ครูเชาว์– ครูคอลส์: ครูฝึกเดนมาร์กกับงานตำรวจภูธรสยาม (ตอนจบ)

ตอบกระทู้คราวที่แล้วก่อนนะคะ


กาแฟ คุณ turtle_cheesecake :
ขอบคุณที่มาอ่านเช่นกันค่ะ


กาแฟ คุณ Psycho man :
ตอนที่ยังไม่ได้เริ่มค้น ตัวเองก็ไม่รู้จักทั้งกุสตาฟ เชา และออกัสต์ คอลส์เหมือนกันค่ะ เรื่องของเขาน่าทึ่งมากจริง ๆ

กาแฟ คุณ หนุ่มจำปาศักดิ์ :
ขอบคุณมาก ๆ เลยค่ะ ที่ทักมาเรื่องบรรดาศักดิ์ของพระยาวาสุเทพ ตัวเองก็แถมให้ท่านไปเยอะ หลายที่เลย

กาแฟ คุณกุลธิดา (kdunagin) :
เป็นเรื่องที่คาใจอยู่เหมือนกันค่ะ พอมาเจอเอกสารนี้เข้า แทบจะกรี๊ดอยู่ในบ้านเลยทีเดียว แต่ต้องยอมรับนะคะว่า คนสมัยก่อนมีความสามารถทางภาษามาก เรียนรู้ไม่นานก็ได้แล้ว สำหรับเด็ก ๆ เดี๋ยวนี้ หลายคนเห็นแค่ภาษาอังกฤษก็ส่ายหน้าไม่เอาท่าเดียว

กาแฟ คุณทะเลเดือดพันธุ์ร็อค :
เรื่องจริงบางทีก็เป็นยิ่งกว่านิยายนะคะ แต่ท่านเท่มากจริง ๆ แหละ

กาแฟ คุณ lovereason :
เรื่องราวของทุกท่านน่าสนใจมากค่ะ เลยรู้สึกว่า อย่าเก็บไว้คนเดียวเลย เอามาเล่าต่อดีกว่า แต่ถ้ามีเวลามาก ๆ ในการค้นเอกสารในหอจดหมายเหตุ หรือหอสมุดน่าจะได้อะไรเยอะกว่านี้ค่ะ

ขอบคุณ คุณ lovereason , คุณ RIRILG+ , คุณหลงรักผู้ชายชุดหมี , คุณทะเลเดือดพันธุ์ร็อค , คุณkinkan00 , คุณMnemosyne ,คุณ kdunagin , คุณPsycho man , คุณIl Maze , และ คุณ turtle_cheesecake ที่มาอ่านและแสดงความรู้สึกเอาไว้

ขอบคุณสำหรับ 4 โหวต (ซึ่งตัวเองค่อนข้างตกใจนิด ๆ เพราะไม่คิดว่าจะมีคนโหวตด้วย) และก็ขอบคุณที่กดแนะนำและแชร์กระทู้นี้ในเฟซบุ๊กด้วย 14 ครั้งแน่ะ แต่ไม่แชร์ก็ได้นะคะ เขิน ><



เรื่องตอนที่แล้วและเรื่องที่เกี่ยวข้อง

ครูเชาว์– ครูคอลส์: ครูฝึกเดนมาร์กกับงานตำรวจภูธรสยาม (ตอนต้น): http://ppantip.com/topic/30622646

ร้อยเอก เอช เอ็ม เจนเซน : ร้อยสิบปีวีรกรรม
ตอนต้น : http://topicstock.ppantip.com/writer/topicstock/2012/10/W12792121/W12792121.html
ตอนจบ : http://topicstock.ppantip.com/writer/topicstock/2012/10/W12847239/W12847239.html




