ทำไมบริษัทจะต้องทำสัญญาจ้างด้วยคะ ทำไมไม่จ้างเป็นพนักงานประจำไปเลย

ตามหัวข้อเลยคะ แบบบางบริษัททำสัญญาจ้าง 6 เดือน
งี้แล้วบริษัทที่เซ็นต์สัญญาด้วยก็เป็นบริษัทที่เป็นนายหน้าอีกทีนึงอ่ะคะ
อยากรู้ทำไมเค้าไม่จ้างไปเป็นพนักงานประจำไปเลย
แล้วเราสามารถเป็นพนักงานประจำได้ได้คะ?
มันเกี่ยวกับกฎหมายไรงี้เปล่า?
รบกวนผู้รู้ช่วยตอบด้วยคะ

คำตอบที่ได้รับเลือกจากเจ้าของกระทู้
ความคิดเห็นที่ 3
ผมขออนุญาติเพิ่มเติมหัวข้อการจ้างงานสัญญาจ้าง เพิ่มเติมจากเนื้อหาที่ท่าน Peh-chai ได้ให้ความเห็นเอาไว้ในความเห็นที่ 2 นะครับ

การจ้างงานเป็นสัญญาจ้างชั่วคราวนี้ ปัจจุบันได้รับ ความนิยมไปอย่างแพร่หลายในสังคมการจ้างงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมการทำงานสำนักงาน เนื่องจาก งานสำนักงานในบางประเภท เป็นลักษณะงานสำนักงานหรือเอกสารประเภทที่เป็นงานทั่วไป จ้างใครมาทำก็ได้ ไม่จำเป็นต้องอาศัยทักษะพิเศษเฉพาะทาง เช่น งานด้านเอกสาร งานด้านการป้อนข้อมูล เป็นต้น ซึ่งงานในลักษณะนี้ จะมีอัตราการหมุนเวียนของพนักงานเข้าออก หรือที่เราเรียกกันว่า Turn over rate ที่มากกว่างานด้านเฉพาะทาง ดังนั้น จะด้วยนโยบายองค์กร หรือความต้องการประหยัด หรือวิสัยทัศน์ก็สุดแล้วแต่ขององค์กรต่างๆ การจ้างงานด้วยสัญญาจ้างชั่วคราวนี้ จึงบังเกิดขึ้น  และนิยมกันอย่างแพร่หลาย อย่างขาดความเข้าใจอย่างถ่องแท้ในเรื่องของการบริหารงานบุคคล

แต่การที่องค์กรต่างๆบริหารจัดการจ้างงานด้วยสัญญาจ้างชั่วคราวนี้  ลูกจ้างเองจะต้องเข้าใจและรู้สิทธิของตนให้เท่าทันนายจ้างด้วย เพราะทุกวันนี้ นายจ้างที่บริหารจัดการด้วยการจ้างงานสัญญาจ้าง ต่างยืนอยู่บนเส้นด้ายคำว่า”ลูกจ้างไม่รู้สิทธิครับ” น้อยองค์กรนักที่ผมเคยพบเห็นว่า นายจ้างจะแจ้งสิทธิให้ลูกจ้างทราบว่า การเป็นลูกจ้างชั่วคราวสัญญาจ้าง จะได้รับสิทธิอะไรตามกฎหมายบ้าง เมื่อสิ้นสุดสัญญาจ้าง

ดังนั้น สิทธิที่ลูกจ้างสัญญาจ้าง จะต้องได้รับมีดังนี้
1.    การเป็นลูกจ้างสัญญาจ้าง สิทธิต่างๆขั้นพื้นฐานตามกฎหมาย จะต้องได้รับสิทธิโดยไม่เลือกปฏิบัติ
2.    การเป็นลูกจ้างสัญญาจ้าง ตามกฎหมายมีความคุ้มครองเรื่องการเลิกจ้างในมาตรา 118 วรรค 4 เช่นที่ท่านพีได้กล่าวเอาไว้คือ เป็นชั่วคราวที่มีลักษณะงานโครงการ มิใช่ธุรกิจหลักของนายจ้าง และมีอายุสัญญาจ้างไม่เกิน 2 ปี ดังนั้น หากท่านมิได้ทำงานอันมีหน้าที่ดังกล่าวข้างต้นนี้  การจ้างงานจะไม่เข้าลักษณะงานตามมาตรา 118 การจ้างงานของท่าน จะได้รับสิทธิเฉกเช่นเดียวกับการจ้างงานที่ไม่มีระยะเวลาแน่นอน สำหรับเรื่องของค่าชดเชยการเลิกจ้าง

