บทความเก่าปี 2554 เอามาให้อ่าน...เห็นว่าตรงกับ"ความจริง"ในเหตุการณ์ปัจจุบัน

อมยิ้ม01อมยิ้ม16อมยิ้ม07

อ่านทั้งหมด.....

ดร.วีรพงษ์ รามางกูร  นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดัง   อดีตรองนายกรัฐมนตรี  อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง  เขียนคอลัมน์ คนเดินตรอก ประชาชาติธุรกิจ  15 สิงหาคม 2554   เรื่อง "โครงการรับจำนำสินค้าเกษตร"   อันเป็นนโยบายสำคัญของพรรคเพื่อไทย  สาระสำคัญมีดังนี้    



นโยบายและมาตรการที่พรรคเพื่อไทยนำเสนอต่อประชาชนมีมากมายหลายมาตรการ และการลงทุนใหญ่ ๆ หลายโครงการ มีโครงการต่อยอดเรื่องเดิมที่เคยทำเป็นผลสำเร็จมาแล้วก็หลายโครงการ





หลายคนก็เป็นห่วงว่าถ้าทำทั้งหมดจะมีปัญหาเรื่องวินัยทางการเงินการคลังหรือไม่ เรื่องนี้แม้จะน่าห่วงแต่ก็พอเข้าใจได้ว่า ยังมีทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูง ในด้านต่างประเทศก็ยังเป็นเจ้าหนี้สุทธิอยู่ มิได้เป็นลูกหนี้สุทธิ ความกังวลก็น่าจะเบาบางลงอย่างน้อยก็ 5-6 ปีข้างหน้า





ยอดหนี้รัฐบาลก็ยังไม่สูง มีประมาณ 41 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ประชาชาติ และส่วนใหญ่ก็เป็นหนี้ที่โอนมาจากกองทุนฟื้นฟูฯ จากความผิดพลาดของธนาคารแห่งประเทศไทยไม่ใช่ความผิดพลาดของรัฐบาล ถ้ารัฐบาลจะผิดก็ตรงที่ยอมโอนหนี้ของกองทุนฟื้นฟูฯมาเป็นหนี้ของรัฐบาล ภาระมาตกหนักกับ ประชาชนผู้เสียภาษี ถ้า ธปท.ไม่ทำ ผิดพลาดอย่างใหญ่หลวงอีก ยอดหนี้ของภาครัฐบาลต่อรายได้ประชาชาติก็คงไม่เพิ่มกว่านี้มาก





ข้างหน้านี้หลังจากสหรัฐอเมริกาถูกลดระดับความน่าเชื่อถือ นโยบายสำคัญของประเทศต่าง ๆ ก็คือต้องพยายาม มิให้เศรษฐกิจของตนชะลอตัวตาม อเมริกาและยุโรป ส่วนเงินเฟ้อนั้นเราคงทำอะไรไม่ได้มาก เพราะปัญหาของแพงนั้นมาจากราคาสินค้านำเข้า และสินค้าส่งออกของเรา ไม่ใช่เพราะเศรษฐกิจ ร้อนแรง การขึ้นดอกเบี้ยห่างจาก ดอกเบี้ยอเมริกา รังแต่จะเกิดปัญหาเงินไหลเข้ามาก เงินบาทแข็ง ต้นทุนผลิตสินค้าและบริการแพงขึ้น ทำให้เศรษฐกิจชะลอตัว





นโยบายและมาตรการทั้งหมดนี้ เมื่อทยอยปฏิบัติควบคู่กับการวางกรอบวินัยการคลัง ก็น่าจะทำได้ ไม่พาประเทศไปสู่ความเสี่ยง ยิ่งเป็นช่วงเศรษฐกิจโลกชะลอตัวก็ยิ่งเป็นเวลาที่เหมาะสม สำหรับภาครัฐบาลที่จะต้องลงทุน เพื่อชดเชยการชะลอตัวของการลงทุนภาคเอกชน และยอมให้ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลบ้างก็ไม่อันตราย เพราะทุน สำรองระหว่างประเทศของเราอยู่ในระดับสูงและยังเพิ่มอยู่ตลอดเวลา





มีนโยบายและมาตรการอันหนึ่งที่ น่าห่วงเพราะใช้เงินเป็นจำนวนมาก มีปัญหาทั้งทางทฤษฎีและการปฏิบัติ โครงการที่ว่าคือโครงการรับจำนำ สินค้าเกษตร เช่น ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง ข้าวโพด กุ้ง ฯลฯ