----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------


จากคราวก่อนนั้น ได้เล่าถึงตัวของผู้มีส่วนในการสร้างกิจการตำรวจภูธรอย่างพระยาวาสุเทพ หรือ กุสตาฟ เชาไปแล้ว ในคราวนี้ ก็จะขอเล่าต่อถึงบุคคลผู้มีส่วนสำคัญในการวางรูปแบบการเรียนการสอนของโรงเรียนนายร้อยตำรวจภูธรขึ้นมาบ้าง เพื่อให้ครบสมบูรณ์ตามที่เคยกล่าวไว้ บุคคลผู้นั้น มีด้านหนึ่งเป็นครูผู้เข้มงวดของบรรดานักเรียนนายร้อยตำรวจภูธร  และอีกด้านหนึ่งเป็นนายตำรวจมือปราบที่ขึ้นชื่อเรื่องความกล้าหาญในการปฏิบัติหน้าที่ และยึดถือความซื่อสัตย์สุจริตจนกระทั่งตัวตาย

เรื่องราวของนายทหารรักษาพระองค์จากเดนมาร์กที่ข้ามน้ำข้ามทะเลมาเป็นนายทหารกรมแผนที่ของสยาม และได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ครูฝึกตำรวจภูธรในโรงเรียนนายร้อยตำรวจภูธรแห่งแรกของไทยเรียกได้ว่า เป็นชีวิตที่มีสีสันราวกับนิยาย แต่เรื่องราวชีวิตของเขาก็เลือนจางไปตามกาลเวลา จนกระทั่งมีลูกหลานที่ยังหลงเหลือในประเทศไทยสืบเสาะค้นหาที่พักพิงสุดท้ายที่เชื่อว่า ยังคงมีอยู่ ชื่อของเขาจึงได้รับการกล่าวขานอีกครั้ง แม้น้อยคนจะเคยได้ยินชื่อของเขาก็ตาม



ชายชาวเดนมาร์กผู้นี้ คือ นายพันโทออกัสต์ คอลส์






นายพันโทออกัสต์ คอลส์ – August F. Kolls (1867-1911)





ตามคำบอกเล่าและภาพถ่ายที่มีอยู่ ออกัส ฟิกเกอร์ คอลส์ ตามเอกสารของฝ่ายไทย หรือ ออกัสต์ ธีโอดอร์ เฟรเดอริก คอลส์ ตามเอกสารอีกฉบับจากฝั่งเดนมาร์ก นายทหารหนุ่มสังกัดหน่วยทหารรักษาพระองค์ (Royal Life Guard หรือ  Den Kongelige Livgarde) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเดนมาร์กให้เข้ามารับราชการในสยาม เป็นชายหนุ่มผิวขาว ผมทอง รูปร่างสูงโปร่ง คล่องแคล่วแบบนักกีฬา และมีตาสีฟ้าเยือกเย็นที่ทำให้หลายคนไม่กล้าสบตาตอบ

เช่นเดียวกับชื่อของเขาที่เอกสารฝั่งไทยและเดนมาร์กไม่ตรงกัน ประวัติความเป็นมาเกี่ยวกับครอบครัวคอลส์ของทางฝั่งไทยและเดนมาร์กก็มีส่วนที่แตกต่างกันอยู่บ้าง โดยในหนังสือพิมพ์ข่าวเสรี ฉบับปี 2540 ที่คุณ sawkitty เคยนำเสนอในห้องประวัติศาสตร์ของพันทิปกล่าวว่า ออกัสต์ คอลส์เกิดในครอบครัวชนชั้นอัศวิน สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายทหาร และเคยไปประจำการที่ญี่ปุ่นก่อนที่จะมารับราชการในสยาม แต่ในบทความของเฟลมมิง วินเธอร์ นีลเซนที่ลงในวารสาร ScandAsia เดือนสิงหาคม ปี 2012 กล่าวว่า เขาเกิดในครอบครัวของเกษตรกร มารดาชื่อ ดอร์เธีย เวนด์ท บิดาชื่อ ซี. เอ. เอฟ. คอลส์ เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 1867 และต่อมาญาติฝ่ายบิดาได้รับเขาเป็นบุตรบุญธรรม เมื่อโตขึ้น จึงได้เข้าเรียนในโรงเรียนนายทหาร

