review...โศกนาฎกรรมรักของสองนักเรียนไทยในกรุงปารีส..กับจุดเชื่อมโยงสู่ "ราชดำเนิน"

จากกระทู้ต้นเรื่องกว่า 3000 comments ที่คาดว่าหลายท่านคงได้มีโอกาสอ่านผ่านตากับบ้างแล้ว กับ "โศกนาฎกรรมรัก (ของ ๒ นักเรียนไทย) ณ กรุงปารีส ในฤดูใบไม้ผลิ http://ppantip.com/topic/30507449" เรื่องราวที่ถูกเริ่มต้นขึ้นด้วยความเศร้าของการตัดสินใจจบชีวิตตนเองของเด็กสาวคนหนึ่งที่ทำให้เส้นทางชีวิตของหมอนิติจิตเวชคนหนึ่งต้องพลิกผัน ความบังเอิญอันน่าพิศวง และบทสรุปอันน่าเศร้า เชื่อว่าหลายต่อหลายคนต่างมีคำถามถึงความเป็นไปได้ว่า ในชีวิตจริงของคนเราจะมีเรื่องน่ารันทดใจได้ขนาดนี้เชียวหรือ เชื่อว่าท่านผู้อ่านหลายท่านคงมีชีวิตจริงที่ยิ่งกว่านิยายเสียอีก เพียงแต่ไม่ได้ถูกถ่ายทอดออกมาเท่านั้นเอง อยากขอบคุณผ่านกระทู้นี้ไปยังคุณแม่ของน้องตาล (นามสมมุติในเรื่อง) และครอบครัวที่อนุญาตให้คุณหมอได้มีโอกาสนำเสนอเรื่องราวของน้องให้เป็นวิทยาทานแก่ผู้อ่านหลายๆท่าน ขอกอดคุณแม่แน่นๆส่งกำลังใจผ่านตัวหนังสือในกระทู้นี้นะคะ คุณแม่เป็นผู้หญิงที่เข็งแกร่งมากค่ะ ขอให้ยืนหยัดอย่างเข้มแข็งเพื่อน้องแตนนะคะ

จากกระทู้ต้นเรื่องนี้ และจากบทสัมภาษณ์ของคุณหมอวัชรพล จิตแพทย์เวชศาสตร์การสงคราม 1 ใน 5 ของโลก (http://www.youtube.com/watch?v=P3-b0UK_vEg) ทำให้ดิฉันที่จะได้มีโอกาสเดินทางไปปารีสในช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้ติดต่อขอพบคุณหมอในฐานะนักอ่านคนหนึ่งที่ประทับใจงานเขียนและอยากมีส่วนร่วมเป็นฟันเฟืองเล็กๆในการร่วมผลักดันเจตนารมย์ของคุณหมอ

และสิ่งที่จะเขียนต่อไปนี้เป็นสาเหตุที่ทำให้เลือกแท็กห้อง "ราชดำเนิน" ห้องที่ดิฉันเลือกที่จะไม่แสดงความเห็นใดๆอีก หลังจากที่นักคิดนักเขียนหลายๆท่าน รวมทั้งคุณลูกชาวนาไทย ได้โดนยึดอมยิ้มไป ผ่านไปนานหลายปีนี่เป็นครั้งแรกที่ "กลับมา" ค่ะ

เคยมีความคิดไหมคะที่อยากทำอะไรสักอย่างหนึ่ง....แต่ เมื่อก้มลงมองสองมือของเราเองนั้น กลับรู้สึกว่า "กำลังของเรานั้น มันช่างน้อยนิดเสียเหลือเกิน" ดิฉันเป็นคนสามชายแดนใต้ค่ะ เป็นคนที่ต้องหลั่งน้ำตายอมแพ้ อพยพพ่อกับแม่ออกมาจากบ้านเกิดของตัวเอง เพราะจิตแพทย์วิเคราะห์ว่า "ท่านเป็นโรคซึมเศร้า และมีแนวโน้มที่แย่ลง" การที่คนเราต้องอยู่อย่างหวาดผวาเป็นเวลานาน ออกจากบ้านแต่ละครั้งไม่รู้ว่าเราจะได้กลับมาหรือเปล่า กับสภาวะที่ยังมองไม่เห็นแสงสว่าง คงเป็นสิ่งที่ยากจะอธิบายให้กับคนที่ไม่เคยประสบพบเจอได้เข้าใจได้ว่าการที่เราต้องสูญเสียเพื่อน คนรู้จัก ซ้ำแล้วซ้ำเล่านั้นมันเจ็บช้ำแค่ไหน

ซึ่งสิ่งที่ดิฉันพบเจอ อาจจะเทียบไม่ได้ด้วยซ้ำกับ "ลูกพล" ที่ถูกส่งไปประจำในพื้นที่ ในสงครามที่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าพวกเค้ากำลังสู้กับอะไร พลทหารเหล่านี้หลายคนอายุน้อยมาก หลายต่อหลายคนมาจากต่างถิ่น ต่างภาษาและวัฒนธรรม ดิฉันยังจำรอยยิ้มเศร้าๆได้เสมอเวลาที่นำเครื่องดื่มไปฝากน้องๆเหล่านั้นและได้มีโอกาสพูดคุยกัน

ความเครียด ความหวาดผวา ความเศร้าจากการสูญเสีย ...ความรู้สึกของลูกพลเหล่านี้ควรจะได้รับการเยียวยาด้วยหรือไม่หากเค้าได้มีโอกาสกลับบ้าน และใครจะช่วยรักษา "ใจ" ของพวกเค้าได้บ้าง? แม้จะได้มีโอกาสคุยแค่ช่วงเวลาสั้นๆ แต่ก็ประทับใจในเจตนารมย์ของคุณหมอมาก แต่...คนๆเดียวจะมีกำลังขับเคลื่อนได้แค่ไหน คำตอบก็คงจะเป็นอย่างที่เราๆท่านๆต่างก็ทราบดี แต่ถ้าเราร่วมแรงคนละไม้ละมือ ดิฉันเชื่อในพลังของชาวพันทิปนะคะว่าทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ ยังจำกรณี GT200 ได้ไหมคะ อยากให้ทุกท่านได้มีโอกาสอ่านความในใจของคนเบื้องหลังคนนึงจากหนังสือ "จากนักวิทย์ สู่ชีวิตทหารรับจ้าง" คนกล้าคนนึงที่ถูกทอดทิ้งจากแวดวงวิชาการ คำถามคือ...การที่เราบอกว่าเราเป็นคนดี แต่เลือกที่จะวางเฉยให้กับคนที่เค้าพยายามลุกขึ้นสู้เพื่อความเป็นธรรม เรายังจะเรียกตัวเองว่าคนดีอยู่หรือ (คุ้นๆว่าเป็นคำคมจากละครคุณชายหมอนะคะ หัวเราะ)

สุดท้ายนี้ขอบคุณทุกท่านที่กรุณาอ่านจนจบนะคะ ถือว่าเป็นกระทู้แรกหลังจากห่างหายไปนาน ดิฉันจำล็อกอินแต่ละท่านได้ค่ะ เพราะอยู่ห้องนี้มานานมาก ตอนนี้กำลังเขียนบทความอยู่เหมือนกันค่ะ อาจจะมีหลังไมค์ไปขอข้อมูลพี่ๆน้องๆหลายๆท่านก็ขอเรียนขออนุญาตทุกท่านไว้ ณ ที่นี้ด้วยนะคะ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่