ฟังดูว่าจะใช้เงิน 4 แสนล้านบาท มาหมุนเวียนซื้อสินค้าเกษตรเหล่านี้ นโยบายรับจำนำสินค้าเกษตรนี้เป็นนโยบายที่ล้มเหลวที่สุดตั้งแต่ทำกันมา ตั้งแต่ปี 2529 สูญเสียเงินละลายน้ำไปมากมาย โดยผลประโยชน์ไม่ได้ตกถึงมือเกษตรกรอย่างที่คิด ผลประโยชน์ส่วนใหญ่ตกอยู่กับโรงสี ผู้ส่งออกลานตากมัน รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง พรรคพวกของนักการเมือง จึงไม่มีใครยอมเลิกโครงการนี้





เริ่มต้น ชื่อก็ผิดแล้ว การรับจำนำนี้ปกติผู้รับจำนำต้องรับจำนำในราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาด โดยคาดว่าผู้จำนำจะมาไถ่คืน แต่การรับจำนำสูงกว่าราคาตลาดก็ไม่น่าจะเรียกว่าการรับจำนำ เพราะไม่มีใครมาไถ่คืนในราคาจำนำ ที่สูง แล้วเอาไปขายในราคาที่ต่ำในตลาด การตั้งชื่อว่าโครงการรับจำนำจึงเป็นการตั้งชื่อหลอกลวงประชาชนเท่านั้นเอง

ในทางทฤษฎี สินค้าเกษตรที่ส่งออกไปขายในตลาดต่างประเทศทุกตัว เรา เป็นส่วนหนึ่งของตลาดโลกของสินค้า นั้น ๆ ตลาดภายในของเรากับตลาดโลกเป็นตลาดเดียวกัน เชื่อมโยงถึงกันอย่างใกล้ชิด เพราะเราไม่มีโควตาการส่งออก ไม่มีภาษีขาออก







สินค้าเกษตรทุกตัวยกเว้นยางพารากับมันสำปะหลัง เช่น ข้าว จีนเป็น ผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุดในโลก รองลงมา คือ อินเดีย และอินโดนีเซียตามลำดับ ในกรณีข้าวโพด อเมริกาเป็นผู้ผลิตมากที่สุด ข้าวที่ขายหมุนเวียนในตลาดโลกจึงมีสัดส่วนไม่มาก มันสำปะหลังก็เหมือนกัน ผู้ผลิตรายใหญ่คือ อินโดนีเซีย ในกรณียางพารา แม้ประเทศเราจะยังเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุด แต่ก็ยังมีอินโดนีเซีย มาเลเซีย ศรีลังกา จีน และประเทศอื่น ๆ อีกมากมาผลิตด้วย





นอกจากนั้นสินค้าเกษตรทุกตัวยังมีของทดแทนกันได้เป็นคู่แข่ง เช่น ข้าว ก็มีข้าวสาลี ข้าวโพดและธัญพืชอื่น ๆ เป็นคู่แข่ง เพราะถ้าข้าวราคาแพงผู้บริโภคในจีน อินเดีย และที่อื่นก็หันไปบริโภค หม่านโถว จาปาตี บะหมี่ แทนข้าวได้ ยางพาราที่ใช้ผลิตยางรถยนต์ ก็มียางเทียมที่ผลิตจากน้ำมันปิโตรเลียมเป็นคู่แข่ง มันสำปะหลังก็มีพืชจำพวกแป้งอื่น ๆ เป็นคู่แข่ง





ด้วยเหตุนี้สินค้าเกษตรทุกตัวราคา จึงกำหนดโดยตลาดโลก รวมทั้งมันสำปะหลังซึ่งเราเป็นผู้ส่งออกสำคัญเพียงรายเดียวของโลก เราจึงเป็น "ผู้รับราคา" หรือ "price taker" ไม่ใช่ผู้กำหนดราคาหรือ "price maker"