ขยายความให้เข้าใจง่ายๆว่า หากงานของท่านเป็นงานสำนักงานทั่วไป ทำงานเกี่ยวข้องกับธุรกิจของนายจ้าง การทีนายจ้างจ้างลูกจ้างเป็นลูกจ้างชั่วคราวสัญญาจ้าง มีประโยชน์เพียงแต่ การป้องกันเหตุเลิกจ้างไม่เป็นธรรม และไม่ต้องจ่ายเงินแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามมาตรา 17 เท่านั้น แต่ในส่วนของเงินชดเชยการเลิกจ้าง ถึงแม้เป็นสัญญาจ้างชั่วคราวที่นายจ้างลูกจ้างต่างได้ตกลงทำความเข้าใจกันเอาไว้ล่วงหน้าแล้ว แต่ด้วยเหตุการเลิกจ้างไม่เข้าตามมาตรา 119 นายจ้างจะยังคงต้องจ่ายเงินชดเชยการเลิกจ้างให้ลูกจ้างเช่นเดิม (ส่วนดังกล่าวนี้ ลูกจ้างชั่วคราวสัญญาจ้างส่วนใหญ่ไม่ทราบมาก่อน จึงเสียสิทธิการเรียกร้องของตนไปโดยปริยาย)

ด้วยหัวข้อของเงินชดเชยตามมาตรา 118 นี้ ผมเคยได้รับคำถามมาจากลูกจ้างหลายท่านว่า ในสัญญาจ้างชั่วคราวที่ตกลงทำกับนายจ้างนั้น นายจ้างได้ระบุข้อความเอาไว้ว่า “เมื่อสิ้นสุดสัญญาจ้างนี้ตามระยะเวลาแล้ว ลูกจ้างไม่มีสิทธิได้รับเงินชดเชยการเลิกจ้าง หรือไม่มีสิทธิเรียกร้องเงินชดเชยใดๆจากนายจ้าง” แล้วกรณีเช่นนี้ลูกจ้างจะเรียกร้องอย่างไร ผมตอบให้ง่ายๆครับว่า นายจ้างจะตีลังกาเขียนหนังสือสัญญาหรือระเบียบข้อบังคับตามใจยังไงก็ได้ จะหลอกล่อลูกจ้างอย่างไรก็ได้ ถึงแม้ว่าลูกจ้างเข้าใจตรงกันแล้ว ได้ลงนามรับทราบในหนังสือสัญญาฉบับดังกล่าวแล้ว แต่ก็หาได้มีผลบังคับใช้ตามกฎหมายไม่ เนื่องจากสัญญาฉบับดังกล่าว มีข้อความอันขัดต่อกฎหมาย จึงตกเป็นโมฆะตามมาตรา 14/1 แห่งพรบ.คุ้มครองแรงงาน ไม่มีผลบังคับใช้ ลูกจ้างยังคงมีสิทธิเต็มที่จะเรียกร้องเงินชดเชยได้ตามกฎหมาย หากมีสิทธิได้รับ

ดังนั้น ลูกจ้างชั่วคราวสัญญาจ้างทั้งหลาย ที่เข้าสู่สังคมการทำงาน จำเป็นอย่างยิ่งครับที่ท่านจะต้องรู้เท่าทันถึงสิทธิที่ท่านพึงมีพึงได้ เพราะประโยชน์เพื่อการรักษาสิทธิของท่านเอง และป้องกันการเอารัดเอาเปรียบจากนายจ้าง นายจ้างทั้งหลายที่คิดจะลักไก่ จะได้รู้ว่าสิ่งที่ตัวเองกำลังทำอยู่นั้น เสี่ยงต่อความผิดตามกฎหมายแรงงาน และเวลาเรื่องขึ้นสู่ศาลแรงงาน มันเสื่อมเสียชื่อเสียงขององค์กรครับ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่