กราบเรียน ฯพณฯ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขคนใหม่ ท่านสรวงศ์ เทียนทอง

กระทู้สนทนา
...."สิ่งสำคัญที่สุดคือ ผมอยากมาพัฒนาบุคลากร การให้บริการประชาชนให้ทั่วถึงและเท่าเทียม เนื่องจากผมมีประสบการณ์ทางด้านการแพทย์น้อย แต่คลุกคลีกับประชาชนมากพอสมควร ผมก็จะนำสิ่งที่เคยเห็นในภูมิภาคมาปรับแก้ปัญหาในส่วนกลางให้สามารถแก้ไขได้เร็วขึ้น”...นี่คือวรรคทองคำให้สัมภาษณ์ของท่าน รมช.สาธารณสุขคนใหม่ ในวันแรกที่เข้ารับตำแหน่งที่กระทรวงสาธารณสุข

ในฐานะประชาชนในชนบทคนหนึ่งผมเห็นด้วย และขอชื่นชมว่าท่านมองปัญหาการให้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุขของรัฐได้ตรงเป้าที่สุดปัญหาหนึ่ง

ปัญหาการให้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุขไทยมีมากมาย ที่สำคัญที่สุดปัญหาหนึ่งก็คือปัญหาการกระจุกตัวของการบริการสาธารณสุขที่มีคุณภาพและมีศักยภาพสูง ๆ จะอยู่ในส่วนกลาง ในกรุงเทพมหานครแทบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลสังกัดโรงเรียนแพทย์ต่าง ๆ โรงพยาบาลศูนย์วิชาการต่าง ๆ ของกรมการแพทย์ สังกัดกระทรวงสาธารณสุข โรงพยาบาลของสังกัดกรุงเทพมหานคร แต่ในส่วนภูมิภาคกลับมีสถานบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขขนาดใหญ่ใกล้เคียงกับโรงพยาบาลกลุ่มดังกล่าว ก็คือโรงพยาบาลทั่วไปหรือโรงพยาบาลศูนย์ประจำจังหวัด เพียงจังหวัดละแห่งเดียวเป็นส่วนใหญ่

หรืออย่างศูนย์การแพทย์และอนามัยในชุมชนต่าง ๆ ของกรุงเทพมหานครก็มีแพทย์อยู่ประจำ หรือบางแห่งก็มีแพทย์เฉพาะทางด้วย แต่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล(รพ.สต.)หรือสถานีอนามัยเดิมในส่วนภูมิภาคกลับมีแค่หมออนามัยอยู่ประจำ ดีขึ้นมาหน่อยก็อาจมีพยาบาลไปอยู่ด้วย

การเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมของรัฐ ระหว่างประชาชนในส่วนกลาง ในกรุงเทพมหานคร กับประชาชนในส่วนภูมิภาค ในชนบท ของกรณีการให้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุขของรัฐนี้ นับเป็นกรณีที่ชัดเจนชัดแจ้งอย่างยิ่ง เรื้อรังมานานและไม่เคยมีใครมีนโยบายแก้ไขให้มันเท่าเทียมกัน

ผมเชื่อว่ามันมีแนวทางที่จะใช้แก้ปัญหานี้ได้ โดยที่ไม่จำเป็นต้องใช้เงินงบประมาณที่มากมายอะไรเลย

ผมขออนุญาตตกราบเรียนเสนอแนวทางดังกล่าว.....