นอกจากนั้นสินค้าเกษตรทุกตัวมีปริมาณออกสู่ตลาดโลกตลอดเวลา การกักตุนเพื่อเก็งกำไรไม่สามารถทำได้ หรือการกักตุนของเราก็ไม่ทำให้ราคาตลาดโลกเปลี่ยนแปลง เพราะจะมีผู้ผลิตรายอื่นเสนอขายในตลาดโลกแทนเรา และถ้าเราเก็บไว้นาน 3-4 เดือน ก็จะมีผลผลิตใหม่ออกมาแทนที่ พอเราจะขายราคาก็จะตกทันที การกักตุน จึงมีแต่ขาดทุน นอกจากมีไว้เพื่อค้าขายปกติ





ด้วยเหตุนี้ โครงการมูลภัณฑ์กันชนระหว่างประเทศหรือ "International Buffer Stocks" ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นมูลภัณฑ์กันชนดีบุก หรือแนวคิดเรื่อง มูลภัณฑ์กันชนสินค้าประเภทอาหาร โดยข้อเสนอขององค์การการค้าและการพัฒนาแห่งสหประชาชาติหรือ UNTAD ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงประสบความล้มเหลว ใครเก็บกักข้าวไว้ก็เท่ากับช่วยให้คู่แข่งขายได้ก่อน ราคาอาจจะดีกว่าตอนที่เราขายทีหลัง เพราะถ้ามีใครกักเก็บ ผู้ซื้อผู้ขายก็รู้ว่ายังมีข้าวรอขายอยู่ก็จะไม่ยอมซื้อในราคาแพง





ฟังว่าจะใช้เงิน 4-5 แสนล้านบาทหมุนเวียนซื้อสินค้าเกษตรมากักตุน ก็เท่ากับคิดจะปั่นราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกหรือที่ภาษาฝรั่งเขาเรียกว่าจะ "corner the market" ตลาดโลกข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา ข้าวโพด จึงเป็นไปไม่ได้ คนเคยทำแล้วล้มละลายก็มีมาก ธนาคารกรุงเทพฯพาณิชย์การที่ล้มก็สืบเนื่องมาจากการพยายามปั่นตลาด หรือจะ corner ตลาดใบยาสูบ ดังนั้น เมื่อผลิตได้เท่าไหร่ รีบส่งออกได้มากเท่าไหร่ยิ่งดี แล้วก็ปลูกใหม่

ในทางปฏิบัติยิ่งมีปัญหา วิธีทำก็คือ การเลือกโรงสีเข้าร่วมโครงการ โรงสีไหนได้รับเลือกก็เหมือนถูกหวย





เมื่อรัฐบาลตั้งราคารับจำนำไว้สูงกว่าราคาตลาด สมมุติ 10 เปอร์เซ็นต์รงสีก็จะซื้อข้าวเปลือกในราคาตลาด หรือไม่ก็ไม่ซื้อเลย แล้วทำใบประทวน สินค้าปลอมว่าซื้อข้าวใส่โกดังแล้วให้ชาวนาหรือลูกจ้างของตนมาลงชื่อว่าเอาข้าวมาจำนำเท่านั้นเท่านี้เกวียน เอาค่า ลงชื่อไป 50 บาท 100 บาท อาจจะซื้อข้าวชาวนาอิทธิพลบางรายในราคาที่รัฐบาลประกาศบ้าง เวลาทางการมาตรวจเช็กก็จะให้เอาชาวนา 5-6 คนนี้มายืนยัน





เวลาทางการมาตรวจสต๊อก ก็เอา สต๊อกข้าวของตนเองมาแสดงพอเป็นพิธี ชาวนาโดยทั่วไปเมื่อขายข้าวให้โรงสีก็ขายในราคาตลาดนั่นเอง  นี่คือการฉ้อราษฎร์บังหลวงในรอบแรก



ต่อมาเมื่อข้าวเปลือกที่นำมาจำนำเป็นของรัฐบาล อาจจะมีข้าวจริงบ้าง ข้าวลมบ้าง กระทรวงพาณิชย์ก็เอาไปขายเป็นข้าวรัฐบาล โดยจะมีบริษัท ส่งออกที่รู้กันกับรัฐมนตรี ไปเร่ขายใน ตลาดต่างประเทศ และกล้ารับคำสั่งซื้อเพราะรู้กันกับรัฐมนตรีว่าจะสามารถซื้อข้าวจากรัฐบาลได้ในราคาเท่าใด รายอื่นไม่กล้ารับคำสั่งซื้อ เพราะไม่แน่ใจว่ารัฐบาลจะขายให้หรือไม่ในราคาเท่าใด ผู้ส่งออกรายอื่น ๆ จึงไม่อาจจะรู้ต้นทุนของตน ยกเว้นรายที่ทำมาหากินกับรัฐมนตรีพาณิชย์หรือนายกรัฐมนตรี ประเทศเราส่งออกปีละ 9-10 ล้านตัน บางปีข้าวรับจำนำของรัฐบาลมีปริมาณถึง 3.5 ล้านตัน





