การนอบน้อมทิศทั้งหก ในอริยวินัย

กระทู้สนทนา
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ในอริยวินัยมีการนอบน้อมทิศทั้งหกอย่างไรพระเจ้าข้า !
พระองค์จงทรงแสดงธรรมที่เป็นการนอบน้อมทิศทั้งหกในอริยวินัยเถิด


คหบดีบุตร ! พึงทราบว่า ทิศทั้งหกเหล่านี้ มีอยู่ คือ
พึงทราบว่า มารดาบิดาเป็นปุรัตถิมทิศ(ทิศเบื้องหน้า),
พึงทราบว่า อาจารย์เป็นทักขิณทิศ(ทิศเบื้องขวา),
พึงทราบว่าบุตรภรรยาเป็นปัจฉิมทิศ(ทิศบื้องหลัง),
พึงทราบว่า มิตรสหายเป็นอุตตรทิศ(ทิศเบื้องซ้าย),
พึงทราบว่า ทาสกรรมกรเป็นเหฏฐิมทิศ(ทิศเบื้องต่ำ),
พึงทราบว่า สมณพราหมณ์เป็นอุปริมทิศ(ทิศเบื้องบน).

คหบดีบุตร ! ทิศเบื้องหน้าคือมารดาบิดา อันบุตรพึงปฏิบัติต่อโดยฐานะ ๕ ประการ ดังนี้ว่า :-
(๑) ท่านเลี้ยงเราแล้ว เราจักเลี้ยงท่าน
(๒) เราจักทำกิจของท่าน
(๓) เราจักดำรงวงศ์สกุล
(๔) เราจักปฏิบัติตนเป็นทายาท
(๕) เมื่อท่านทำกาละล่วงลับไปแล้ว เราจักกระทำทักษิณาอุทิศท่าน

คหบดีบุตร ! ทิศเบื้องหน้าคือมารดาบิดา อันบุตรพึงปฏิบัติต่อโดยฐานะ ๕ ประการเหล่านี้แล้ว
ย่อมอนุเคราะห์บุตรโดยฐานะ ๕ ประการคือ :-
(๑) ห้ามเสียจากบาป
(๒) ให้ตั้งอยู่ในความดี
(๓) ให้ศึกษาศิลปะ
(๔) ให้มีคู่ครองที่สมควร
(๕) มอบมรดกให้ตามเวลา
เมื่อเป็นดังนี้ ทิศเบื้องหน้านั้น เป็นอันว่ากุลบุตรนั้นปิดกั้นแล้ว เป็นทิศเกษม ไม่มีภัยเกิดขึ้น.


คหบดีบุตร ! ทิศเบื้องขวาคืออาจารย์ อันศิษย์พึงปฏิบัติต่อโดยฐานะ ๕ ประการคือ :-
(๑) ด้วยการลุกขึ้นยืนรับ
(๒) ด้วยการเข้าไปยืนคอยรับใช้
(๓) ด้วยการเชื่อฟังอย่างยิ่ง
(๔) ด้วยการปรนนิบัติ
(๕) ด้วยการศึกษาศิลปวิทยาโดยเคารพ

คหบดีบุตร ! ทิศเบื้องขวาคืออาจารย์ อันศิษย์ปฏิบัติต่อโดยฐานะ ๕ ประการเหล่านี้แล้ว
ย่อมอนุเคราะห์ศิษย์โดยฐานะ ๕ ประการคือ :-
(๑) แนะนำดี
(๒) ให้ศึกษาดี
(๓) บอกศิลปวิทยาสิ้นเชิง
(๔) ทำให้เป็นที่รู้จักในมิตรสหาย
(๕) ทำการคุ้มครองให้ในทิศทั้งปวง
เมื่อเป็นดังนี้ ทิศเบื้องขวานั้น เป็นอันว่ากุลบุตรนั้นปิดกั้นแล้ว เป็นทิศเกษม ไม่มีภัยเกิดขึ้น.


คหบดีบุตร ! ทิศเบื้องหลังคือภรรยา อันสามีพึงปฏิบัติต่อโดยฐานะ ๕ ประการคือ :-
(๑) ด้วยการยกย่อง
(๒) ด้วยการไม่ดูหมิ่น
(๓) ด้วยการไม่ประพฤตินอกใจ
(๔) ด้วยการมอบความเป็นใหญ่ในหน้าที่ให้
(๕) ด้วยการให้เครื่องประดับ

คหบดีบุตร ! ทิศเบื้องหลังคือภรรยา อันสามีปฏิบัติต่อโดยฐานะ ๕ ประการเหล่านี้แล้ว
ย่อมอนุเคราะห์สามีโดยฐานะ ๕ ประการคือ :-
(๑) จัดแจงการงานดี
(๒) สงเคราะห์คนข้างเคียงดี
(๓) ไม่ประพฤตินอกใจ
(๔) ตามรักษาทรัพย์ที่มีอยู่
(๕) ขยันขันแข็งในการงานทั้งปวง
เมื่อเป็นดังนี้ ทิศเบื้องหลังนั้นเป็น อันว่ากุลบุตรนั้นปิดกั้นแล้ว เป็นทิศเกษมไม่มีภัยเกิดขึ้น.


