เรื่องการเดินทางเร็วเหนือแสง

คือตามหลักการฟิสิกส์ ถ้าเราเดินทางเร็วเหนือแสง มวลจะวิกฤตจนต้องใช้พลังงานเป็น Infinity
แต่ถ้าเราสร้างยานอวกาศที่มีความเร็วเกินครึ่งหนึ่งของแสงเล็กน้อย 2 ลำแล้วให้เดินทางไปใน
ทิศทางตรงกันข้ามกันโดยที่ผู้สังเกตุอยู่บนยานลำที่ 1 นั้นจะทำให้ ผู้สังเกตุเห็นว่ายานลำที่สอง
เดินทางด้วยความเร็วเหนือแสง

ถึงตรงนี้ผมมึนแล้วครับ  ใครก็ได้ช่วยอธิบายหน่อยครับว่า ตามหลักฟิสิกส์แล้วเหตุการณ์แบบนี้
เขาใช้ทฤษฎีอะไรอธิบาย เพราะมันเหมือน ยานลำที่สองเคลื่อนที่ด้วยความเร็วแสง
แก้ไขข้อความเมื่อ
คำตอบที่ได้รับเลือกจากเจ้าของกระทู้
ความคิดเห็นที่ 1
จะไม่ได้เห็นแบบที่ท่านว่าครับ
คือ ที่ความเร็วน้อยๆ ถ้าคนนึงเคลื่อนที่ไปทางซ้ายความเร็ว u อีกคนเคลื่อนไปทางขวา ความเร็ว v
เราจะสังเกต(และโดยสามัญสำนึก)ว่าหากเราเป็นคนใดคนหนึ่ง จะเห็นอีกคนเคลื่อนหนีไปจากเรา
ด้วยความเร็ว = u+v

แต่ผู้ที่พบว่าเรื่องนี้ ไม่จริง ความเร็ว u+v เป็นแค่ค่าประมาณที่ถูกต้องใช้ได้
เฉพาะเมื่อความเร็วต่ำกว่าความเร็วแสงในสุญญากาศมากๆ นั้น คือ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ นั่นเองครับ
และนี่ก็คือส่วนนึงของทฤษฎีสัมพัทธภาพที่โด่งดังนี่ละครับ

เขาพบว่า ความเร็วรวมที่สังเกตได้นั้น มันไม่ใช่ u+v เสียหน่อย แต่แท้จริงแล้วเป็น
ความเร็ว =  (u+v) / 1+(uv/c^2) ต่างหาก

ทั้งนี้ ลองแทนค่าความเร็ว u และหรือ v ต่ำๆ ดู ซึ่งเราจะคุ้นชินในชีวิตประจำวัน
จะเห็นว่า ค่า (uv/c^2) มีค่าน้อยมากๆๆๆ เข้าใกล้ 0 เพราะหารด้วยความเร็วแสงกำลังสองแน่ะ
ทำให้เราสังเกตเหมือนว่าความเร็วรวมเป็น (u+v)/(1+0) = (u+v)/1 = u+v

แต่เมื่อ u v มีค่ามากขึ้นๆๆ สมมติให้ทั้ง u และ v ต่างเคลื่อนออกจากกันด้วยครึ่งนึงของความเร็วแสง (0.5c)
เราจะไม่ได้ความเร็วสังเกตเป็น 0.5c+0.5c อีกต่อไป เพราะเทอมล่างเริ่มมีค่ามากจนตัดทิ้งไม่ได้แล้ว
โดยความเร็วที่เราสังเกตได้จะเป็น (0.5c+0.5c)/1+( (0.5c)(0.5c)/c^2)
= 1c / 1+(0.25c^2 / c^2)
= c / 1+0.25
= c / 1.25
= 0.8c
เท่านั้นเอง ซึ่งจะพบว่าไม่ว่าแทนค่าความเร็วเป็นค่าใดๆ ก็ไม่ทำให้สังเกตได้เกินค่า c ไปได้เลย

ถ้าสนใจ ลองศึกษางานของไอน์สไตน์ดูครับ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่