โครงการนี้จึงเป็นโครงการทำลายโครงสร้างตลาดข้าวในประเทศ โรงสีที่ไม่มีเส้นสายเข้าร่วมโครงการก็ล้มละลายไป เพราะไม่มีข้าวส่งออก ทำให้โรงสีมี น้อยลง โรงสีที่เคยมีการแข่งขันก็กลายเป็นการผูกขาดโดยโรงสีที่สามารถเข้าร่วมโครงการได้เท่านั้น





เป็นการเพาะศัตรูให้กับพรรครัฐบาลอย่างตรงไปตรงมา เพราะโรงสีที่ไม่ได้ร่วมโครงการ หรือผู้ส่งออกที่ไม่ใช่ พวกรัฐมนตรี มีมากกว่าที่เป็นพวกรัฐมนตรี





ในกรณีรับจำนำมันสำปะหลังก็ดี ยางพาราก็ดีหรือแม้แต่ลำไยก็มีลักษณะเดียวกัน กล่าวคือ โรงมัน โรงเก็บยางแผ่น ซื้อมัน ซื้อน้ำยาง ยางแผ่นในราคาตลาด ให้ชาวไร่ชาวสวนยางลงชื่อเพื่อรับเงินค่าลงชื่อ แล้วก็เอามาจำนำกับรัฐบาลในราคาสูงกว่าราคาตลาด เมื่อรัฐบาลจะขายก็ขายในราคาต่ำกว่าราคาตลาดให้กับผู้ส่งออกที่หาเงินให้รัฐมนตรีไป ขายในตลาดโลกตัดราคาผู้ส่งออกรายอื่น เอาคำสั่งซื้อไป เพราะตนรู้อยู่คนเดียวว่าจะสามารถซื้อจากรัฐบาลได้ในราคาเท่าใด





เมื่อรัฐบาลจะขายข้าว ขายมัน ขายยาง โดยรับคำสั่งซื้อแล้วก็จะไม่ส่งออกเอง แต่มอบให้พ่อค้าผู้ส่งออกประมูลไป การประมูลก็ทำหลอก ๆ เพราะมีการกำหนดเงื่อนไขคุณสมบัติให้ตรงกับผู้ส่งออกที่รัฐมนตรีกำหนดตัวไว้แล้ว แบ่งกำไรกินกัน





นี่คือการฉ้อราษฎร์บังหลวงหรือคอร์รัปชั่นจากโครงการจำนำสินค้าเกษตรรอบสอง รัฐบาลเสียเงินขาดทุนมากมายส่วนเกษตรกรไม่ได้อะไรเลย ขายของได้ในราคาตลาดเท่านั้นเองที่ ประชาธิปัตย์ทำไว้โดยการประกันรายได้นั้นดีแล้ว จ่ายส่วนต่างระหว่างราคาตลาดกับราคาประกันตรงให้ชาวนา ชาวไร่ ชาวสวนเลย ถ้าชาวนา ผู้ใหญ่บ้าน กำนันจะโกง ก็ยังดีกว่าโรงสีผู้ส่งออก รัฐมนตรีโกง



ชาวไร่ ชาวนา ชาวสวน ที่เคยได้ประโยชน์จากโครงการชดเชยส่วนต่างของราคาตลาดกับราคาประกันซึ่งมีจำนวนมากกว่าก็จะโวยวาย ถ้าหันกลับไปใช้โครงการรับจำนำอีก แต่ถ้าไม่ทำโรงสี โรงมัน ผู้ส่งออกก็คงจะจัดคนมาเดินขบวน



คงต้องปวดหัวและจะหาบันไดลงกันอย่างไร ต้องคอยดู



http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1313217952&grpid=01&catid=01

ไม่ขอแสดงความคิดเห็น เพื่อเปิดช่องทางให้"ยัยหนู"ที่ชอบจินตนาการแต่งนิยาย"น้ำเน่า" จะได้มีข้ออ้างเอาไปนินทา
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่