณกรรมระดับต่ำ ซึ่งมักถูกเพิกเฉยและไม่ได้รับความสนใจนักจากการศึกษาเชิงวรรณกรรมหรือประวัติศาสตร์ปัญญาชน ซึ่งผู้เขียนระบุว่าประวัติศาสตร์วัฒนธรรมจะตัดสินเช่นนั้นไม่ได้อีกแล้วเพราะเขาชี้ว่าประวัติศาสตร์ของชาติตะวันตกในช่วง 100 ปีที่ผ่านมานั้นควรต้องให้ความสนใจต่อนิยายไซไฟเพิ่มมากขึ้นเพราะมันถือเป็นแหล่งข้อมูล (Source) ประเภทหนึ่งที่มีความน่าสนใจต่อประวัติศาสตร์วัฒนธรรมในช่วงเวลาที่ผ่านมานี้และในอนาคต

    2.ประวัติศาสตร์วัฒนธรรมให้สถานและตั้งพื้นที่ของเนื้อหานิยายไซไฟไว้อยู่ในเครือข่ายที่กว้างขององค์ความรู้ในบริบทและระเบียบวิธี บางทีอาจเพราะเมื่อแยกคำว่า Science และ Fiction ออกจากกัน จะพบว่าการศึกษาทั้งสองพื้นที่นั้นมักถูกพิจารณาให้เป็นสิ่งที่อยู่ตรงข้ามกันมากในศตวรรษที่ 20 เป็นการขีดวงและเครื่องมือของการศึกษาในบริบทที่ให้ Science หรือวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องของเทคโนโลยีหรือสังคมและทฤษฏี ในขณะที่ Fiction หรือนิยายเป็นเรื่องของวรรณกรรม การสำรวจในสองส่วนนี้หากแยกจากกันจึงเป็นสิ่งที่ไปคนละทาง แต่ผู้เขียนชี้ว่าตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 18 โดยเฉพาะปี ค.ศ.1880 เป็นต้นมา งานด้านไซไฟถือเป็นตัวแทนของเหตุการณ์เฉพาะในประวัติศาสตร์ที่ที่ถูกนำมาวิพากษ์หรือพูดถึง เขาไม่ได้ต้องการสื่อว่าสิ่งนี้เป็นผลสะท้อนหรือเงื่อนไขต่อการผลิตนิยายไซไฟ แต่มองว่าการศึกษาประวัติศาสตร์วัฒนธรรมนั้นควรทำความเข้าใจในการอ่านว่า “นิยายไม่ใช่แค่เครื่องหมายที่ประทับของประวัติศาสตร์ แต่เส้นทางหนึ่งของประวัติศาสตร์ที่ถูกสร้างขึ้น จนถึงสร้างขึ้นมาใหม่” จุดนี้ผู้เขียนไม่ได้อธิบายชัดเจนหรือละเอียดนัก แต่จากข้อเขียนที่เกิดขึ้นอาจพอตีความได้ว่านิยายอาจจะเป็นสิ่งที่ประวัติศาสตร์สร้างขึ้นเองไปจนถึงทำให้เกิดขึ้นมาเป็นประวัติศาสตร์ที่มีเนื้อหาแตกต่างไปหรือเป็นประวัติศาสตร์อันใหม่ขึ้นมา

    3.ผู้เขียนสื่อว่า การศึกษาประวัติศาสตร์วัฒนธรรมของนิยายไซไฟอาจจะมีส่วนสำคัญในการก่อตั้งหรือบุกเบิกเส้นทางของหัวข้อใหม่ๆในการศึกษาประวัติศาสตร์ สำหรับผู้เขียนนั้น นิยายไซไฟเป็นวรรณกรรมของเทคโนโลยีที่เกิดการก้าวหน้าและเข้ามามีส่วนมากมายในสังคม มันจึงเป็นวรรณกรรมที่วิจารณ์ถึงผลกระทบของเทคโนโลยีหรือกลุ่มเครื่องจักรนิยม (Mechanism) ซึ่งโดยส่วนมากแล้วนิยายไซไฟเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับเทคโนโลยีของโลกในอนาคต โลกคู่ขนาน หรือผลกระทบจากเทคโนโลยีทางสังคม


รูปนี้คือ ศาสตราจารย์ Roger ผู้เขียนหนังสือชุดนี้ และยังเป็นนักประวัติศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญเรื่อง "มัมมี่" ด้วย

แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่