ผมเชื่อว่าท่าน รมช.สาธารณสุข ท่านสรวงศ์ เทียนทองมีแนวโน้มที่จะได้ดูแลรับผิดชอบได้ไปกำกับโรงพยาบาลบ้านแพ้ว(องค์การมหาชน)  ซึ่งท่าน รมช.คนเก่าได้เคยกำกับดูแลอยู่แล้ว  

โรงพยาบาลบ้านแพ้ว อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร เป็นโรงพยาบาลประจำอำเภอของกระทรวงสาธารณสุขแห่งเดียวในประเทศไทยที่มีสถานะเป็นองค์การมหาชน ออกนอกระบบราชการไปสิบกว่าปีแล้ว แต่ยังอยู่ภายใต้การกำกับของกระทรวงสาธารณสุข สิบกว่าปีที่ผ่านมาโรงพยาบาลบ้านแพ้วได้สร้างต้นแบบเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับการพัฒนาระบบสุขภาพระบบการแพทย์และสาธารณสุชของประเทศไทยได้ ในหลายประการ

ประการแรก โรงพยาบาลบ้านแพ้วเป็นโรงพยาบาลต้นแบบเป็นตัวอย่างของโครงการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งรัฐบาลสมัยนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ได้นำไปขยายต่อเป็นนโยบายสามสิบบาทรักษาทุกโรค และในปัจจุบันนี้โรงพยาบาลบ้านแพ้วน่าจะเป็นโรงพยาบาลที่บริหารจัดการโครงการสามสิบบาทได้มีประสิทธิภาพมากที่สุด ไม่มีข่าวปัญหาเรื่องการเงิน ทั้ง ๆ ที่มีประชากรในโครงการสามสิบบาทของอำเภอบ้านแพ้วมีไม่ถึงหนึ่งแสนคน

ประการที่สอง โรงพยาบาลบ้านแพ้วเป็นต้นแบบโรงพยาบาลองค์การมหาชนแห่งแรกของกระทรวงสาธารณสุข เป็นต้นแบบของการออกนอกระบบราชการของโรงพยาบาลของรัฐ สามารถบริหารจัดการได้อย่างอิสระและคล่องตัวพอสมควร คล้ายโรงพยาบาลเอกชน สามารพัฒนาคุณภาพและศักยภาพจากโรงพยาบาลชุมชนเป็นโรงพยาบาลขนาด 500 เตียงได้ในระยะเวลาแค่สิบกว่าปี และสามารถขยายสาขาได้หลายแห่ง แทบไม่ต่างจากโรงพยาบาลเอกชนเลย

ประการที่สาม เป็นตัวอย่างเป็นต้นแบบในการพัฒนาโรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลประจำอำเภอ ให้มีคุณภาพและศักยภาพเป็นโรงพยาบาลทั่วไป สามารถแบ่งเบาภาระปัญหาความแออัดของผู้ป่วย ล้นเตียง ล้นตึก ของโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลประจำจังหวัด ซึ่งเป็นปัญหาวิกฤตในหลาย ๆ จังหวัดในส่วนภูมิภาคในทุกวันนี้ได้เป็นอย่างดี และสามารถแข่งขันกับโรงพยาบาลเอกชนได้ นำรายได้จากผู้ที่มีกำลังจ่าย มาสนับสนุนสามสิบบาทรักษาทุกโรคได้อย่างยั่งยืน

ผมจึงกราบเรียนท่านรัฐมนตรีว่าการและช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขให้ช่วยผลักดันนโยบายการออกนอกระบบราชการของโรงพยาบาลชุมชนระดับอำเภอของกระทรวงสาธารณสุขในส่วนภูมิภาคทุกแห่งทั่วประเทศ ไปเป็นองค์การมหาชนเช่นเดียวกับโรงพยาบาลบ้านแพ้ว โดยอาจจะเริ่มต้นที่โรงพยาบาลอำเภอที่พร้อมที่จะออกนอกระบบ และโรงพยาบาลประจำอำเภอที่สร้างเสร็จแล้วแต่ยังไม่ได้เปิดบริการ ทั้งนี้ก็เพื่อให้ประชาชนในส่วนภูมิภาคในชนบททั่วประเทศจะมีโอกาสได้รับบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขที่มีมาตรฐานมีคุณภาพและมีศักยภาพ  ไม่แตกต่างจากที่ประชาชนอำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร ได้รับอยู่ในปัจจุบัน  และก็ไม่แตกต่างจากประชาชนในส่วนกลางในกรุงเทพมหานครมากมายนัก.
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่