รับเอซี-ต้องมีทักษะ'อังกฤษ'4ด้าน

รับเอซี-ต้องมีทักษะ'อังกฤษ'4ด้าน : คอลัมน์ท่องโลกเรียนรู้ : โดย...ทิวาพร บาทสุวรรณ์
               ปัจจุบันหน่วยงานราชการหลายแห่ง รวมทั้งบริษัทเอกชนต่างมีมาตรการเสริมแรงให้พนักงาน และเจ้าหน้าที่พัฒนาตัวเอง ให้มีทักษะการสื่อสารภาษาอังกฤษมากขึ้น ด้วยเปิดเพิ่มเงินเดือนให้เพื่อเป็นแรงจูงใจหากผ่านการประเมินการวัดผลทักษะภาษาอังกฤษทั้ง 4 ด้าน ฟัง พูด อ่าน เขียน จะได้เงินเดือนเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับการเป็นประชาคมอาเซียน (เอซี)
                โดยเฉพาะกระทรวงแรงงาน ที่มีงานให้บริการนายจ้าง ลูกจ้าง ทั้งแรงงานไทยและต่างชาติเป็นจำนวนมากอยู่แล้ว ยิ่งถ้าเปิดเอซี จะยิ่งมีลูกจ้าง นายจ้างต่างชาติเข้ามาติดต่อและรับบริการเพิ่มมากขึ้น เช่น การขอใบอนุญาตทำงาน ตลอดจนงานด้านคุ้มครองแรงงาน ดังนั้นข้าราชการจึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีทักษะการสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นภาษากลางของอาเซียน ตลอดจนภาษาของประเทศเพื่อนบ้าน
                "ที่ผ่านมาเราอาจจะคิดว่าไม่ได้เป็นเมืองขึ้นใคร หรือคิดว่าไม่ใช่ภาษาพ่อภาษาแม่ จึงมีการละเลย และไม่สนใจ แต่ตอนนี้ถึงเวลาแล้วที่จะต้องพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษในการสื่อสาร เพราะจะต้องติดต่อค้าขายกับประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน ข้าราชการสื่อสารภาษาอังกฤษ โดยเฉพาะหน่วยงานที่ต้องให้บริการหรือติดต่อกับผู้รับบริการโดยตรง เพราะหลังเปิดเอซี แรงงานจะเคลื่อนย้ายอย่างเสรี" บุญธรรม ศรีสมาน สำนักแรงงานสัมพันธ์ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน(กสร.) กล่าว
                ต้นปีที่ผ่านมา กระทรวงแรงงานได้ให้ สถาบัน Liberty English จัดอบรมภาษาอังกฤษโครงการบูรณาการเพื่อเพิ่มทักษะการสื่อสาร (ภาษาอังกฤษ) การให้บริการด้านแรงงาน ให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานรับเรื่องราวร้องทุกข์ของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงาน และเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานสายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 ของหน่วยงานในสังกัดทั้งสิ้น 90 คน
                ไม่ว่าจะเป็นการปฏิบัติขั้นพื้นฐาน (Fundamental knowledge about how to make answer and Question properly) การแบ่งกลุ่มเพื่อฝึกการสนทนา (Pair - up Practice in group) การแบ่งกลุ่มเพื่อการตอบคำถาม-ถามบ่อย (Dealing with Questions) แบ่งกลุ่มเพื่อฝึกโต้-ตอบในสถานการณ์สมมุติ (Role play Practice as information seeker and Receptionist) และการนำเสนอผลการฝึกทักษะการสนทนา (Demonstration of Group exercise) โดย Pongtana Vanichkobchinda (Ph,D.) and teamworks
                ทั้งนี้ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ต้องเจรจา ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท หรือความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างลูกจ้าง นายจ้าง ซึ่งต่อไปจะมีการทำงานร่วมกันจากคนหลายสัญชาติ หลายภาษา จึงจำเป็นต้องมีภาษาอังกฤษเป็นภาษากลาง หากไม่เข้าใจ หรือไม่สามารถสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษได้ การไกล่เกลี่ยจะมีปัญหาสะดุด เพราะไม่รู้ว่าทั้ง 2 ฝ่ายอยากได้อะไรหรือไม่อยากได้อะไร จึงไม่สามารถไกล่เกลี่ยได้ ขณะนี้ กสร.มีการนำคำศัพท์ภาษาอังกฤษเฉพาะทาง เช่น ด้านการคุ้มครองแรงงาน กฎหมายแรงงานต่างๆ มาให้เจ้าหน้าที่ได้เรียนรู้เพิ่มเติม เพื่อที่จะสามารถนำไปใช้ได้อย่างถูกต้อง
                ด้าน รภัสสา พานิชกุล และ วริน มโนรมณ์ นักประชาสัมพันธ์ปฏิบัติการ กล่าวตรงกันว่า การฝึกอบรมจะเน้นที่การสนทนาจริง ซึ่งจะช่วยให้กล้าพูด กล้าออกสำเนียงมากขึ้น โดยโครงการนี้เน้นพัฒนาทักษะภาษาให้แก่กลุ่มที่ต้องให้บริการโดยตรง เช่น พนักงานรับโทรศัพท์ หรือ คอลเซ็นเตอร์ รวมทั้งข้าราชการและพนักงานข้าราชการในส่วนอื่นๆ ทำให้ได้รับความรู้ ทักษะ ประสบการณ์ทางด้านการสื่อสารภาษาอังกฤษที่ทันสมัย โดยเฉพาะการสื่อสารภาษาอังกฤษในการให้บริการด้านแรงงาน ซึ่งจะเกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้รับบริการ
                ขณะที่ เอกชัย วิน ผู้บริหารบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง บอกว่า หลายหน่วยงานที่ต้องให้บริการประชาชน ซึ่งมีทั้งคนไทยและต่างชาติเข้ามาติดต่อ สอบถามข้อมูลต่างๆ อยู่เสมอๆ จำเป็นต้องมีทักษะการสื่อสารภาษาอังกฤษ จะช่วยให้ผู้มาติดต่อ ทั้งคนไทยและชาวต่างชาติได้รับความสะดวก แต่ยอมรับว่า ยังมีข้าราชการบางกลุ่มที่ไม่พร้อมในการปรับตัว และเรียนรู้เพิ่มเติม ซึ่งมักจะเป็นกลุ่มใกล้เกษียณอายุราชการ และกลุ่มที่ทำงานด้านธุรการ โดยให้เหตุผลว่าไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่บริการหรือพบปะประชาชนโดยตรง แต่อย่าลืมว่า ในอนาคตอาจจะมีการใช้ภาษาอังกฤษในหนังสือราชการ ดังนั้นข้าราชการทุกฝ่ายควรเตรียมพร้อมจะเป็นการดีที่สุด
                ในส่วนบริษัทเอกชนก็เช่นเดียวกัน หากไม่ปรับตัวเรียนรู้ทักษะภาษาอังกฤษทั้ง 4 ด้านแล้ว ก็จะเป็นอุปสรรคต่อความก้าวหน้าในหน้าที่การงานได้เช่นกัน

.......................................................
( รับเอซี-ต้องมีทักษะ'อังกฤษ'4ด้าน : คอลัมน์ท่องโลกเรียนรู้ : โดย...ทิวาพร บาทสุวรรณ์)

เครดิต จาก คมชัดลึก


แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่