ข้อเสนอแนะดีๆ มีไม่บ่อย เรื่อง”การสัญจรบริเวณเกาะรัตนโกสินทร์” ถ้ามีการสัมมนา อาจ “ต่อยอด” แก้ปัญหาได้


เกริ่นนำ จากผู้เผยแพร่ (เที่ยวรอบเกาะรัตนโกสินทร์ , Rattana Kosin)

ความเครียด เรื่องความแออัด รถติด และทัศนียภาพรอบเกาะรัตนโกสินทร์ มันไม่ปราณีใครครับ สำหรับผู้ที่จำเป็นต้องผ่านและใช้เส้นทางกันเป็นประจำ เนื่องจากเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่เป็น Landmark แห่งหนึ่งของประเทศไทย และนักท่องเที่ยวเกือบทุกคนที่มาเที่ยวเมืองไทยต้องมาบริเวณนี้อย่างแน่นอนเกือบทุกคน เมื่อความแออัด และไร้ระเบียบ ชวนปวดหัว มันเกิดขึ้นแล้ว เราก็ควรจะต้องหาทางแก้ไขกันครับ

วันนี้จึงมีบทความข้อเสนอแนะการสัญจรบริเวณเกาะรัตนโกสินทร์ ของ ท่านอาจารย์ฉันทฤทธิ์ วิโรจน์ศิริ ที่น่าสนใจครับ อาจารย์เป็นนักวิชาการผังเมือง และสถาปนิกอาวุโส มีประสบการณ์หลายด้าน อย่างไรก็แล้วแต่เพราะองค์ความรู้แบบนี้ ไม่ค่อยเห็นกันเท่าไหร่ อาจจะมีคนเคยเสนอความเห็นต่างๆ มาก่อนหน้านี้ แต่บอกจริงๆ เลยครับ แทบไม่เป็นข่าวกันเลย

เข้าสู่บทความ ของ อ.ฉันทฤทธิ์ วิโรจน์ศิริ นักวิชาการผังเมือง และสถาปนิกอาวุโส

อ้างอิงตามลิ้งก์ ขอขอบพระคุณ อาจารย์ฉันทฤทธิ์ มา ณ ที่นี้ครับ http://www.facebook.com/media/set/?set=a.385430361572653.1073741833.100003170779894&type=1

Copy//ผมเคยเสนอเอาไว้ครั้งหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องถนนในเมือง ในอัลบั้มภาพชื่อ "ข้อเสนอเรื่องถนนในเมือง" https://www.facebook.com/jonx.virochsiri/photos?collection_token=100003170779894%3A2305272732%3A69&set=a.318329288282761.75895.100003170779894&type=3

เมื่อวันเสาร์ที่ 27 เมษายน ได้เข้าไปฟังการเสวนาเรื่องการรื้อสร้างศาลฎีกาที่ท้องพระโรง วังท่าพระ มหาวิทยาลัยศิลปากร ก็เกิดความคิดขึ้นมาว่าที่ตรงนี้เป็นเมืองเก่า มีกิจกรรมหลากหลาย มีนักท่องเที่ยวมากมาย ที่พากันเข้ามาเบียดเสียดกันบนถนนแคบๆ โดยเฉพาะบนถนนมหาราชหลังมหาวิทยาลัยศิลปากรที่ช่างโกลาหลอลหม่าน ดูรกรุงรังไร้ระเบียบ รถราจำนวนมากก็ติดขัดพ่นควันพิษกันอยู่บนถนนแคบๆ เลยลองทำแนวคิดนี้ขึ้นมา ตั้งเป็นตุ๊กตาโยนหินถามทางให้ลองวิพากษ์วิจารณ์กัน เผื่ออาจารย์และนักศึกษาจากทั้งสองมหาวิทยาลัยที่อยู่ตรงนี้ คือ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และศิลปากร ตลอดจนเอกชนทั่วไปที่มีกิจการหรือจำเป็นต้องเข้ามาทำธุระแถวนี้ รวมทั้งเพื่อนผู้ใช้จักรยานทั้งหลาย จะเกิดความรู้สึกอึดอัดคับข้องใจ อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงอะไรกันบ้าง

คนที่ติดการขับรถคงต้องยอมขับอ้อมนิดหน่อย แต่ปัจจุบันก็ต้องทนกับการจราจรติดขัดแทบจะทุกเวลาอยู่แล้ว และถ้าดูแนวคิดอื่นๆประกอบก็จะพบว่า การไม่เดินรถสวนทางกัน นอกจากจะช่วยให้เกิดความปลอดภัยมากขึ้นแล้ว ยังเปิดผิวถนนสำหรับการใช้จักรยาน ไปจนถึงการปลูกต้นไม้สร้างความร่มรื่น รวมทั้งอาจจะมีที่จอดรถยนต์ของท่านเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตามการเข้ามาในบริเวณนี้ เป็นการสมควรอย่างยิ่งที่จะจอดรถยนต์ที่รักของท่านเอาไว้ที่บ้าน หรือไปหาที่จอดรถเอาไว้ข้างนอก แล้วใช้บริการรถโดยสารประจำทางที่ต่อไปคงจะสะดวกขึ้น หรืออาจจะหาจักรยานขี่เข้ามาชื่นชมมรดกศิลปวัฒนธรรมในท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่น่าจะดีขึ้นกว่าสภาพปัจจุบัน

สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติกับรถโค้ชจะต้องหาทางจัดการให้ออกไปพ้นบริเวณนี้ให้ได้ ความเป็นไปได้หนึ่งคือให้นักท่องเที่ยวไปเริ่มที่ฝั่งธนบุรี แล้วนั่งเรือข้ามฝั่งเข้ามาเพื่อได้เห็นทัศนียภาพของกรุงรัตนโกสินทร์จากแม่น้ำ จะได้เข้าใจประวัติศาสตร์ จัดทำพิพิธภัณฑ์ให้หลากหลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวมากขึ้น ทำเรื่องให้เป็นชุดความรู้ที่จะเป็นประโยชน์ จากนั้นจึงข้ามกลับไปขึ้นรถซึ่งสามารถจะไปหาที่จอดตรงไหนก็ได้ หรือถ้าบริหารจัดการให้ดีอาจใช้ไปบริการที่อื่นได้โดยไม่ต้องมาเสียเวลาจอดรอ

เคยมีผู้เสนอให้ทำที่จอดรถใต้สนามหลวง แต่ก็มีคนคัดค้านว่าใต้นั้นเป็นแหล่งโบราณคดี ซึ่งก็แปลกอีกว่าทำไมไม่ขุดค้นกันให้รู้เรื่องรู้ราวไปเสียเลย ถ้ามีของดีจะได้เอาขึ้นมาจัดแสดงให้เป็นจุดสนใจใหม่ แล้วจะได้มีที่เอารถไปจอดหลบเสียใต้ดิน ไม่ไต้องปล่อยให้มาจอดเปิดแอร์คอยนักท่องเที่ยวพ่นไอร้อนทำให้เสียบรรยากาศและเป็นมลภาวะทางสายตา อากาศบ้านเราร้อนจัดทั้งปีน่าจะแก้ได้ด้วยการเพิ่มร่มเงาไม่ใช่ด้วยการเอารถใหญ่มาจอดเปิดแอร์รอให้อบร้อนกันมากยิ่งขึ้น หลายคนเคยเสนอให้จอดรถใหญ่ไว้ด้านนอกแล้วใช้รถเล็กขนนักท่องเที่ยวเข้ามา พิจารณาพาหนะทางเลือกที่ใช้ไฟฟ้าลดมลภาวะ

มหาวิทยาลัยทั้งศิลปากรและธรรมศาสตร์สามารถเป็นแกนในการขับเคลื่อนแนวความคิดปรับปรุงเส้นทางสัญจรภายในบริเวณเกาะรัตนโกสินทร์นี้ โดยเปิดรับฟังแนวความคิดเห็นจากผู้มีส่วนร่วม ผู้อยู่อาศัย ผู้มีหน้าที่การงานอยู่ในย่านนี้ นักท่องเที่ยวและสาธารณชนทั่วไป รวมทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้มีหน้าที่ดูแลการจราจร ซึ่งครอบคลุมหลายโรงพัก และอาจจะทดลองทำดูเป็นบางบริเวณ จนออกไปถึงคลองผดุงกรุงเกษมและพื้นที่เกี่ยวเนื่อง

เมื่อเรามีการเดินทางที่สะดวกปลอดภัย ลดความเร็วลงให้เหมาะสม มีสภาพแวดล้อมที่ดีขึ้น บางทีเราจะมองเห็นคุณค่าของมรดกศิลปวัฒนธรรมมากมายที่บรรพบุรุษได้สะสมไว้ และช่วยกันคิดหาทางรักษาไว้ให้คงอยู่สืบเนื่องต่อไป แนวความคิดยังควรจะรวมถึงการใช้ประโยชน์พื้นที่ในย่านนี้ให้เหมาะสมแก่คุณค่าของการเป็นจุดกำเนิดกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นแหล่งที่ผู้คนจะสามารถเรียนรู้จักประวัติศาสตร์ในแง่มุมต่างๆของประเทศ

แม้ศาลฎีกาจะสามารถสร้างขึ้นในท่ามกลางการถูกประณามและอัปยศ ต่อไปก็ยังอาจรื้อถอนเพื่อทบทวนกระทำสิ่งที่เหมาะสมขึ้นได้ในอนาคต เมื่ออวิชชาของมนุษย์อาจลดลงบ้าง
(ชมต่อภาพต่อไป พร้อมคำอธิบายครับ)
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่