คหบดีบุตร ! ทิศเบื้องซ้ายคือมิตรสหาย อันกุลบุตรพึงปฏิบัติต่อโดยฐานะ ๕ ประการคือ:-
(๑) ด้วยการให้ปัน
(๒) ด้วยการพูดจาไพเราะ
(๓) ด้วยการประพฤติประโยชน์
(๔) ด้วยการวางตนเสมอกัน
(๕) ด้วยการไม่กล่าวคำอันเป็นเครื่องให้แตกกัน

คหบดีบุตร ! ทิศเบื้องซ้ายคือมิตรสหาย อันกุลบุตรปฏิบัติต่อโดยฐานะ ๕ ประการเหล่านี้แล้ว
ย่อมอนุเคราะห์กุลบุตรโดยฐานะ ๕ ประการคือ :-
(๑) รักษามิตรผู้ประมาทแล้ว
(๒) รักษาทรัพย์ของมิตรผู้ประมาทแล้ว
(๓) เป็นที่พึ่งแก่มิตรเมื่อมีภัย
(๔) ไม่ทอดทิ้งในยามมีอันตราย
(๕) นับถือสมาชิกในวงศ์ของมิตร
เมื่อเป็นดังนี้ ทิศเบื้องซ้ายนั้นเป็น อันว่ากุลบุตรนั้นปิดกั้นแล้ว เป็นทิศเกษมไม่มีภัยเกิดขึ้น.


คหบดีบุตร ! ทิศเบื้องต่ำคือทาสกรรมกร อันนายพึงปฏิบัติต่อโดยฐานะ ๕ ประการคือ :-
(๑) ด้วยให้ทำการงานตามกำลัง
(๒) ด้วยการให้อาหารและรางวัล
(๓) ด้วยการรักษาพยาบาลยามเจ็บไข้
(๔) ด้วยการแบ่งของมีรสประหลาดให้
(๕) ด้วยการปล่อยให้อิสระตามสมัย

คหบดีบุตร ! ทิศเบื้องต่ำคือทาสกรรมกร อันนายปฏิบัติต่อโดยฐานะ ๕ ประการเหล่านี้แล้ว
ย่อมอนุเคราะห์นายโดยฐานะ ๕ ประการคือ :-
(๑) เป็นผู้ลุกขึ้นทำงานก่อนนาย
(๒) เลิกงานทีหลังนาย
(๓) ถือเอาแต่ของที่นายให้
(๔) กระทำการงานให้ดีที่สุด
(๕) นำเกียรติคุณของนายไปร่ำลือ
เมื่อเป็นดังนี้ ทิศเบื้องต่ำนั้นเป็นอันว่ากุลบุตรนั้นปิดกั้นแล้ว เป็นทิศเกษมไม่มีภัยเกิดขึ้น.


คหบดีบุตร ! ทิศเบื้องบนคือสมณพราหมณ์ อันกุลบุตรพึงปฏิบัติต่อโดยฐานะ ๕ ประการคือ :-
(๑) ด้วยเมตตากายกรรม
(๒) ด้วยเมตตาวจีกรรม
(๓) ด้วยเมตตามโนกรรม
(๔) ด้วยการไม่ปิดประตู (คือยินดีต้อนรับ)
(๕) ด้วยการคอยถวายอามิสทาน

คหบดีบุตร ! ทิศเบื้องบนคือสมณพราหมณ์ อันกุลบุตรปฏิบัติต่อโดยฐานะ ๕ ประการเหล่านี้แล้ว
ย่อมอนุเคราะห์กุลบุตรโดยฐานะ ๖ ประการคือ :-
(๑) ห้ามเสียจากบาป
(๒) ให้ตั้งอยู่ในความดี
(๓) อนุเคราะห์ด้วยใจอันงดงาม
(๔) ให้ฟังในสิ่งที่ไม่เคยฟัง
(๕) ทำสิ่งที่ได้ฟังแล้วให้แจ่มแจ้งถึงที่สุด
(๖) บอกทางสวรรค์ให้
เมื่อเป็นดังนี้ ทิศเบื้องบนนั้นเป็นอันว่ากุลบุตรนั้นปิดกั้นแล้ว เป็นทิศเกษมไม่มีภัยเกิดขึ้น.


ภิกษุทั้งหลาย ! พวกภิกษุในธรรมวินัยนี้ เล่าเรียนสูตรอันถือกันมาถูก ด้วยบทพยัญชนะที่ใช้กันถูก ความหมายแห่งบทพยัญชนะที่ใช้กันก็ถูก ย่อมมีนัยอันถูกต้องเช่นนั้น.
ภิกษุทั้งหลาย ! นี่เป็นมูลกรณีที่หนึ่ง ซึ่งทำให้พระสัทธรรมตั้งอยู่ได้ไม่เลอะเลือนจนเสื่อมสูญไป.
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่