ไม่ว่าจะมาจากครอบครัวชนชั้นใด ออกัสต์ คอลส์ สำเร็จการศึกษาและรับราชการทหาร  และติดยศร้อยตรีในปี 1988 เมื่อมีอายุได้ 20 ปี เข้าสังกัดในหน่วยทหารรักษาพระองค์ ก่อนที่จะเดินทางเข้ามารับราชการในสยาม โดยเดินทางถึงกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 16 มกราคม ปี 1890 ได้รับการติดยศร้อยโทและทำหน้าที่เป็นครูฝึกทหาร และมีกิตติศัพท์ว่า เป็นครูฝึกที่มีความเชี่ยวชาญและเข้มงวดมากจนทหารทั้งกลัวทั้งเกรง

เมื่อมีการจัดตั้งกรมตำรวจภูธรขึ้น กรมหลวงดำรงราชานุภาพ (พระอิสริยยศในขณะนั้น) เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวให้ย้ายนายร้อยเอกคอลส์ ซึ่งในขณะนั้นรับราชการอยู่ที่กรมแผนที่ มารับราชการในกรมตำรวจภูธร โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายนายร้อยเอกคอลส์มารับราชการในกรมตำรวจภูธร เพื่อช่วยจัดราชการกองตำรวจภูธรมณฑลพายัพที่จัดตั้งขึ้นเมื่อ 16 กันยายน พ.ศ. 2441 นั้นเป็นงานแรก

ในการกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ร้อยเอกคอลส์มารับราชการในกรมตำรวจภูธรนั้น กรมหลวงดำรงราชานุภาพทรงให้เหตุผลไว้ ดังนี้

“แต่ในชั้นต้นนี้จะหานายทหารไทยที่เข้าใจการฝึกหัดตามแบบแผนนั้นหายาก จึงเห็นด้วยเกล้าฯ ว่าจำเป็นต้องจัดใช้ทหารต่างประเทศส่งขึ้นไปจัดวางการดังเช่นหลวงศัลวิธานนิเทศ เป็นต้น ข้าพระพุทธเจ้าจึงได้ปฤกษาหารือกับหลวงศัลวิธานนิเทศ เจ้ากรมตำรวจภูธร หลวงศัลวิธานนิเทศแนะนำว่า กัปตันคอลส์ นายทหารบกชาวเดนหมากซึ่งเวลานี้ได้รับราชการอยู่ในกรมแผนที่นั้น เป็นคนเคยรับราชการในน่าที่ทหารมา มีคุณวุฒิความสามารถพอจะรับราชการสนองพระเดชพระคุณในน่าที่กรมตำรวจภูธรได้ ข้าพระพุทธเจ้าเห็นชอบด้วย และได้ทูลถามพระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นมหิศราชหฤทัยก็ไม่ทรงรังเกียจที่จะให้กัปตันคอลส์เข้ามารับราชการในกรมตำรวจภูธร เพราะฉะนั้น ข้าพระพุทธเจ้าขอรับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้กัปตันคอลส์มารับราชการในกรมตำรวจภูธรต่อไป...” [หมายเหตุ: สะกดตามเอกสารเดิม]

หลวงศัลวิธานนิเทศที่ทรงเอ่ยถึงในที่นี้ ก็คือ กุสตาฟ เชา (หรือพระวาสุเทพ และพระยาวาสุเทพในเวลาต่อมา) เจ้ากรมตำรวจภูธร ชาวเดนมาร์ก ซึ่งเป็นผู้เสนอให้ย้ายนายร้อยเอกออกัสต์ คอลส์มารับราชการในกรมตำรวจภูธรนั่นเอง







(มีต่อนะคะ)
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่